กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ เปิดเผยรายงาน World Economic Outlook หรือคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของโลก โดยปรับลดลงอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของโลกปี 2561 มาอยู่ที่ร้อยละ 3.7 ลดลงจากเมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่า เศรษฐกิจโลกปีนี้ขยายตัวร้อยละ 3.9 โดยให้ความสำคัญกับปัจจัยเสี่ยงจากมาตรการกีดกันทางการค้าและความไม่แน่นอนของตลาดเกิดใหม่
โดยไอเอ็มเอฟชี้ถึงความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากอุปสรรคทางการค้า และกระแสเงินทุนที่หวนกลับไปสู่ตลาดเกิดใหม่ ในเวลาที่พื้นฐานทางเศรษฐกิจยังอ่อนแอและความเสี่ยงทางการเมืองยังเพิ่มสูงขึ้น เป็นปัจจัยที่ก่อตัวขึ้นและถูกกล่าวถึงมากขึ้น
ขณะที่ นางคริสติน ลาการ์ด ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศไทย เอ่ยว่า "บรรยากาศของเศรษฐกิจโลกกำลังเริ่มเปลี่ยนแปลง"
ส่วนสัปดาห์นี้ (10-14 ต.ค. 2561) จะมีการประชุมร่วมระหว่างไอเอ็มเอฟและธนาคารโลกที่อินโดนีเซีย โดยจะมีผู้ว่าการธนาคารกลางและรัฐมนตรีคลังจากหลายประเทศมารวมตัวกันและถกถึงปัญหาและทิศทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ รวมถึงของโลก
โดยเฉพาะประเด็นเรื่องมาตรการปกป้องการค้าภายในประเทศ ซึ่งรัฐมนตรีคลังจากหลายประเทศก็มีความกังวลถึงความเสี่ยงนี้ และชี้ว่ากำแพงภาษีเป็นตัวอันตรายที่แท้จริง โดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศแรกๆ ที่ใช้มาตรการด้านภาษี ตามมาด้วยอีกหลายประเทศที่เริ่มดำเนินการในทำนองเดียวกัน
ส่งผลให้การค้าโลกได้รับผลกระทบโดยตรงจากมาตรการภาษีเหล่านี้ โดยในปี 2560 การค้าโลกเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 5.2 ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่ดีที่สุดนับตั้งแต่ปี 2553 และ 2554 หลังการฟื้นตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก ขณะที่ปีนี้ (2561) กลับมีตัวเลขการเติบโตเพียงร้อยละ 4.2 ซึ่งน้อยกว่าที่คาดการณ์ในเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ที่ร้อยละ 0.9
"เราได้รับข่าวไม่ดีและก็มีความน่าจะเป็นที่ขยายเวลาของข่าวไม่ดีนี้ออกไป" มอริส ออบสเฟลด์ ประธานนักเศรษฐศาสตร์ของไอเอ็มเอฟ กล่าว
นอกจากนี้ ไอเอ็มเอฟยังคาดว่าอัตราการเติบโตของสหรัฐจะอยู่ที่ร้อยละ 2.9 ในขณะที่จีนจะมีอัตราการเติบโตที่ร้อยละ 6.6 ในปีนี้ และร้อยละ 6.2 ในปีหน้า ซึ่งไม่แตกต่างจากที่คาดการณ์ไว้ในเดือนเมษายน
สำหรับประเทศในแถบยุโรปคาดการณ์ว่าตัวเลขจะปรับลดลงอยู่ที่ร้อยละ 2 ซึ่งปรับลงมาจากร้อยละ 2.2 ที่คาดไว้ในเดือนกรกฏาคม
ส่วนเศรษฐกิจประเทศตลาดเกิดใหม่ที่ไม่มั่นคงในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ไอเอ็มเอฟปรับตัวเลขลง
รวมทั้งการปรับตัวสูงขึ้นของค่าเงินดอลลาห์สหรัฐถึงเกือบร้อยละ 10 ในปีนี้เป็นเหตุให้ค่าเงินในตลาดเกิดใหม่อ่อนตัวลง และต้องเผชิญกับราคาสินค้านำเข้าที่สูงขึ้น ส่งผลให้ยากต่อการจัดการหนี้ในรูปเงินดอลลาห์สหรัฐและเป็นการบังคับให้ธนาคารกลางในหลายๆ ประเทศต้องเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในบางช่วงที่เศรษฐกิจอ่อนแอ
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโลกได้เข้าสู่ช่วงเวลาที่มีความเข้มแข็งถึงแม้จะมีความยุ่งเหยิงในตลาดเกิดใหม่ก็ตาม โดยปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจแทบจะทั้งหมดเองได้อิ่มเอมไปกับการเติบโตอย่างทั่วถึง ซึ่งทำให้แต่ละประเทศมีต้นทุนที่เข้มแข็งที่จะต่อกรกับความแปรปรวนของบรรยากาศได้
ไอเอ็มเอฟคาดการณ์ว่าจะเกิดการชะลอตัวขึ้นต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไม่ใช่เกิดหายนะ
"เราไม่ได้คาดการณ์ว่าปัญหาในขณะนี้จะแพร่กระจายไปสู่ประเทศที่มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดี" นายมอริสกล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :