ไม่พบผลการค้นหา
พรรคเพื่อไทยและอนาคตใหม่ ชูแนวทางแก้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จาก 'ชาย-หญิง’เป็น ‘บุคคล' เพื่อความเท่าเทียมทางเพศ ด้านพรรคเสรีรวมไทย หนุนแนวคิดยกเลิกการกำหนดเพศเพื่อลดอคติ พรรคการเมืองอื่นๆ หนุนสิทธิเสรีภาพการสร้างครอบครัวของ LGBTQ ด้านพลังประชารัฐปฏิเสธร่วมงาน

เนื่องในวันครบรอบ 10 ปี วันความหลากหลายทางเพศ 29 พฤศจิกายน 2561 มูลนิธิศักยภาพชุมชนร่วมกับเครือข่ายกลุ่มหลากหลายทางเพศ (LGBTI and Non-binary) ประเทศไทย จัดงานในหัวข้อ 'สิทธิและความเสมอภาคในการตั้งครอบครัวที่หลากหลาย’

ตัวแทนกลุ่มความหลากหลายทางเพศมอบร่างแถลงการณ์และกล่องรวบรวมความคิดเห็นให้กับตัวแทนพรรคการเมือง โดยมีข้อเรียกร้องต่างๆ ได้แก่ สนับสนุนให้แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เพื่อให้เป็นธรรมทางเพศและไม่ทำให้เกิดความรุนแรงทางเพศ, ไม่ยอมรับ พ.ร.บ. การจดทะเบียนคู่ชีวิตของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เนื่องจากต้องการให้บัญญัติสิทธิให้เท่าเทียมกับหญิงและชาย, หลักการของกฎหมายต้องสอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชนสากล, เปิดพื้นที่ให้กลุ่มความหลากหลายทางเพศเข้าร่วมตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนถึงสุดท้าย, สร้างความรู้และความเข้าใจที่ครอบคลุมให้กับประชาชนทุกระดับ, สนับสนุนความเท่าเทียมของการแต่งงานในครอบครัวที่หลากหลายอย่างเท่าเทียม, คำที่ใช้ในกฎหมายต้องมีความเป็นกลางทางเพศ เช่น บิดามารดา บุพการี เป็นต้น 

นอกจากนี้ยังมีการแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับสิทธิในการตั้งครอบครัวและความเท่าเทียมทางเพศจากตัวแทนพรรคการเมืองต่างๆ

นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคปฏิบัติตามหลักสากลเรื่องสิทธิความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางเพศมาโดยตลอด และตอนนี้ตนในฐานะกรรมาธิการด้านสังคมของไทยได้จัดทำนโยบายพรรคที่ให้สิทธิและความเท่าเทียมทางเพศกับทุกกลุ่ม โดยรอที่จะเสนอ กกต. พิจารณาเป็นนโยบายของพรรคเพื่อไทยหลังปลดล็อกทางการเมือง ซึ่งพรรคเพื่อไทยเห็นว่าการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นวาระแห่งชาติ ชาย หญิง หรือ LGBTQ ต้องได้รับการพัฒนาอย่างเท่าเทียมกัน

นางลดาวัลลิ์ กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคขนาดใหญ่ หากได้รับเสียงข้างมากในการเลือกตั้ง การแก้กฎหมายเดิมที่เป็นปัญหาย่อมทำได้ไม่ยาก และง่ายกว่าออกร่างกฎหมายใหม่

ด้านนางสาวศิริกัญญา ตันสกุล ตัวแทนพรรคอนาคตใหม่ ยืนยันว่าพรรคสนับสนุนการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ให้สุดทาง โดยใช้คำว่า บุคคล 2 บุคคล แทนชายหญิง เพื่อไม่ให้เกี่ยวกับเพศ แก้กฎหมายการรับบุตรบุญธรรม และแก้ไขบัตรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย แม้ประเด็นเหล่านี้เรื่องที่ต้องถกเถียงกันมาก แต่ไม่ใช่ข้อแก้ตัวที่จะไม่แก้ไขกฎหมายเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศ พร้อมกล่าวย้ำว่า "ไม่ว่าเพศอะไรก็สามารถเป็นบุพการีของเด็กๆได้ โดยไม่ต้องมีเพศเป็นตัวตัดสิน"

ขณะที่ นพ.เรวัต วิศรุตเวช อดีตผู้ตรวจการแผ่นดินและอดีตอธิบดีกรมการแพทย์ รองหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย กล่าวว่า ความหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องส่วนบุคคล ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพที่จะรักใครก็ได้ ไม่ว่าจะเพศสภาพใดก็ตาม แต่ทุกวันนี้กฎหมายยังไม่ครอบคลุมให้เกิดความพึงพอใจได้ทุกกลุ่ม เพราะแต่ละกลุ่มมีความเฉพาะตัวและความหลากหลาย จึงคิดว่าควรก้าวข้ามข้อจำกัดต่างๆ โดยใช้ freedom of choice หรือการไม่ต้องกำหนดเพศ หรือแม้แต่กำหนดการตั้งครอบครัวว่าเป็นเรื่องของคนสองคน เพราะปัจจุบันนี้ หลายครอบครัวไม่ใช่แค่สองคน แต่อาจจะมากกว่านั้น ดังนั้นเราจึงต้องยอมที่จะตั้งต้นและรื้อกฎหมายเดิมใหม่

นอกจากนี้ พรรคอื่นๆ ที่ส่งตัวแทนเข้าร่วมกิจกรรมแสดงความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ การหาแนวทางสร้างความเท่าเทียมทางเพศ และยุติความรุนแรงทางเพศ โดยการสร้างความเข้าใจในความหลากหลาย เช่น

คุณศิริ นิลพฤกษ์ ตัวแทนพรรคเกียน เสนอให้มีการปฏิรูปบทเรียนเกี่ยวกับเพศศึกษาสร้างความเข้าใจเรื่องเพศตั้งแต่ในครอบครัว, นางสาวณหทัย เล็กบำรุง ตัวแทนพรรคไทยรักษาชาติ สนับสนุนการออกพระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิต แล้วค่อยไปแก้ไขในรายละเอียดเพื่อให้ครอบคลุม

นายชื่นชอบ คงอุดม โฆษกพรรคพลังท้องถิ่นไท เผยว่า พรรคต้องการสร้าง LGBT model ต้องการให้ประเทศไทยเป็นเซนเตอร์ของ LGBT โลก, นายสุไพรพล ช่วยชู ตัวแทนพรรคเพื่อชาติ เปิดเผยว่า พรรคจะจัดศูนย์ให้คำปรึกษา LGBTQ เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกันในสังคม จัดสรรงบประมาณเพื่อสร้างความเข้าใจ และพร้อมทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อสร้างความเสมอภาคทางเพศ

นางสาวชมพูนุช นาครทรรพ สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคกำลังจะทำนโยบายความเท่าเทียมทางเพศที่ชัดเจน, นายอภิรัต ศิรินาวิน หัวหน้าพรรคมหาชน พร้อมผลักดันประเด็นกฎหมายที่ให้ความเท่าเทียมทางเพศและการตั้งครอบครัวในรัฐสภา และกฎหมายอีกหลายฉบับที่เกี่ยวข้อง และคุณพักตร์วิไล สหุนาฬุ ว่าที่รองเลขาธิการพรรคสามัญชน ยืนยันเดินหน้าแก้ไขกฎหมายเพื่อความเป็นธรรมของทุกคน ตามหลักการของพรรค ที่บัญญัติว่า 'ทุกคนมีสิทธิ์ทุกเสียงมีค่า กฎหมายต้องมีความเป็นธรรม' 

ทั้งนี้ผู้จัดงานเผยว่า ได้เชิญพรรคพลังประชารัฐเข้าร่วมกิจกรรม แต่พรรคไม่เข้าร่วม

หลังจากนั้นยังมีกิจกรรมเดินขบวนและถือธงสีรุ้งเดินไปทำกิจกรรมที่ศูนย์การค้าจามจุรี แสควร์ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ในวันความหลากหลายทางเพศอีกด้วย