ไม่พบผลการค้นหา
กรมการขนส่งทางบก ระบุ 1 มี.ค.61 เป็นต้นไป ยื่นขอรับใบอนุญาตขับรถหรือใบอนุญาตเป็นผู้ประจำรถ ต้องใช้ใบรับรองแพทย์ตามแบบที่แพทยสภารับรอง (2551) เท่านั้น ซึ่งผู้ขอใบรับรองต้องลงนามร่วมกับแพทย์ผู้ตรวจร่างกาย

นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2561 เป็นต้นไป กรมการขนส่งทางบกกำหนดให้ผู้ขอรับใบอนุญาตขับรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์และผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ประจำรถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก ต้องใช้ใบรับรองแพทย์ประกอบการยื่นคำขอดำเนินการเพื่อแสดงว่าผู้ขอไม่มีโรคประจำตัวอันอาจเป็นอันตรายขณะขับรถ โดยต้องเป็นใบรับรองแพทย์ตามแบบมาตรฐานที่แพทยสภารับรอง (2551) ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศเท่านั้น เพื่อให้การตรวจสอบลักษณะต้องห้ามในการขอรับใบอนุญาตขับรถและใบอนุญาตเป็นผู้ประจำรถเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ รายละเอียดในใบรับรองแพทย์ตามแบบที่แพทยสภารับรอง แบ่งเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย

ส่วนที่ 1 ส่วนของผู้ขอรับใบรับรองแพทย์รับรองตนเอง ประวัติโรคประจำตัว ประวัติอุบัติเหตุ และการเข้ารับการผ่าตัดที่สำคัญ โดยผู้ขอรับใบรับรองแพทย์ต้องลงลายมือชื่อในใบรับรองแพทย์เพื่อยืนยันว่าการให้ข้อมูลดังกล่าวของตนถูกต้องตามความเป็นจริง คู่ขนานกับการตรวจรับรอง

ส่วนที่ 2 ส่วนของแพทย์เป็นผู้วินิจฉัยและรับรองผู้ขอรับใบรับรองแพทย์ว่าไม่เป็นผู้มีร่างกายทุพพลภาพจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ไม่ปรากฏอาการของโรคจิต หรือจิตฟั่นเฟือน หรือปัญญาอ่อน ไม่ปรากฏอาการของการติดยาเสพติดให้โทษ ไม่ปรากฏอาการของโรคพิษสุราเรื้อรัง และไม่ปรากฏอาการและอาการแสดงของโรคเรื้อนในระยะติดต่อหรือในระยะปรากฏอาการเป็นที่รังเกียจแก่สังคม วัณโรคในระยะอันตราย โรคเท้าช้างในระยะปรากฏอาการเป็นที่รังเกียจแก่สังคม โดยแพทย์จะสรุปความเห็นและข้อแนะนำของแพทย์เพื่อแสดงให้เห็นว่าผู้ขอรับใบรับรองแพทย์เป็นผู้มีร่างกายอยู่ในเกณฑ์ปกติ 

อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า สำหรับใบรับรองแพทย์ตามแบบที่แพทยสภารับรองดังกล่าว(2551) สถานพยาบาลส่วนใหญ่ใช้เป็นมาตรฐานอยู่แล้ว สำหรับสถานพยาบาลที่ยังใช้แบบฟอร์มเดิม ทางแพทยสภาได้ประชาสัมพันธ์และเผยแพร่แบบฟอร์มดังกล่าวบนเว็บไซต์ โดยสามารถดาวน์โหลดตัวอย่างได้ที่เว็บไซต์แพทยสภา http://tmc.or.th/detail_news.php?news_id=1029

ผู้ขอรับใบอนุญาตขับรถหรือใบอนุญาตเป็นผู้ประจำรถควรแจ้งวัตถุประสงค์ในการขอรับใบรับรองแพทย์ให้ชัดเจน เพื่อให้แพทย์ออกใบรับรองแพทย์ให้ถูกต้องตรงกับวัตถุประสงค์การนำไปใช้และเป็นไปตามรูปแบบที่กำหนด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ในการกระบวนการคัดกรองผู้ขับรถและมีมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ

ทั้งนี้ สำหรับโรคประจำตัวบางกลุ่ม แม้ตามกฎหมายจะยังไม่กำหนดให้เป็นโรคต้องห้ามที่เป็นอุปสรรคต่อการขับรถ แต่กรณีผู้ได้รับใบอนุญาตขับรถไปแล้วอาการของโรคกำเริบขณะขับรถ จนเป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุ ก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรง กรมการขนส่งทางบกอาจพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตขับรถได้ เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนนส่วนรวม และป้องกันอุบัติเหตุ

doctor161209.jpg