ไม่พบผลการค้นหา
'ชาญชัย อิสระเสนารักษ์' ตั้งข้อสังเกต บิ๊กป้อม เสนอ คสช.ยืดเวลาจ่ายค่าประมูลคลื่น 900 ให้เอกชนเพื่อประโยชน์หรือไม่ ชี้ กสทช. ปล่อยเอกชนโขกค่ามือถือประชาชน

นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีตรองประธานอนุกรรมาธิการด้านกลไกการปราบปรามการทุจริต คณะกรรมาธิการวิสามัญป้องกันและปราบปรามการทุจริต สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรือ สปท. เปิดเผยว่า จากกรณีที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เสนอมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการประมูลคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ โดยขยายเวลาชำระค่างวดเป็น 5 งวด ซึ่งงวดที่ 4 บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ AWN บริษัทลูกของ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ต้องจ่ายค่าใบอนุญาตเป็นจำนวนเงิน 59,574 ล้านบาท ขณะที่บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด หรือ TUC ชำระทั้งสิ้น 60,218 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 119,792 ล้านบาทนั้น

โดยนายชาญชัย ระบุว่าเพิ่งทราบว่าเรื่องดังกล่าวเป็นสิ่งที่ทางทรูและเอไอเอส เป็นผู้นำเสนอให้กับ กสทช. และรัฐบาล ซึ่งเท่ากับว่าคู่สัญญาคือเอไอเอสและทรู ซึ่งเซ็นสัญญากับรัฐโดย กสทช. แต่กลับไปเจรจากับพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งจากคำให้สัมภาษณ์ของพลเอกประวิตรที่ว่าจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เพื่อให้บริษัทดังกล่าวได้รับการผ่อนผันเงินจำนวนเกือบ 120,000 ล้านบาท ทำให้มีข้อสงสัยว่า การบริหารประเทศของ คสช. มีประโยชน์ทับซ้อนระหว่างผลประโยชน์ของชาติกับเอกชนหรือไม่ ซึ่งที่พลเอกประวิตร เคยบอกว่า คสช. ไม่ได้เข้ามาโกง แต่ตัวเองเห็นว่าการกระทำที่เกิดขึ้นครั้งนี้ไม่ใช่การโกงแต่ถือเป็นการขายชาติ 

ส่วนในสัญญาระบุว่าหากไม่ชำระค่างวดที่ 4 เอกชนจะต้องเสียค่าปรับโดยมีอัตราดอกเบี้ยวันละ 15% ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่คิดเป็นรายวัน ทำให้เกิดความเสียหายกับรัฐไม่ต่ำกว่า 3 0,000 - 40,000 ล้านบาท ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ไม่ได้เปิดเผยสาเหตุที่บริษัททั้ง 2 แห่ง ขอเลื่อนเวลาการจ่ายค่าใบอนุญาต ซึ่งน่าสงสัยว่ารัฐบาลกำลังให้ความช่วยเหลือเอกชนหรือไม่ 

ขณะเดียวกัน นายชาญชัยได้ตั้งข้อสังเกตว่า เอไอเอส อาจนำเงินที่ต้องสำรองจ่ายค่าใบอนุญาตไปแบ่งให้กับผู้ถือหุ้นที่เป็นต่างชาตินั่นก็คือเทมาเสก โฮลดิ้ง ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของสิงคโปร์ ซึ่งหาก คสช. ยินยอมให้บริษัทข้ามชาติและกลุ่มทุนดำเนินการในสิ่งที่ตามใจชอบสัญญาดังกล่าวควรเป็นโมฆะเพราะมีอำนาจเหนือรัฐ อีกทั้ง กสทช. ที่มีหน้าที่กำกับดูแลทั้ง 2 หน่วยงาน ทั้งในเรื่องของการประมูลและการใช้โทรศัพท์ให้เป็นไปตามสัญญาและข้อบังคับ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ประชาชนถูกละเมิดสิทธิ์จากการที่เอกชนคู่สัญญาไม่เก็บค่าใช้บริการโทรศัพท์ให้เป็นให้เป็นไปตามสัญญา 

ทั้งนี้หากมีการฟ้องร้องเกิดขึ้นก็อาจถึงขั้นยกเลิกสัญญาได้และตัวเองมั่นใจว่าเรื่องดังกล่าวจะต้องมีการฟ้องร้องเกิดขึ้นแน่นอน โดยทางทีมทนายพรรคประชาธิปัตย์เตรียมฟ้องร้องดำเนินคดีในเร็วๆ นี้

อ่านเพิ่มเติม