ความสัมพันธ์อันเย็นชาระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ เดินทางมาถึงจุดของการเจรจากันได้ในรอบ 2 ปี หลังจากเกาหลีเหนือยอมเข้าร่วมมหกรรมโอลิมปิกฤดูหนาวที่เกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์นี้ รวมถึงจะมีการเจรจาทางทหาร และการจัดงานรวมญาตในช่วงตรุษจีนอีกด้วย
การเข้าร่วมกีฬาโอลิมปิก หมายถึงโอกาสที่เกาหลีเหนือและใต้จะได้เดินพาเหรดในพิธีเปิดร่วมกันใต้ร่มธงเดียว หรือแม้แต่แข่งกีฬาร่วมกันในฐานะประเทศเดียวกัน หากความสัมพันธ์พัฒนาอย่างจริงจัง นอกจากนี้ นี่ยังเป็นโอกาสที่เกาหลีเหนือจะได้โชว์ชาวโลกให้เห็นถึงศักยภาพของตนเองในการกีฬา ซึ่งเป็นสิ่งที่เกาหลีเหนือทุ่มเทให้อย่างจริงจังตามประสาประเทศคอมมิวนิสต์ เพราะกีฬา ไม่เพียงเป็นการสร้างเสริมระเบียบวินัยและความสามัคคีของคนในชาติเท่านั้น แต่ยังเป็นหนึ่งในแกนกลางของชาตินิยมเกาหลีเหนือด้วย
อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ นักกีฬาเกาหลีเหนือที่ผ่านการคัดเลือกและได้เข้าร่วมมหกรรมโอลิมปิกฤดูหนาวที่พยองชาง มีเพียง 2 คน คือนักสเก็ตน้ำแข็งคู่ชายหญิง รอมแทอ๊ก และคิมจูซิก แต่ผู้ที่ถูกจับตามองจริงๆคือเหล่ากองเชียร์ ที่ถูกส่งไปให้กำลังใจนักกีฬาเกาหลีเหนือต่างหาก
เชียร์ลีดเดอร์เกาหลีเหนือแสดงในงานพิธีเปิดกีฬามหาวิทยาลัย เมืองแทกู เกาหลีใต้ ปี 2003
เชียร์ลีดเดอร์เกาหลีเหนือ ถูกขนานนามในเกาหลีใต้ว่า "กองทัพสาวงาม" พวกเธอถูกคัดเลือกอย่างละเอียดแบบตัวต่อตัว โดยใช้เกณฑ์การตัดสินหลักคือเรื่องรูปร่างหน้าตา ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย หรือโรงเรียนดนตรี อยู่ในวัย 20 ต้นๆ และเมื่อได้รับการคัดเลือกแล้ว สาวงามเหล่านี้จะถูกตรวจสอบประวัติอย่างละเอียดว่าไม่มีครอบครัวที่เป็นผู้แปรพักตร์ หรือฝักใฝ่ญี่ปุ่น โดยเชียร์ลีดเดอร์ที่โด่งดังที่สุดในเกาหลีเหนือ น่าจะเป็นรีโซลจู สตรีหมายเลขหนึ่งของคิมจองอึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ โดยเธอเคยปรากฏกายในฐานะเชียร์ลีดเดอร์ ในมหกรรมกีฬาชิงแชมป์เอเชียที่อินชอน ปี 2005
รีโซลจู สตรีหมายเลขหนึ่งเกาหลีเหนือ (คนขวาสุด) ทำหน้าที่เชียร์ลีดเดอร์ในงานมหกรรมกีฬาชิงแชมป์เอเชีย ปี 2005 ที่อินชอน เกาหลีใต้
เชียร์ลีดเดอร์เหล่านี้มีหน้าที่หลักคือการเป็นผู้สร้างสีสันในเทศกาลอารีรัง เทศกาลการแสดงและยิมนาสติดประจำปีของเกาหลีเหนือ นอกจากนี้ พวกเธอยังเป็นเสมือนเครื่องมือเชิดหน้าชูตาประเทศ ที่รัฐบาลมักส่งไปร่วมมหกรรมกีฬาในต่างแดน โดยอาจถือได้ว่าเชียร์ลีดเดอร์สาวๆเหล่านี้เป็นตัวแทนของประชาชนเกาหลีเหนือที่สวยงาม สุขภาพดี และมีความสุขสมบูรณ์ สะท้อนการปกครองอันเปี่ยมประสิทธิภาพของรัฐบาลเกาหลีเหนือ
เชียร์ลีดเดอร์สาวเกาหลีเหนือ โบกมือลาขณะเตรียมขึ้นเครื่องบินกลับประเทศ หลังเข้าร่วมมหกรรมกีฬามหาวิทยาลัยที่เมืองแทกู เกาหลีใต้ เป็นเวลา 11 วัน เมื่อปี 2003
แต่ในประวัติศาสตร์ร่วมสมัยนับตั้งแต่หลังสงครามเกาหลี เกาหลีเหนือเคยส่งเชียร์ลีดเดอร์ไปเกาหลีใต้เพียง 3 ครั้ง คือมหกรรมเอเชียนเกมส์ปี 2002 ที่ปูซาน มหกรรมกีฬามหาวิทยาลัยปี 2003 ที่เมืองแทกู และมหกรรมกีฬาชิงแชมป์เอเชียที่อินชอน ปี 2005 ในขณะที่นักกีฬาเกาหลีเหนือเคยไปร่วมแข่งที่เกาหลีใต้ 3 ครั้งเท่ากัน คือเอเชียนเกมส์ปูซาน กีฬามหาวิทยาลัยแทกู และเอเชียนเกมส์ที่อินชอน ปี 2014 ซึ่งครั้งนั้นทีมเชียร์ลีดเดอร์ถูกยกเลิกการเดินทางหลังจากเกาหลีเหนือรู้สึกว่าเกาหลีใต้มองกองเชียร์เหล่านี้เป็น "เครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อทางการเมือง"
เชียร์ลีดเดอร์เกาหลีเหนือเชียร์การแข่งขันฟุตบอลหญิงระหว่างเกาหลีเหนือและเยอรมนี เมื่อปี 2003 ในกรุงเปียงยาง ผลออกมา เกาหลีเหนือชนะไป 6-0
การปรากฏกายของทีมเชียร์ลีดเดอร์เกาหลีเหนือในมหกรรมโอลิมปิกฤดูหนาวที่พยองชางในเดือนกุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าไม่ใช่การส่ง "เครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อทางการเมือง" มาถึงถิ่นศัตรู แต่ครั้งนี้ นายมุนแจอิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ยอมรับว่ากองทัพสาวงามเหล่านี้จะเป็นมากกว่าผู้ส่งเสริมภาพลักษณ์ของเกาหลีเหนือในประชาคมโลก แต่ยังอาจทำหน้าที่ผู้สร้างความสมานฉันท์ระหว่างสองเกาหลีได้ เนื่องจากมีชาวเกาหลีใต้ไม่น้อยที่เป็นแฟนของเชียร์ลีดเดอร์เกาหลีเหนือ สาวงามจากอดีตเพื่อนร่วมชาติที่ไม่ปรากฏกายให้เห็นในเกาหลีใต้มากว่า 10 ปีแล้ว ที่สำคัญ เชียร์ลีดเดอร์เกาหลีเหนืออาจได้ร่วมแสดงเชียร์กับสาวๆเกาหลีใต้ หรือแม้แต่ทีมเชียร์ลีดเดอร์จากสหรัฐฯ ซึ่งหากทำได้จริง ก็อาจเป็นการใช้การเมืองสาวงามปูทางไปสู่การเจรจาทางการเมืองที่ผ่อนคลายขึ้นได้ในอนาคตอันใกล้