ไม่พบผลการค้นหา
ที่เยอรมนีถ้าคุณต้องการถุงพลาสติก คุณจะต้องจ่ายเงินประมาณห้าเซนต์...แต่ที่ประเทศไทย คุณต้องเร็วมากที่จะบอกพนักงานว่าคุณไม่ต้องการถุงพลาสติก

วอยซ์ออนไลน์คุยกับ แคทริน แลมเมอร์ส ชาวเยอรมันที่ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลาเกือบสามปี เธอทำงานด้านนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมและพยายามใช้ชีวิตแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือ eco-friendly แม้เงื่อนไขในกรุงเทพฯ จะแตกต่างไปจากบ้านเกิดที่เยอรมนีก็ตาม

“คนส่วนใหญ่ในประเทศเยอรมนีตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อม มันจึงเป็นเรื่องง่ายกว่าที่จะใช้ชีวิตแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเมื่อเทียบกับประเทศไทย” แคทรินกล่าว

สิ่งแวดล้อม

แคทรินกล่าวว่าระบบเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อวิถีชีวิตของผู้คน พร้อมยกตัวอย่างความท้าทายของการใช้ชีวิตแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในกรุงเทพฯ คือ การไปซื้อของที่ซุปเปอร์มาร์เก็ต ในขณะที่ในประเทศเยอรมนี ลูกค้าต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อถุงพลาสติก แต่ในประเทศไทย การซื้อแต่ละครั้งมาพร้อมกับพลาสติกจำนวนไม่น้อย

“ทุกอย่างถูกห่อพลาสติกไว้หมดแล้ว และเมื่อเราไปจ่ายเงิน เราก็จะได้ถุงพลาสติกเพิ่มมาอีก เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่พลาสติกแค่ถุงเดียวต่อการซื้อหนึ่งครั้ง ฉันค่อนข้างประหลาดใจที่ในแต่ละวันซุปเปอร์มาร์เก็ตให้ถุงพลาสติกเป็นจำนวนมาก” แคทรินกล่าว

วิธีแก้ปัญหานี้ของเธอคือการเลือกซื้อของที่ตลาดสดแทนซุปเปอร์มาร์เก็ตใหญ่ ๆ  ซึ่งนอกจากจะเป็นการอุดหนุนผู้ค้ารายย่อยแล้วยังเป็นสถานที่ที่เธอสามารถเลือกซื้อสินค้าที่ยังไม่ห่อด้วยพลาสติกได้อีกด้วย

อีกหนึ่งความท้าทายที่เธอยกตัวอย่างคือการเดินทาง ที่เยอรมนีเธอจะเดินทางด้วยจักรยานเป็นประจำ แต่ด้วยสภาพการจราจรในกรุงเทพฯ ทำให้เธอปั่นจักรยานได้เฉพาะละแวกที่พักเท่านั้น และทุกครั้งที่เลือกได้ระหว่างเดินทางโดยเครื่องบินหรือรถทัวร์ เธอมักจะเลือกรถทัวร์ที่ผลิตมลพิษน้อยกว่าเสมอ

เรื่องการจัดการขยะ แคทรินกำจัดเศษอาหารด้วยการผสมกับดินเพื่อทำเป็นปุ๋ยสำหรับผักที่เธอปลูกไว้ริมระเบียงคอนโด เธอกล่าวว่าตอนมาอยู่ที่ประเทศไทยใหม่ ๆ สิ่งที่ไม่คุ้นเคยเลยคือการทิ้งขยะโดยไม่คัดแยก

“ระบบรีไซเคิลในเยอรมนีเรามีถังขยะแยกเฉพาะสำหรับทุกอย่าง ถ้าคุณมาอยู่ประเทศที่ทุกอย่างเป็นขยะทั่วไป การที่คุณต้องทิ้งขยะพลาสติกในถังขยะทั่วไป มันรู้สึกค่อนข้างน่ากลัวสำหรับฉัน ฉันจึงต้องทำความคุ้นเคยกับมัน ในส่วนของขยะอิเล็กทรอนิกส์ เรามีที่จัดไว้โดยเฉพาะที่เราต้องนำไปทิ้ง เมื่อมาที่นี่ฉันค่อนข้างประหลาดใจที่ขยะอิเล็กทรอนิกส์ส่วนใหญ่ถูกทิ้งรวมกับขยะทั่วไปดังนั้นสิ่งที่ฉันทำก็คือ รวบรวมแบตเตอรี่ที่ใช้แล้วนำกลับไปทิ้งที่เยอรมนี ไปรีไซเคิลที่นั่น”

ชาวต่างชาติ

อย่างไรก็ตามแคทรินให้ความเห็นว่าเกือบสามปีก่อนที่เธอเพิ่งมาที่นี่ เธอยังไม่เห็นกระแสของการใช้ชีวิตแบบ eco-friendly มากนัก ต่างจากปัจจุบันที่เริ่มมีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งพยายามสื่อสารเรื่องนี้ ดังจะเห็นได้จากร้านกาแฟที่มีส่วนลดให้กับคนที่พกแก้วมาเอง และร้านที่มีบริการเติมยาสระผม และสบู่เหลว เพื่อลดการใช้พลาสติก เป็นต้น แม้จะมีคนเคยพูดกับเธอว่า การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของปัจเจกไม่สามารถแก้ปัญหาได้ แต่แคทรินเชื่อว่าการปรับเปลี่ยนวิถีการบริโภคเป็นสิ่งสำคัญ และยิ่งมีคนลดการใช้พลาสติกมากขึ้นเท่าไหร่ ก็จะยิ่งส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม

ด้าน จุฑามาส สุขกุล ผู้จัดการร้านกาแฟ Simply W กล่าวว่าช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ลูกค้าที่เป็นพนักงานออฟฟิศชาวไทยที่นำแก้วของตัวเองมาซื้อกาแฟมีจำนวนมากขึ้น แม้จะมีปัญหาเรื่องขนาดของแก้วของลูกค้าที่ไม่ตรงกับขนาดแก้วมาตรฐานของทางร้านอยู่บ้าง แต่ก็เป็นปัญหาที่สามารถแก้ไขได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อปีพ.ศ.2558 รายงานของ Ocean Conservancy ระบุว่าเกินครึ่งหนึ่งของปริมาณขยะพลาสติกที่ไหลออกสู่มหาสมุทรในโลกมาจากห้าประเทศ ได้แก่ จีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม โดยสาเหตุมาจากการอุปโภคบริโภคในปริมาณมากประกอบกับการมีระบบจัดการขยะที่ไม่มีประสิทธิภาพ

ในขณะที่ ‘ขยะ’ เป็นวาระแห่งชาติที่ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติมีมติให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกับกระทรวงมหาดไทยจัดทําแผนปฏิบัติการ “ประเทศไทย ไร้ขยะ” ตามแนวทางประชารัฐ ภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ พ.ศ. 2559 -2564 ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษระบุว่า ปี 2560 ที่ผ่านมา ปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นทั่วประเทศประมาณ 27.40 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.26 จากปี 2559 ที่เกิดขึ้น 27.06 ล้านตัน เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของประชากรและการขยายตัวของชุมชนเมือง ทว่าอัตราการเกิดขยะมูลฝอยต่อคนลดลงจาก 1.14 กิโลกรัม/คน/วัน ในปี2559 เป็น 1.13 กิโลกรัม/คน/วัน