ไม่พบผลการค้นหา
อดีตนายทะเบียนไทยรักษาชาติ วิเคราะห์กรณี นร.ชุมนุมยื่น 4 ข้อเรียกร้อง สะท้อนเยาวชนเห็นปัญหาบ้านเมือง จากผลพวงรัฐประหาร พร้อมถามเราจะสร้างอนาคตของชาติแบบไหน

ชยิกา วงศ์นภาจันทร์ อดีตประจําสํานักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และอดีตนายทะเบียนพรรคไทยรักษาชาติ โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก วิเคราะห์เหตุการณ์เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2563 ที่นักเรียนร่วมชุมนุม เพื่อยื่น 4 ข้อเรียกร้องให้เร่งแก้ปัญหา โดยมองว่าเป็นการสะท้อนปัญหาระบบการศึกษาไทย ที่เป็นฐานสำคัญในการสร้างอนาคตของประเทศอย่างเห็นได้ชัด กล่าวคือ

1. ข้อเรียกร้องเรื่องการจำกัดสิทธิเรื่องทรงผมและการแต่งกาย สะท้อนให้เห็นว่าการศึกษาไทยมุ่งเน้นไปที่การสร้าง 'ความสมานฉันท์หรือสร้างความเหมือน' (Conformity) ให้กับนักเรียน นักศึกษา ในหลายประเทศที่พัฒนาแล้วมองว่าการจำกัดสิทธิเรื่องการแต่งกาย มีผลเสียต่อการส่งเสริมเสรีภาพทางความคิดและการแสดงออกความเป็นปัจเจกของแต่ละบุคคล หากเยาวชนถูกปิดกั้นไม่ให้มี 'ความคิดสร้างสรรค์' ซึ่งเป็น 'ต้นทุน' สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ให้กับประเทศ ทรัพยากรบุคคลของประเทศจะขาดความคิด ไม่สามารถสร้างสินค้าและบริการ ที่น่าสนใจและมีมูลค่าในอนาคตได้ 

2. ข้อเรียกร้องเรื่องครู แสดงให้เห็นว่ากลุ่มนักเรียนมีข้อสงสัยในบุคลากรผู้สอนและบทเรียน ซึ่งระบบการศึกษาไทยไม่ค่อยส่งเสริมให้นักเรียนตั้งคำถาม และมักจะถูกลงโทษจากการตั้งคำถามหรือเสนอความคิดเห็นที่แตกต่าง ระบบการศึกษาที่ดี ควรเปิดรับฟังความคิดเห็นของนักเรียน ให้นักเรียนเป็นศูนย์กลาง (Student Centric) เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนให้ส่งเสริมกระบวนการคิดของเยาวชน การสอนให้เยาวชนเชื่อฟังโดยไม่ตั้งคำถามจะฉุดรั้งให้พวกเขาเป็นทรัพยากรบุคคลที่ทำตามคำสั่งเท่านั้น ไม่สามารถเรียนรู้ที่จะทำงาน สร้างอาชีพ สร้างแนวคิด ธุรกิจ ไอเดียใหม่ๆ ได้ด้วยตัวเอง 

3. ข้อเรียกร้องเรื่องการจำกัดสิทธิและการคุกคามนักเรียนในการแสดงออกทางความคิดเห็นทางการเมือง สะท้อนให้เห็นว่าพวกเขามีความคิด มีศักยภาพ รู้ถึงต้นตอของปัญหาการเมืองไทย รวมถึงความแตกแยกที่เกิดจากการรัฐประหาร สามารถระบุปัญหาใหญ่ๆของสังคมไทย และแนวทางแก้ไขปัญหาเหล่านั้นผ่านกระบวนการคิดด้วยตัวเองได้ ระบบการศึกษาไทยวันนี้จึงควรส่งเสริมให้เยาวชนสามารถแสดงออกทางความคิดเห็นที่สร้างสรรค์อย่างปลอดภัย ยุติความรุนแรง คุกคามในทุกรูปแบบต่อนักเรียนที่แสดงความคิดทางการเมือง รวมไปถึงการคุกคามด้วยการจับกุมเยาวชน ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นักศึกษา ที่แสดงความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างเป็นการใช้อำนาจรัฐที่เกินกว่าเหตุ (abuse of power) เพื่อปิดปากประชาชน  

4. ข้อเรียกร้องเรื่องการปรับระบบแนวคิดเรื่องเพศในหนังสือสุขศึกษา สะท้อนให้เห็นว่าระบบการศึกษาของไทยกำลังถดถอยในเรื่องการสร้างความเท่าเทียมทางเพศอย่างสิ้นเชิง โดยยกตัวอย่างในการปราศรัยว่า 'กฎของโรงเรียนระบุให้นักเรียนหญิงใส่เสื้อทับให้มิดชิด เพื่อป้องกันไม่ให้นักเรียนชายละเมิด แต่ไม่ได้บอกนักเรียนชายว่าห้ามละเมิดนักเรียนหญิง' แสดงให้เห็นว่า การศึกษาไทยกำลังสร้างกระบวนการขัดเกลาทางสังคมว่า ความรุนแรงทางเพศเกิดขึ้นเพราะมีสาเหตุมาจากผู้หญิงปฏิบัติตัวไม่ดี ทำให้ผู้หญิงด้อยคุณค่า สวนทางกับที่นานาอารยประเทศทั่วโลกที่รณรงค์ให้หญิงหรือชาย มีคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน การแต่งกายเป็นเสรีภาพในการแสดงออกของทุกคน และความรุนแรงทางเพศจะหมดไปได้ต้องสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องเหล่านี้ทุกเพศทุกวัย ระบบการศึกษาไทยควรยอมรับและเข้าใจวิวัฒนาการทางสังคมยุคปัจจุบันเรื่องความหลากหลายทางเพศอย่างเปิดใจกว้างขึ้นอีกด้วย 

ชยิกา ระบุว่า ข้อเรียกร้องทั้งหมด มีสาเหตุหลักมาจาก 'ความไม่เท่าเทียม' อันเป็นผลพวงของปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทยทุกที่ รวมถึงในขอบรั้วของโรงเรียน สถานที่บ่มเพาะวิชาความรู้ให้แก่อนาคตของชาติ  ที่ได้สะท้อนเสียงออกมาดังๆ ให้ได้ยินแล้วว่า 'Our first dictatorship is school' หรือ โรงเรียนคือเผด็จการแห่งแรกของพวกเรา  

"เราคงต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่า อยากสร้างอนาคตให้ลูกหลานเราเป็นแบบไหน ถ้าระบบการศึกษาไทยเปิดรับความเห็นต่าง ให้อิสระเสรีภาพทางความคิด เราจะได้เยาวชนที่โตขึ้นมาเป็นทรัพยากรบุคคลของชาติที่มีความคิด สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับประเทศ เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ หรือเราต้องสร้างเยาวชนให้กลายเป็นลูกที่ไม่รู้จักโตเท่านั้น" ชยิกา ระบุ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :