ไม่พบผลการค้นหา
ครม.เห็นชอบให้กระทรวงอุตสาหกรรมออกมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยรอบบัญชี 2561-2562 อุดหนุนปัจจัยการผลิต 50 บาทต่อตัน ไม่เกินรายละ 5,000 ตัน ใช้งบประมาณ 6.5 พันล้านบาท พร้อมส่งเงินเข้ากองทุน 70 บาทต่อตัน งบประมาณ 9 พันล้านบาท

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอโครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อลดปัจจัยการผลิต โดยสนับสนุนเงินในส่วนการซื้อปัจจัยการผลิตในราคา 50 บาทต่อตัน ไม่เกินรายละ 5,000 ตัน ซึ่งประมาณการณ์ว่าจะมีจำนวนผลผลิต 130 ล้านตัน และจะสามารถทำให้ชาวไร่อ้อยได้รับประโยชน์จากโครงการกว่า 340,000 รายทั่วประเทศ ใช้งบประมาณปี 2562 รวมประมาณ 6,500 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน ยังสนับสนุนในส่วนของเงินฝากเข้ากองทุนที่ชาวไร่อ้อยนำส่งประมาณ 70 บาทต่อตัน โดยโรงงานจะเป็นผู้นำจ่ายโดยตรงแก่ชาวไร่อ้อยที่ขายอ้อยให้โรงงาน

กระทรวงอุตสาหกรรม คาดหวังเพื่อให้ชาวไร่อ้อยและผู้ประกอบการสามารถผลิตสินค้าใหม่ๆ เพิ่มมูลค่าได้สูงขึ้น นอกเหนือจากน้ำตาลสอดรับกับนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ (bio economy) ที่มุ่งหวังให้ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถได้รับประโยชน์จากอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลอย่างเป็นธรรม ขณะที่ผลการเจรจากับบราซิลล่าสุดนั้นเป็นผลดี ไม่มีการกีดกันหรือจำกัดการค้าใดๆ

ทั้งนี้ กรอบวงเงินช่วยเหลือจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรกใช้งบประมาณจำนวน 6,500 ล้านบาท ช่วยเหลือจ่ายให้ชาวไร่อ้อยผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) คำนวณจากผลผลิตตันละ 50 บาท สูงสุดต่อรายไม่เกิน 5,000 ตัน หรือไม่เกิน 250,000 บาทต่อราย และส่วนที่เหลือ 9,000 ล้านบาท คือ เงินสะสมของชาวไร่อ้อยจ่ายจากโรงงานตรงให้กับชาวไร่อ้อย เมื่อนำผลผลิตไปขายให้โรงงาน ชาวไร่อ้อยจะได้เงินอีกตันละ 70 บาท

รวมทั้ง 2 ส่วน ชาวไร่อ้อยจะได้เงินช่วยเหลือเพื่อซื้อปัจจัยการผลิตตันละ 120 บาท โดยการจ่ายเงินจะสามารถดำเนินการได้โดยใช้งบประมาณปี 2562 เป็นการจ่ายเพื่อช่วยเหลือฤดูการผลิตปี 2562 คาดว่าเงินจะถึงมือชาวไร่อ้อยปลายเดือนพ.ย.นี้

ช่วยชาวไร่อ้อย 2 ทาง ซื้อปัจจัยการผลิต-อุดหนุนกองทุน

สำหรับการช่วยเกษตรกรชาวไร่อ้อยนี้แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1) เป็นเงินสนับสนุนการซื้อปัจจัยการผลิตจากรัฐบาลที่ 50 บาทต่อตัน และ 2) นำเงินส่งกองทุนที่เกษตรกรจะได้ที่ 70 บาทต่อตัน ซึ่งเป็นการช่วยเหลือกันเองของเกษตกรและโรงงานน้ำตาล หากรวมกันแล้วเกษตรกรจะได้เงินช่วยเหลืออยู่ที่ 120 บาทต่อตัน 

กระทรวงอุตสาหกรรมตั้งเพดานเงินช่วยเหลือสูงสุดไว้ที่ 250,000 บาทต่อราย หรือที่ 5,000 ตันต่อคน จากการคาดการณ์ ปีหน้าจะมีจำนวนน้ำตาลทรายประมาณ 130 ล้านตัน ซึ่งจะใช้เม็ดช่วยเหลือทั้งหมดประมาณ 6,500 ล้านบาท โดยเงินส่วนนี้นับเฉพาะเงินช่วยเหลือการซื้อปัจจัยการผลิตจากรัฐบาลเท่านั้น ไม่ได้รวมเงินนำส่งกองทุน

แจงออกมาตรการช่วยเหลือ เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

สำหรับสาเหตุที่ต้องออกมาตรการนี้มาช่วยเหลือเกษตรกรเป็นเพราะว่ามาตรการเดิมที่ไทยเคยใช้ในการอุดหนุนภาคเกษตรนั้นถูกมองว่าทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการค้าน้ำตาลซึ่งทำให้ไทยถูกบราซิล ซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่อันดับหนึ่งของโลกยื่นฟ้องต่อ องค์การการค้าโลก (WTO)

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ไทยไม่สามารถช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยและผู้ส่งออกน้ำตาลได้ ประกอบกับราคาซื้อขายอ้อยในระดับโลกนั้นตกต่ำลงอย่างมากหากเทียบกับช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทำให้เกษตรกรและผู้ส่งออกประสบปัญหาอย่างหนัก

เมื่อต้องเผชิญทั้งคำฟ้องจากต่างประเทศและเสียงร้องจากเกษตรกรภายในประเทศ กระทรวงอุตสาหกรรมจึงพยายามที่จะผลักดันให้เกิดการปฏิรูปอุตสาหกรรมอ้อยน้ำตาลอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

มาตรการการให้เงินช่วยเหลือเกษตรกรนี้นั้นจะเป็นเพียงมาตรการระยะสั้นที่มีผลบังคับใช้แค่กรอบปี 2561 - 2562 เท่านั้น หลังจากนั้นราคาน้ำตาลทรายที่ขายในประเทศกับจะอ้างอิงจากราคาน้ำตาลทรายในตลาดลอนดอนนัมเบอร์ไฟว์