นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ควอลิตี้เฮาส์ จำกัด (มหาชน) หรือ คิวเฮาส์ กล่าวว่า ในช่วง 5-10 ปีข้างหน้า ตลาดใหญ่ของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังอยู่ในกรุงเทพฯ กับปริมณฑล เพราะประเทศไทย กรุงเทพฯ ยังเป็นเมืองหัวโต ส่วนต่างจังหวัด เป็นเหมือนเตาขนมครก หมายถึงตอนแรกดูมีโอกาสมาก แต่จะไม่นาน อย่างไรก็ตาม การสร้างเมืองและสร้างระบบคมนาคมขนส่งที่ดี จะเป็นสิ่งที่สร้างโอกาส และหัวใจสำคัญอยู่ที่ 'งาน'
เพราะปัจจุบันหลายธุรกิจสามารถทำงานบนคลาวด์ (crowd computing) ดังนั้น ไม่ว่าคุณจะอยู่ตรงไหนของโลกใบนี้ คุณก็จะสามารถทำงานผ่านอินเทอร์เน็ตได้ เช่น บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) ย้ายหน่วยงานหนึ่งไปอยู่ที่เชียงใหม่ พนักงานมีที่ทำงานกลางทุ่ง แล้วก็ส่งงานผ่านคลาวด์ไปตามที่ต่างๆ เป็นต้น
"แต่ก่อนเราอาจขายงานเป็นโมเลกุล หรือ เป็นชิ้นๆ แต่ปัจจุบันการขายงานเป็นดิจิทัล เป็นบิต/ไบต์ ซึ่งไม่มีต้นทุนการขนส่ง ไม่ต้องเดินทาง จนทำให้เชียงใหม่ ภูเก็ตเป็นจังหวัดที่ติดอันดับต้นๆ ในดิจิทัล โนแมด คือเป็นเมืองที่เอื้ออำนวยให้คนสามารถทำงานผ่านอินเทอร์เน็ตได้ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ ก็อยู่โมเดลธุรกิจด้วยว่าจะออกแบบอย่างไร" นายชัชชาติ กล่าว
พร้อมกับให้ความเห็นว่า การทำอินเทอร์เน็ตหมู่บ้านกระจายไปทั่วประเทศของรัฐบาลปัจจุบัน ถือว่ามาถูกทาง เพราะจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการสร้างเมืองและสร้างความสะดวกให้กับธุรกิจให้กระจายตัวออกไป
"แต่ก่อนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะคิดเรื่องโลเคชั่นเป็นหลัก แต่ปัจจุบันเราต้องคิดให้เชื่อมโยงระหว่างโลเคชั่น (ที่ตั้ง) กับทรานสปอร์เทชั่น (คมนาคมขนส่ง) เพราะหัวใจอยู่ที่ตรงนี้ การจะลงทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ตรงไหนต้องดูทั้งพื้นที่และการเดินทางสัญจร เพราะรถไฟฟ้าในเมืองแต่ละสายมีความสำคัญไม่เท่ากัน และสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต คือ รัฐจะเป็นผู้ลงทุน ขณะที่เอกชนจะเป็นผู้ขับเคลื่อน"
ส่วนการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี อดีตรัฐมนตรีคมนาคม ระบุว่า ในเวลานี้การบูมเรื่องอีอีซีทำให้เกิดการกว้านซื้อที่ดิน ทั้งที่ดีมานด์หรือความต้องการใช้ที่ดินในภาคเศรษฐกิจจริงยังไม่มา แล้วผลที่เกิดขึ้นคือ ทำให้ราคาที่ดินในพื้นที่เหล่านี้ถีบตัวขึ้นสูงมาก และเป็นต้นทุนของธุรกิจของผู้ประกอบการ
นอกจากนี้ ในธุรกิจอสังหาฯ ยังต้องคำนึงถึงการใช้เทคโนโลยี และในฐานะผู้บริโภค นายชัชชาติให้ความเห็นว่า ยุคนี้สินค้าไม่ได้เปลี่ยนไปจากอดีต แต่วิธีการได้มาหรือซื้อหาสินค้าเปลี่ยนไป ผ่านการสั่งซื้อผ่านแพลตฟอร์ม คนจะซื้อบ้าน ก็ดูผ่านหน้าเว็บไซต์ ซื้อไก่ทอดก็สั่งไลน์แมน คนปัจจุบันไม่ต้องขับรถทั่วเมืองเพื่อไปดูหมู่บ้าน หรือต้องไปถึงร้านไก่ทอด อีกทั้งแพลตฟอร์มมีพลัง เพราะมีข้อมูลให้เก็บเยอะ มีความโปร่งใส ทำให้ความลับไม่มีในโลก และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้
"อีกทั้งธุรกิจก็มีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นสำหรับการค้นหาลูกค้า ค้นหาสินค้าและบริการต่างๆ ถ้าธุรกิจส่วนนี้ได้ก็จะดี อย่างที่คิวเฮาส์ เรายังต้องเปลี่ยนวิธีการโฆษณา วิธีสื่อสารกับลูกค้า เปลี่ยนจากการใช้บิลบอร์ด มาใช้แพลตฟอร์ม ลดค่าโฆษณาจาก 2 เปอร์เซ็นต์ มาเหลือ 1 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมันก็ลดลงไปเยอะสำหรับธุรกิจที่มียอดขาย 15,000 -17,000 ล้านบาท ดังนั้น 1 เปอร์เซ็นต์ ก็ 170 ล้านบาท" นายชัชชาติ กล่าว
ข้อมูลความต้องการของลูกค้า คือหัวใจสำคัญของธุรกิจ
นายทวิชา ตระกูลยิ่งยง ประธานเจ้าหน้าที่ด้านเทคโนโลยี (CTO) บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เราได้ยินมาตลอดว่า เทคโนโลยีจะเปลี่ยนแปลงหรือ disrupt ธุรกิจ และอีกไม่นานก็จะมาถึงธุรกิจอสังริมทรัพย์ ดังนั้นธุรกิจต้องคิดเชื่อมโยงระหว่างโลกออนไลน์และออฟไลน์ให้ได้ แล้วสินทรัพย์ที่สำคัญของธุรกิจในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นสาขาใด คือ ข้อมูล โดยเฉพาะข้อมูลของลูกค้า ความเข้าใจในตัวลูกค้า ดังนั้น แสนสิริจึงทำแกนหลักเป็นพร็อพเทค แล้วเรานำมาใช้เพื่อสร้างความสามารถของธุรกิจ สร้างการแข่งขันเพื่อความเร็ว และสร้างการเรียนรู้ของคนในองค์กร
ผู้บริโภคฉลาด ธุรกิจต้องทันเกม
นางสาวอัญชนา วัลลิภากร ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บาเนีย (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ในฐานะบริษัทเทคโนโลยีพัฒนาบิ๊กดาตาอสังหาริมทรัพย์ ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เชียงใหม่ และทำงานบนคลาวด์ และได้รับการร่วมลงทุนจาก VC (venture capital) จากสถาบันการเงินทั้งในประเทศและ VC ต่างประเทศ
“ผู้บริโภคเป็นผู้นำในการพัฒนาอสังหาฯ เพราะคนไทยมีจำนวนผู้ใช้โทรศัพท์มากกว่าจำนวนประชากร และคนไทยยังเป็นประชากรเฟซบุ๊กใหญ่อันดับเบอร์ 3 ของโลก ขณะที่ คนไทยใช้เวลาในการตัดสินใจซื้ออสังหาฯ นานมาก เพราะที่ผ่านมาไม่มีข้อมูล เราจึงต้องมีบิ๊กดาตาทั้งฝ่ายดีมานด์ และซัพพลาย เพื่อนำมาวิเคราะห์ธุรกิจ"
อีกทั้ง ปัจจุบันนี้ ผู้บริโภคเป็นสมาร์ทคอนซูเมอร์ เขาสามารถเข้าถึงข้อมูลด้านราคาและที่ตั้งโครงการต่างๆ ผ่านอินเทอร์เน็ต ผู้ซื้อสามารถทำข้อมูลกางแผนที่ได้เลยว่า บ้านตรงไหน ราคาเท่าไร และมีข้อมูลบันทึก ซึ่งในอนาคต ถ้าระบบฉลาดมากขึ้น จะสามารถแนะนำตามความต้องการของผู้ใช้ได้ และระบบจะฟีดข้อมูลตามทาร์เก็ตให้ ดังนั้นสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการคือ ที่ตั้งที่เหมาะสม การคมนาคมขนส่งที่สะดวก และข้อมูลที่เพียงพอสำหรับการตัดสินใจ
"ผู้บริโภคยุคใหม่ไม่ต้องการข้อมูลแมส หรือข้อมูลทั่วๆ ไป แต่เขาต้องการแบบส่วนตัว personal ซึ่งปัจจุบันบริษัททำงานร่วมกับ 7 แบงก์ เพื่อให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ธนาคารและทำให้ผู้บริโภคติดต่อกับเจ้าหน้าที่ได้โดยตรง เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคคือเขาไม่ต้องการรอสายคอลล์เซ็นเตอร์อีกแล้ว" นางสาวอัญชนา กล่าว