นางสาวธิติพร ดนตรีพงษ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิเคราะห์ข้อมูล 1663 สายด่วนปรึกษาเอดส์ฯ ให้ข้อมูลว่า จากข้อมูลผู้รับบริการของ 1663 ในรอบ 1 ก.ค. 2560 – 24 มิ.ย. 2561 พบว่า ในจำนวนคนที่โทรเข้ามาปรึกษาเรื่องเอดส์ 21,185 คน แบ่งผู้รับบริการได้เป็น 3 กลุ่ม คือ 1.ผู้รับบริการที่มีทั้งคู่ประจำและคู่ชั่วคราว จำนวน 3,422 คน ซึ่งคนกลุ่มนี้ไม่ใช้ถุงยางฯ เมื่อมีเพศสัมพันธ์กับคู่ประจำ ร้อยละ 43.89 และไม่ใช้ถุงยางฯ เมื่อมีเพศสัมพันธ์กับคู่ชั่วคราว ร้อยละ 16.71 นั่นแปลว่าเกิดความเสี่ยงได้ทั้งจากคู่ประจำและคู่ชั่วคราว
กลุ่มที่ 2 หรือผู้รับบริการที่มีคู่ชั่วคราวเท่านั้น มีจำนวน 3,224 คน ร้อยละ 16.44 ไม่ใช้ถุงยางฯ เลย นั่นแปลว่าเขามีโอกาสรับเชื้อฯ โดยไม่รู้ตัว และอาจจะไม่ได้สื่อสารเรื่องเอชไอวีกับคู่ในอนาคต
กลุ่มที่ 3 คือ ผู้รับบริการที่มีคู่ประจำเท่านั้น จำนวน 2,938 คน ร้อยละ 40.78 ไม่ใช้ถุงยางฯ เลย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความมั่นใจในคู่ว่าน่าจะไม่มีเชื้อฯ จึงไม่ใช้ถุงยางฯ และจากตัวเลขจะเห็นได้ว่า คนมีความสัมพันธ์ที่หลากหลาย หลายคนมีความสัมพันธ์นอกคู่แล้วไม่ใช้ถุงยางอนามัย หลายคนไม่มีคู่แต่ก็มีเพศสัมพันธ์ ซึ่งจากพฤติกรรมดังกล่าว จะเห็นว่าคน 1 ใน 4 มีความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อเอชไอวีจริง แต่ไม่รู้ว่าได้รับการตรวจเลือดหาการติดเชื้อฯ หรือไม่
“เราพบว่าหลายคนลำบากใจที่จะบอกกับคู่ว่าตัวเองเคยเสี่ยงมาก่อน เราจะมาคาดหวังให้คู่มาบอกผลเลือดกับเราแล้วค่อยไปตรวจไม่ได้ ดังนั้น จึงเป็นภารกิจของตัวเราเองที่ต้องรู้ผลเลือดของตัวเอง ว่าเราเคยได้รับเชื้อฯ มาหรือไม่จากความเสี่ยงครั้งก่อนหน้านี้ จึงอยากเชิญชวนให้ทุกคนที่มีความเสี่ยงไปตรวจเลือด แล้วหากทราบผลแล้ว ไม่ว่าจะเป็นผลบวกหรือลบ จะได้เริ่มต้นวางแผนในการสื่อสารกับคู่เพื่อป้องกันเอชไอวีในอนาคตได้” เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิเคราะห์ข้อมูลฯ กล่าว
ด้านนายสมวงศ์ อุไรวัฒนา รองผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ให้ข้อมูลว่า จากรายงานผลการดำเนินงานการรักษาและติดตามผลการให้บริการผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ข้อมูลในช่วงปี 2561 จนถึงวันที่ 26 มิ.ย. พบว่ามีจำนวนผู้ที่ได้รับการตรวจเอชไอวีและรู้ผลเลือดทั้งจากโรงพยาบาลรัฐและเอกชน จำนวน 393,399 คน มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีคิดเป็นร้อยละ 3.38 หรือ 13,290 คน โดยผู้ชาย อายุ 20 – 49 ปี ตรวจเลือด 132,798 คน ติดเชื้อฯ 7,828 คน หรือร้อยละ 5.89 ขณะที่ผู้หญิงติดเชื้อฯ ร้อยละ 2.62 จากคนที่เข้ามาตรวจเลือดทั้งหมด
“คนเหล่านี้ส่วนใหญ่มีความเสี่ยงจากพฤติกรรมทางเพศ คือการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางฯ กับคู่ที่เราคิดว่าไม่น่าจะมีเชื้อฯ เราจึงอยากให้ทุกคนเห็นถึงความเสี่ยงของตัวเองที่ผ่านมา แล้วไปตรวจเลือดหาการติดเชื้อฯ ให้เร็ว ซึ่งจะช่วยให้เราวางแผนดูแลสุขภาพในระยะยาว และป้องกันตัวเองได้ในอนาคต” รองผู้อำนวยการมูลนิธิฯ กล่าว
ทั้งนี้ คนไทยทุกคนที่มีความเสี่ยงสามารถตรวจเลือดหาการติดเชื้อเอชไอวีได้ฟรีปีละ ๒ ครั้ง ที่โรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง แล้วหากติดเชื้อฯ ก็สามารถเริ่มการรักษาได้ทันที ในทุกสิทธิประโยชน์ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย