ไม่พบผลการค้นหา
ในยุคที่เศรษฐกิจฐานรากซบเซา หลายวงลูกทุ่งหมอลำประสบปัญหาคนดูลดลง แต่ไม่ใช่ปัญหาสำหรับ 'คำผุนร่วมมิตร' วงที่ปรับตัวเข้าสู่ยุคสมัย จนกลายเป็นขวัญใจวัยรุ่น การันตีด้วยคิวงานยาวถึงปี 2564

ช่วงเทศกาลออกพรรษา สิ้นสุดฤดูทำนา เป็นฤดูกาลที่วงลูกทุ่งหมอลำจะทยอยกันเปิดวง และรับงานเดินสาย พร้อมกับทีมงานที่ทยอยกลับเข้าวงหลับเก็บเกี่ยว เช่นเดียวกับ 'คำผุนร่วมมิตร' วงหมอลำเก่าแก่อายุกว่า 60 ปี จัดการแสดงเปิดวงที่สนามโรงเรียนโนนสะอาดวิทยาคาร ตำบลโนนสะอาด อำเภอแวงใหญ่ จังหวัดขอนแก่น บ้านเกิดของนายวิฑูลย์ ผานคำ หัวหน้าวง วัย 50 ปี


คำผุนร่วมมิตร.JPG

วิทูลย์ เล่าให้ทีมข่าว 'วอยซ์ ออนไลน์' ว่า ตนเป็นรุ่นที่สามของวง เริ่มต้นจากคุณทวดกองศิลป์ รักษาศิกย์ ขี่ม้า ขี่เกวียน เร่แสดงสดโดยใช้แคนเป็นเครื่องดนตรี ต่อมาคุณพ่อคำผุน ผานคำ มีรถยนต์หนึ่งคันกับตะเกียงเจ้าพายุแทนเครื่องขยายเสียง จนเริ่มพัฒนามามีเครื่องเสียง กับฮอร์นเป็นเครื่องดนตรี เมื่อ 30 ปีก่อน เล่นตามเวทีหมอลำประจำหมู่บ้าน ที่ทำมาจากต้นมะพร้าวบ้าง ถังแดงบ้าง

จนเมื่อปี 2537 คุณพ่อคำผุนเสียชีวิต ตนลาออกจากงานประจำที่กรุงเทพฯ มาดูแลวงต่อจากคุณพ่อ ช่วงนั้นเกิดวิกฤตอย่างหนัก เนื่องจากเจ้าภาพไม่แน่ใจว่าจะมีคนมาสานต่อวงและไม่จ้างงาน จากงานจ้างกว่าร้อยงานต่อปี เหลือแค่ 20 งานต่อปี ตนและน้องๆ จึงต้องช่วยกันสร้างความเชื่อมั่นในวงกลับคืนมา ทั้งไปคุยกับผู้ใหญ่บ้าน เจ้าอาวาสวัด และเจ้าภาพ รวมถึงทำให้ดนตรีในวงสนุกขึ้น ตอบโจทย์ให้เข้ากับวัยรุ่น

เมื่อก่อนเป็นลำเพลิน หรือลำเรื่องต่อกลอน แต่ปัจจุบันหมอลำปรับตัวให้เอาใจผู้ชมทุกวัย มีทั้งตลก เต้ย และคอนเสิร์ต ให้วัยรุ่นได้เต้น ได้สนุกไปด้วย ท่ามกลางคนดูกว่า 3,000 คนต่อคืน เพราะปัจจุบันคนชอบสนุก คำผุนร่วมมิตรเป็นวงแรกที่ซื้อลิขสิทธิ์เพลงค่ายใหญ่ๆ มาร้อง สลับกับเพลงที่วงแต่งมาเอง ซึ่งจุดเด่นของวงคือดนตรีแน่น เพลงสนุกถึงใจ หรือที่ได้รับฉายาว่า 'เต้ยโสตาย'

ส่วนเรื่องโซเชียลมีเดีย ตนไม่ห้ามคนดูเฟซบุ๊กไลฟ์ แถมยังเฟซบุ๊กไลฟ์เองถ่ายเพจ 'ท็อปไลน์ มิวสิค' ต้นสังกัด เพื่อให้คนดูแชร์ต่อๆ กันไป เป็นการประชาสัมพันธ์อีกทางหนึ่ง ขณะเดียวกันการเดินสายแสดงสดตามสถานที่ต่างๆ ก็จะเปิดสปอร์ตไลท์ขึ้นฟ้า เพื่อให้ชาวบ้านในละแวกรู้ว่ามีวงลูกทุ่งหมอลำมาแสดงในคืนนั้นหรือที่เรียกว่า 'ไฟล่อกะเทย'

คำผุนร่วมมิตร.JPG

ในช่วงที่เศรษฐกิจระดับฐานรากซบเซา รายได้ของชาวบ้านน้อยลง แต่วงคำผุนร่วมมิตรไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แม้จะเป็นวงใหญ่สมาชิกกว่า 260 คน แต่วิฑูลย์จะลงทุนให้พอดีกับงานที่จ้าง ไม่ใช้งบประมาณจนเกินตัว ซึ่งรายได้หลักก็จะมาจากการปิดวิก เล่นหมอลำแบบเก็บตั๋วเอง แต่มีความเสี่ยง หากวันไหนฝนตก หรือคนมาน้อยก็จะขาดทุน หรือถ้ามีเจ้าภาพมาจ้างไปเล่น วงก็ไม่ต้องรับความเสี่ยง เพราะเจ้าภาพอาจจะเปิดให้ชมฟรี หรือเก็บเงินค่าตั๋วเอง วงก็จะมีรายได้แน่นอนอยู่แล้ว ปีนี้วงมีงาน 140 กว่าคิว และยังมีงานจ้างในเทศกาลยาวไปถึงปี 2564 ส่วนรายได้พิเศษจะเป็นพวกสปอนเซอร์ หรือการโฆษณาสินค้าบนเวที และพวงมาลัย ถือเป็นรายได้พิเศษส่วนตัวของนักร้อง และนักแสดง ที่มีแฟนคลับเป็นของตัวเอง

คำผุนร่วมมิตร.JPG

อีกหนึ่งจุดแข็งของวงคำผุนร่วมมิตร คือ การฝึกสมาชิกในครอบครัวให้สืบสานงานของวง ตั้งแต่รุ่นพ่อคำผุน ที่จะหัดลูกๆ ทุกคนตามความถนัด เพื่อให้มาช่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นการทำฉาก ทำชุด ทำไฟ หรือร้องลำ เช่นเดียวกับในยุคนี้ที่วงคำผุนร่วมมิตรพัฒนาสมาชิกรุ่น 4 ของครอบครัวให้กลายเป็นนักร้อง พระเอก นางเอก จนติดตลาดเป็นที่ชื่นชอบของคนดู ถึงตามมาดูจากจังหวัดก็มี เช่น เบนซ์ พงศกร และบาส ปัทมนันท์ ซึ่งรายได้ต่อคืนของพระเอก นางเอก ไม่ต่ำกว่าหนึ่งหมื่นบาท ซึ่งวิฑูลย์จะสอนลูกหลานเสมอ ให้เลือกเส้นทางที่ตนชอบและถนัด

คำผุนร่วมมิตร.jpg

บาส - ปัทมนันท์ ผานคำ หลานสาวของนายวิฑูลย์ เล่าให้ฟังว่า ตอนนี้อายุ 26 ปี เป็นหมอลำเต็มตัวตั้งแต่จบมัธยมศึกษาปีที่ 6 ไม่ได้เรียนต่อปริญญาตรี เมื่อก่อนก็รู้สึกอิจฉาเพื่อนๆ ที่ได้ใส่ชุดนักศึกษาเข้าเรียนมหาวิทยาลัย แต่พอทำงานในวงเต็มตัวก็ทำให้เธอรู้ว่าเธอรักในการร้องหมอลำ เป็นพรสวรรค์ที่เราได้เห็นหมอลำมาตั้งแต่เกิด มีความสุขในการทำให้คนดูมีความสุข และเชื่อว่าการหาตัวตนให้เจอมีความสำคัญกว่าใบปริญญา