หากไม่มีอะไรผิดพลาด 'แบม' ปณิดา ยศปัญญา นิสิตชั้นปีที่ 4 สาขาพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) สมควรได้รับรางวัลบุคคลแห่งปี เยาวชนแห่งปี นักเปิดโปงการทุจริตดีเด่น หรือสารพัดรางวัลเพื่อยกย่องการทำดีทั้งหลาย ไปครอบครอง
เพราะผลงานของเด็กสาววัย 23 ปี ที่ออกมาเปิดเผยเรื่องการปลอมแปลงเอกสารเพื่อเบิกเงินสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่ง ของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.ขอนแก่น บ้านเกิดของเธอ ได้ถูกขยายผลและกลายมาเป็นข่าวใหญ่ระดับประเทศ
และนำไปสู่ข้อมูลอันน่าตกใจ นั่นคือ เพียง 1 เดือนที่ ป.ป.ท. รับลูกจากประเด็นข่าวที่น้องแบมจุดชนวนไว้ เข้าไปตรวจสอบการเบิกจ่าย 'เงินอุดหนุนสงเคราะห์ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่พึ่ง' ในศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ก็พบว่ามีการใช้เงินที่ส่อทุจริต อย่างน้อย 44 จังหวัด ความเสียหายรวมกว่า 97 ล้านบาท หรือคิดเป็น 80 เปอร์เซ็นต์ของงบทั้งหมด หรือแปลว่า มีเงินถึงมือคนที่สมควรจะได้รับจริงๆ เพียง 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
แสดงให้เห็นถึงการทุจริตที่มีการทำกันอย่างเป็นระบบและโจ่งแจ้ง เพราะแค่ ป.ป.ท. เข้าไปตรวจสอบไม่กี่วัน ก็พบพิรุธที่เกิดขึ้นได้อย่างมากมาย
หากวันนั้นน้องแบมยอม “ลดราวาศอก” ทำตามที่อาจารย์ภาคสนามทุบหลังบังคับให้เธอก้มกราบผู้อำนวยการศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.ขอนแก่น และยอมรับว่าตัวเองเป็นคนโกหก ขบวนการนี้ก็คงหากินกับการทุจริตเงินผู้ยากไร้ทั่วประเทศ ซึ่งรวมถึงผู้ติดเชื้อ HIV ไปเรื่อยๆ โดยไม่มีใครเข้าไปทำอะไร
วิธีการทุจริต ก็กระทำกันอย่างง่ายๆ คือหาคนอื่นมาเซ็นชื่อรับเงินแทน สวมชื่อคนที่ไม่ได้จนจริง หรือใช้ชื่อคนที่เสียชีวิตไปแล้ว ทำให้จาก 2,000 บาทที่ผู้มีรายได้น้อยควรจะได้รับ ตกถึงมือไม่กี่บาท หรือกระทั่งไม่ได้เลย
มีการเปิดเผยว่า การโกงเงินคนจนครั้งนี้ มีการทำกันอย่างเป็น “ขบวนการ” โดยตัวละครสำคัญ ได้แก่ ผู้บริหารกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ผู้บริหารกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ และผู้อำนวยการศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัด
ด้วยการที่ผู้บริหาร พม. หรือกรมพัฒนาสังคมฯ ส่งคนของตัวเองเข้าไปเป็นผู้อำนวยการศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดต่างๆ เพื่อสำรวจคนที่เข้าข่ายจะได้รับเงินสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อย ผู้ไร้ที่พึ่ง หรือผู้ติดเชื้อ HIV แล้วส่งข้อมูลกลับมาที่ส่วนกลางเพื่อทำเรื่องขอจัดสรรงบประมาณในแต่ละปี
แน่นอนว่าในบรรดารายชื่อเหล่านั้น ย่อมมีชื่อปลอมๆ ทั้งคนที่ไม่ได้จนจริงหรือคนที่ตายไปแล้วรวมอยู่ด้วย ซึ่งเงินที่ได้จากบัญชีรายชื่อผีนี้ ส่วนใหญ่จะถูกส่งเป็น 'เงินทอน' กลับเข้าสู่ส่วนกลาง โดยอาจมีการ 'หักหัวคิว' ไว้บางส่วน เหลือเพียงเศษเงินให้กับผู้สมควรได้รับการสงเคราะห์จริงๆ
โดยผู้ที่อยู่ในขบวนการนี้และทำผลงานได้ดี ก็จะได้รับการโปรโมต เลื่อนตำแหน่งขึ้นไปเรื่อยๆ จนท้ายที่สุดจะขึ้นไปอยู่ส่วนหัวของขบวนการ
การหากินกับเงินคนจนก็จะถูกทำวนๆ ไป ไม่รู้จักจบจักสิ้น
การจัดการแค่กับระดับผู้อำนวยการศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดจึงช่วยอะไรไม่ได้มากนัก หากไม่ขุดรากถอนโคน หรือสร้างกลไกป้องกันไม่ให้ขบวนการนี้ทำงานได้ ไม่เช่นนั้นทันทีที่ข่าวเงียบหาย วิธีการทุจริตแบบเดิมๆ ก็จะกลับมาอีกครั้ง นี่จึงเป็นเหตุให้ ป.ป.ช. ซึ่งมีอำนาจในการไต่สวนการทุจริตระดับ C8 ขึ้นไป หรือระดับผู้อำนวยการกอง อธิบดีกรม ไปจนถึงปลัดกระทรวง เริ่มเข้ามาตรวจสอบร่วมกับ ป.ป.ท.
อ่านถึงบรรทัดนี้ เห็นบทบาทของ 'นักการเมือง' ต่อขบวนการทุจริตนี้แล้วหรือยังครับ? ถ้าเห็นตรงไหนช่วยบอกด้วย
เหตุที่ต้องตั้งคำถามนี้ขึ้นมา เพราะอยากชักชวนให้ทุกคนทำลาย 'มายาคติ' เดิมๆ ที่ว่ามีเฉพาะนักการเมืองเท่านั้นที่โกง เพราะมันไม่เป็นความจริง การเขี่ยนักการเมืองให้พ้นจากอำนาจจึงไม่ทำให้ปัญหาคอร์รัปชั่นหมดไปได้แต่อย่างใด หากปล่อยให้ระบบราชการยังมีช่องโหว่ ไม่โปร่งใส ไม่ถูกตรวจสอบ
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ก่อนหน้าคดีทุจริตเงินสงเคราะห์ผู้ยากไร้ของ พม. ก็มีคดีทุจริตเงินทอนวัดของสำนักงานพระพุทธศาสนา และล่าสุด สดๆ ร้อนๆ ก็คือคดีทุจริตเงินกองทุนเสมาพัฒนาของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ต่างมีจุดร่วม คือมีตัวละครสำคัญเป็น 'ข้าราชการ' เหมือนกันทั้งสิ้น
ไม่ได้มีแต่ 'นักการเมือง' เท่านั้น ที่โกงเป็น
แม้น้องแบมจะเป็นตัวอย่างที่ดี สำหรับคนที่กล้าหาญ ไม่ยอมทนเมื่อเห็นการคอร์รัปชั่น เป็น whistle blower ที่สมควรได้รับคำชื่นชมหรือสารพัดรางวัล ดังที่เอ่ยมาในตอนต้น
แต่ระหว่างที่คาดหวังให้มีน้องแบมคนที่ 2 3 4 5 กับการมีกลไกตรวจสอบคอร์รัปชั่นที่ทำงานได้ดี มีประสิทธิภาพ ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ยกเว้นบางองค์กร ถามว่าอะไรจะสร้างสังคมที่โปร่งใสได้อย่างถาวรมากกว่ากัน?