ไม่พบผลการค้นหา
กว่าร้อยละ 30 ของอุบัติเหตุทางถนนเกิดจาก 'ง่วงแล้วขับ' นอกจาก การป้องกันอาการหลับในด้วยตัวคนขับตัวเองแล้ว 'วิศกรรมจราจร' ก็เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยป้องกันการเกิดอุบัติเหตุจากกรณีนี้ได้

อาการหลับใน' เกิดขึ้นได้เสมอ หากผู้ขับขี่พักผ่อนไม่เพียงพอ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือใช้ยาบางชนิดที่ทำให้ง่วง อีกหนึ่งข้อสันนิษฐาน ที่ยืนยันว่า อุบัติเหตุครั้งนั้นๆ เกิดจากการหลับใน คือพื้นถนนไม่มีรอยเบรคของล้อรถ และหากขับด้วยความเร็วสูง ก็ยิ่งเสริมให้ความสูญเสียเพิ่มขึ้น 

Profile Marking (โปรไฟล์ มาร์กกิ้ง) หรือ เส้นจราจรขอบแบบสันนูน เป็นหนึ่งในวิศวกรรมจราจร ที่ช่วยป้องกันการเกิดอุบัติเหตุจากการหลับใน เนื่องจากลักษณะเป็นพื้นนูนบนเส้นไหล่ทาง และข้างเส้นไหล่ทาง ห่างกัน 20 เซนติเมตร เมื่อขับรถทับเส้นนี้จะรู้สึกตื่นตัว 

ผู้อำนวยการสำนักอำนวยความปลอดภัย กรมทางหลวง บอกว่า วิธีนี้นิยมใช้ในแถบประเทศยุโรป และญี่ปุ่น สามารถลดการเกิดอุบัติเหตุได้ร้อยละ 25-30

เมื่อปลายปี 2559 กรมทางหลวง นำร่องทดลองใช้เส้นจราจรขอบแบบสันนูน ช่วงวังมะนาว-เพชรบุรี พบอุบัติเหตุลดลง จึงเตรียมนำมาใช้ในจุดเสี่ยงหลับใน 150 จุดทั่วประเทศ ภายในปีงบประมาณ 2562 โดยแต่ละจุดมีระยะทาง 5-10 กิโลเมตร ใช้งบประมาณแต่ละจุดไม่เกิน 1 ล้าน 5 แสนบาท

ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน มองว่า นี่ถือเป็นหนึ่งในการลงทุนเพื่อลดอุบัติเหตุทางถนน เพราะแต่ละปีประเทศต้องสูญเสียทรัพยากรบุคคลไปกว่า 20,000 ราย คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท หรือร้อยละ 6 ของ GDP (จีดีพี) 

แนวคิดการป้องกันอุบัติเหตุทางถนนในประเทศที่พัฒนาแล้ว จะไม่โทษผู้ขับขี่เพียงฝ่ายเดียว เนื่องจากมนุษย์ย่อมมีผิดพลาดได้ทุกเมื่อ ดังนั้น 'วิศวกรรมจราจร' คือส่วนสำคัญที่จะคอยรองรับความผิดพลาดนั้น ให้เกิดความสูญเสียน้อยที่สุด 



รายงานโดย : วีรนันต์ กัณหา