แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้งรวมตัวแถลงจุดยืน และชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดีการชุมนุมราชดำเนินเมื่อวันที่ 10 ก.พ. ที่ผ่านมา โดยนายกาณฑ์ พงษ์ประพันธ์ ตัวแทนกลุ่ม ชี้แจงว่า จุดประสงค์ของการชุมนุมที่ผ่านมาเพื่อเป็นกระบอกเสียงให้กับประชาชน ไม่ได้ต้องการสร้างความเกลียดชัง หรือแตกแยกในสังคม อย่างที่รัฐบาลกล่าวหา หรือล็อบบี้ให้มา แต่หลายคนที่มาร่วมชุมนุมเพราะต้องการการเปลี่ยนแปลงจริงๆ
ด้านนางสาวณัฏฐา มหัทธนา ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ข้อกล่าวหาการชุมนุมที่ราชดำเนินเมื่อวันที่ 10 ก.พ. ที่ผ่านมา เป็นการตั้งข้อกล่าวหาที่ไม่สมเหตุสมผลแก่ผู้ชุมนุมทั้ง 50 คน เนื่องจากแกนนำได้แจ้งการชุมนุมต่อ สน.สำราญราษฎร์ แล้ว และการชุมนุมก็เป็นไปโดยสงบไม่ได้ขัดมาตรา 116 ในรัฐธรรมนูญ อีกทั้งการชุมนุมยังเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในรัฐธรรมนูญ และปฏิญญาสากล เพื่อให้ประชาชนมีช่องทางเรียกร้องต่อรัฐบาล ในกรณีที่รัฐสภาไม่มีฝ่ายค้าน และเสรีภาพสื่อสารมวลชน
ดังนั้น การตั้งข้อกล่าวหาตามคำสั่ง คสช. ที่ 3/2558 จึงเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่นเดียวกับคำแถลงการณ์ของสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ว่า คำสั่งของ คสช. ไม่ได้เป็นไปเพื่อความมั่นคงแห่งรัฐ หรือประโยชน์ของประชาชน แต่เป็นการปกป้อง คสช. เอง อีกทั้งคำสั่ง คสช. ดังกล่าว ยังอยู่ในกระบวนการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ว่าขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ตามที่ประชาชนได้ยื่นร้องเรียนไปแล้ว
ขณะที่ นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ จ่านิว ยืนยันจุดยืนในการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิการเลือกตั้งอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนพึงมี แต่กลับถูกพรากไปโดยคณะรัฐประหารที่ผิดคำสัญญาครั้งแล้วครั้งเล่า ดังนั้นประชาชนจึงต้องทวงสิทธิ์ของตนคืน เพื่อให้สามารถกำหนดอนาคตและทิศทางของประเทศได้ด้วยตนเอง และเป็นการเปิดพื้นที่ให้กับทุกฝ่ายหลังการเลือกตั้ง เนื่องจากปัจจุบันประชาชนถูกปิดกั้นและสร้างความหวาดกลัวด้วยกฎหมายพิเศษ มาตรา 44 โดยจุดยืนสำคัญที่ทางกลุ่มเรียกร้องมาตลอด 3 ข้อ คือ หยุดยื้อเลือกตั้ง, หยุดสืบทอดอำนาจ, เลือกตั้งภายในปีนี้เท่านั้น
ด้านนายรังสิมันต์ โรม ขอร้องประชาชนอย่าดึงตน และเยาวชนไปเกี่ยวข้องกับเสื้อเหลืองเสื้อแดง และความขัดแย้งในอดีต เพราะตนเป็นคนรุ่นหลังที่ไม่ทันช่วงการชุมนุมดังกล่าว และปัจจุบันตนก็มีจุดหมายแน่วแน่ คือ ต้องการให้ประชาชนออกมาเรียกร้องเพื่อประชาธิปไตยร่วมกัน เพราะจะเป็นเพียงทางออกเดียวที่จะหยุดการสืบทอดอำนาจของ คสช. ปฏิเสธที่จะยื่นหนังสือให้กับกรรมาธิการร่วม สนช.-กกต.-กรธ. เพื่อแก้กฎหมาย ส.ส. เพราะเป็นเพียงแค่หนึ่งกลไกในการยื้อเลือกตั้ง และอาจจะมีกลไกหรืออภินิหารทางกฎหมายอีกมากมาย หาก คสช. ยังต้องการสืบทอดอำนาจ
ทั้งนี้ ได้เชิญชวนอดีตนักการเมือง อาทิ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, นายนิพิฏฐ์ อินทระสมบัติ, นายกรณ์ จาติกวณิช, นายสุเทพ เทือกสุบรรณ, เฉลิม อยู่บำรุง และคนอื่นๆ มาร่วมชุมนุมเพื่อทวงอำนาจคืนให้กับประชาชน เพราะหากอยู่ข้างประชาชน เราก็คือเพื่อนกัน
'ขอเชิญชวนอดีตนักการเมืองในสภามาสู้ไปพร้อมกับภาคประชาชน คุณจะอยู่ข้างทหารที่ยึดอำนาจประชาชน หรือจะอยู่ข้างประชาชนเพื่อทวงอำนาจคืน ถ้าคุณอยู่ข้างประชาชนเราคือเพื่อนกัน และศัตรูของประชาชน คือ คสช. พล.อ.ประยุทธ์ และพล.อ.ประวิตร' นายรังสิมันต์ กล่าว
หลังจากนี้ ทางกลุ่มคนอยากเลือกตั้งจะจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์ เริ่มจาก
วันที่ 18 ก.พ. เวลา 17.00 น. จะจัดกิจกรรม Kick Off ที่ลานย่าโม จ.นครราชสีมา
วันที่ 24 ก.พ. เวลา 15.00 น. ที่หอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
วันที่ 10 มี.ค. ช่วงเย็น (ยังไม่ระบุสถานที่)
วันที่ 24 มี.ค. เวลา 17.00 น. (ยังไม่ระบุสถานที่)
วันที่ 19-22 พ.ค. ชุมนุมใหญ่ค้างคืนเนื่องในวันครบรอบ 4 ปีรัฐประหาร (ไม่ระบุสถานที่)
ส่วนสัปดาห์ไหนที่ไม่มีการจัดกิจกรรมในกรุงเทพฯ จะย้ายไปจัดกิจกรรมที่ต่างจังหวัดแทน โดยจะแจ้งการจัดกิจกรรมในแฟนเพจ 'กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย' หรือ DRG (Democracy Restoration Group)
นอกจากนี้ หลังจากการแถลงข่าว แกนนำบางส่วนได้เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ สน.นางเลิ้ง ตามการตั้งข้อกล่าวหาการชุมนุมที่ถนนราชดำเนิน เมื่อวันที่ 10 ก.พ. ที่ผ่านมา
อ่านเพิ่มเติม :
เปิดชื่อ 43 แนวร่วม 10 ก.พ.ประชาธิปไตย ขัดคำสั่ง คสช.
คสช.แจ้งความจับ 7 แกนนำ-พวกชุมนุมจี้เลือกตั้ง