นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันประเทศไทย กล่าวในงานจัดเสวนา เรื่อง ธรรมาภิบาลในศตวรรษที่ 21: แนวคิดสู่การปฏิบัติในสังคมไทย ที่สถาบันปกเกล้า ว่าราชบัณฑิตยสถานไม่ได้บัญญัติศัพท์คำว่าธรรมาภิบาล และข้อเท็จจริงคือ มีการตีความที่หลากหลายของแต่ละฝ่าย โดยเฉพาะผู้มีอำนาจในการให้คุณให้โทษ พร้อมยกตัวอย่างการที่เจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานรัฐก่อตั้งมูลนิธิแล้วกลับไปรับประมูลงานจากหน่วยงาน เป็นลักษณะ "ชงเองกินเอง " ซึ่งเข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อน
รวมถึงกรณีการจัดกีฬากอล์ฟการกุศล การจัดงานดูพระเครื่องในบางหน่วยงานของนักเรียนเตรียมทหารหลายรุ่น ซึ่งมีบริษัทน้ำเมาและบริษัทด้านกิจการการเกษตรรายใหญ่ บริจาคเงินรายละ 5 ล้านบาท
"จึงเกิดคำถามว่า ผู้บริจาคหวังผลประโยชน์จากการบริจาคเงินหรือไม่ ขณะที่ผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องใช้ดุลยพินิจบอกว่าเป็นเรื่องที่ทำได้"
โดยนายมานะ ให้แง่คิดว่า หากนายทหารผู้จัดงานการกุศลไม่มีหรือหมดอำนาจลงแล้ว อาจไม่มีคนมาร่วมงานหรือบริจาคให้ เช่นเดียวกรณีภรรยารัฐมนตรีชื่อดัง ถือหุ้นในบริษัทเกิน 5 เปอร์เซนต์ แต่ไม่เป็นความผิดทั้งที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ทุกอย่างจึงอยู่ที่ผู้มีอำนาจใช้ดุลยพินิจในการตีความ เป็นการใช้อำนาจแบบ 2 มาตรฐาน เมื่อเทียบกับกรณีก่อนหน้าซึ่งมีลักษณะความผิดคล้ายกัน ที่นักการเมืองตระกูลสะสมทรัพย์ถูกลงโทษ
นายมานะ ยืนยันว่า สังคมไทยมีอภิสิทธิ์ชน ที่มีอำนาจรัฐสนับสนุนเป็นเครือข่ายระบบอุปถัมภ์นำมาสู่ระบบอำนาจนิยมและการทุจริตจะตามมา จึงไร้ซึ่งธรรมาภิบาล ซึ่งทั้งหมดล้วนแต่ทำลายระบอบประชาธิปไตย โดยเห็นว่ารูปธรรมของระบบธรรมาภิบาลนั้นอยู่ที่ว่าตีความคำนี้บนพื้นฐานอะไร ทั้ง กฎหมาย,อำนาจ,ค่านิยม หรือผลประโยชน์ของประชาชน
'ถวิลวดี บุรีกุล' เชื่อประชาชนพร้อมร่วม 'ประชารัฐ' ตามแนวทางรัฐบาล
นางถวิลวดี บุรีกุล ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า ธรรมาภิบาลจะทำให้ประชาธิปไตยสมบูรณ์ขึ้น ต้องใช้สำนึกใหม่ เกี่ยวกับที่มาของอำนาจซึ่งต้องชอบธรรมและเป็นที่ยอมรับ มีการแบ่งปันและจัดสรรอำนาจอย่างสมดุล รวมทั้งการมีส่วนร่วม สิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชน โดยการกำหนดนโยบายต้องตัดสินใจบนพื้นฐานและบริบทของพื้นที่
พร้อมกันนี้ได้ชื่นชมผู้กุมอำนาจรัฐปัจจุบันและผู้ร่างรัฐธรรมนูญ ที่ออกแบบประเทศให้ครอบคลุมทั้งการกระจายอำนาจปกครองท้องถิ่น สิทธิชุมชนและการมีส่วนร่วม โดยเชื่อว่าประชาชนสามารถตื่นรู้และก้าวเข้ามามีส่วนร่วมหรือทำงานร่วมกับรัฐ ในนาม 'ประชารัฐ' เพราะบริบทโลกรวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่โซเชียลมิเดียเข้ามามีอิทธิพลได้ผลักดันให้เกิดขึ้น แม้ประชาชนมีสิทธิอย่างจำกัดและไทยยังไม่มีประชาธิปไตยอย่างแท้จริงก็ตาม
นางถวิลวดี ยืนยันว่า ผลพวงของธรรมาภิบาลจะทำให้ประชาชนยอมรับรัฐบาล ซึ่งการดำเนินการต้องให้ประชาชนพอใจ ท่ามกลางความแตกต่างและความต้องการของแต่ละคน นับแต่กระบวนการจนถึงเป้าหมาย โดยชี้ว่ารัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติมาถูกทางแล้ว แต่ยังไปไม่ถึงเป้าหมายของธรรมาภิบาลเท่านั้นเอง
เลขาฯ ก.พ.ร. ยก 'รธน.ปี 60' ยึดแนวทางมีส่วนร่วม มีความโปร่งใส
นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ หรือ ก.พ.ร. ระบุว่า ธรรมาภิบาล คือการยึดประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง สร้างการมีส่วนร่วมและความโปร่งใส ซึ่งจะทำให้ขจัดการทุจริตได้ โดยรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ได้วางหลักการเหล่านี้ไว้เเล้ว ควบคู่กับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
"การฝ่าฝืนกฎหมายและการทุจริต ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะกฎหมายไม่ดีแต่เป็นเพราะคนขาดจิตสำนึกของคน รัฐธรรมนูญจึงมุ่งสร้างจิตสำนึกในการพัฒนาคน โดยเฉพาะการมีคุณธรรมจริยธรรม และให้ความสำคัญกับความโปรงใสมากกว่าการตรวจสอบ ซึ่งกำหนดไว้ในมาตรา 76 ของรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยหลักการบริหารบ้านเมืองที่ดี รวมทั้งมาตราที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐด้วย"
ขณะที่รัฐบาล พยายามเปิดเผยโดยการสร้างความรับรู้ให้ประชาชนเกี่ยวกับผลงานรวมถึงเชื่อมโยงและเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชน เพื่อยืนยันว่ารัฐบาลนี้ใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า ตรงกับความต้องการของประชาชน อย่างบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ บัตรคนจน แก้ปัญหาคนรายได้น้อยที่มีการจัดโปรแกรมสร้างรายได้ให้ด้วย