ไม่พบผลการค้นหา
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผยการคว้ารางวัลโอลิมปิกวิชาการส่งผลต่อการพัฒนาการศึกษาไทยในวงกว้าง ช่วยลดช่องว่างการศึกษาไทย

หลังจากสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ สสวท. ภายใต้กระทรวงศึกษาธิการ ได้จัดส่งนักเรียนตัวแทนประเทศไทย ร่วมแข่งขันเคมีโอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 50 ระหว่างวันที่ 19 - 29 กรกฎาคมที่ผ่านมา ณ กรุงบราติสลาวา สาธารณรัฐสโลวัก และกรุงปราก สาธารณรัฐเช็ก ซึ่งประเทศไทยเข้าร่วมอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 20 ปี 

ผลปรากฏว่าผู้แทนประเทศไทยคว้า 1 เหรียญทอง นาย ภูริทัต สุขอนันต์ชัย โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และอีก 3 เหรียญเงิน จาก นางสาว พิชามญชุ์ อัศวผดุงสิทธิ์ , นายภัคพล ธาดาวศิณ และนาย สรรค์เปรม เตชะวิเชียร จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เช่นกัน  


bsdb_1.jpg

ล่าสุดเมื่อช่วงเช้าของเมื่อวานนี้ (30 ก.ค.) คณะตัวแทนประเทศไทยได้เดินทางกลับบ้านแล้ว ท่ามกลางการต้อนรับของคนในครอบครัว กระทรวงศึกษาธิการและสื่อมวลชน โดย นางสาว พิชามญชุ์ อัศวผดุงสิทธิ์ เปิดเผยว่า รู้สึกดีใจและเป็นการฝึกประสบการณ์ที่ดี ที่น้อยคนจะมีโอกาสเข้าถึง โดยมองว่าสิ่งที่ยากสำหรับโอลิมปิกวิชาการปีนี้ คือ จำนวนข้อสอบที่มีค่อนข้างมากทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ 


fdwfwf_1.jpg

น.ส.พิชามญชุ์ อัศวผดุงสิทธิ์ นักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กรุงเทพมหานคร

เช่นเดียวกับ นาย ภูริทัต เจ้าของเหรียญทองเพียงหนึ่งเดียวของไทย กล่าวว่า หลังจากนี้ นอกจากจะเตรียมเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว ยังหาโอกาสไปเผยแพร่ความรู้ให้กับน้องๆ ในค่ายต่างๆอีกด้วย


oiop_1.jpg

นายภูริทัต สุขอนันต์ชัย นักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กรุงเทพมหานคร

ขณะที่นางดวงสมร คล่องสารา ผู้เชี่ยวชาญพิเศษอาวุโส ของ สสวท. กล่าวว่า การคว้ารางวัลโอลิมปิกวิชาการจะส่งผลต่อการพัฒนาการศึกษาไทยในวงกว้างแน่นอน ซึ่งนักเรียนเหล่านี้ได้ผ่านบททดสอบยากๆ รวมถึงค่ายฝึกความรู้ต่างๆ หลังจากนี้ พวกเขาจะเป็นหัวรถจักรที่จะขับเคลื่อนกลุ่มอื่นๆ ให้พัฒนาขึ้นมา ผ่านการส่งต่อความรู้ภายในโรงเรียน รวมถึงโรงเรียนอื่นๆ อีกด้วย สอดคล้องกับนโยบายหลักของ สสวท. ที่ต้องการลดช่องว่างทางการศึกษาของเด็กไทย 


sdw_1.jpg

"กลุ่มนี้ถือเป็นหัวรถจักร ที่จะช่วยขับเคลื่อนกลุ่มอื่นๆ ให้พัฒนาขึ้นมา และเป็นแรงผลักดันให้ครู อาจารย์ในโรงเรียนพัฒนาเด็กคนอื่นๆ โดยนำความรู้ที่เด็กเหล่านี้มี ที่อาจารย์ได้เข้าค่าย เป็นการขยายผลสู่โรงเรียนอื่นๆ ไม่ได้ขีดกรอบอยู่แค่โรงเรียนใหญ่ๆ หรือโรงเรียนที่มีเด็กเก่งๆอยู่เท่านั้น แต่ยังไปยังโรงเรียนในทุกจังหวัดของประเทศไทย และยังมีค่ายที่เด็กๆพวกนี้ลงไปช่วยด้วยจิตอาสาของตัวเอง ทำให้เราที่เป็นหัวรถจักรสามารถที่จะขับเคลื่อนการศึกษาของไทยได้ส่วนหนึ่ง ถือว่าเป็นจิ๊กซอว์ตัวหนึ่ง ที่จะทำให้ขับเคลื่อนด้วยกำลังของเด็กๆเหล่านี้" นางดวงสมร กล่าว

อย่างไรก็ตามในปีนี้มีผู้ได้รับรางวัลแบ่งออกเป็นเหรียญทองจำนวน 35 คน เหรียญเงินจำนวน 65 เหรียญ เหรียญทองแดงจำนวน 95 เหรียญ และเกียรติคุณประกาศจำนวน 10 รางวัล จากประเทศเข้าร่วมการแข่งขัน 76 ประเทศ นักเรียนร่วมการแข่งขัน 300 คน ประเทศร่วมสังเกตการณ์ 6 ประเทศ


อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง