ไม่พบผลการค้นหา
ศาลปกครองสูงสุดรับพิจารณาคดีโครงการเขื่อนปากแบง ที่คณะทำงานฝ่ายกฎหมายของเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงยื่นอุทธรณ์ไว้ หลังก่อนหน้านี้ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับฟ้อง

วันที่ 12 พ.ย. 60 นางสาวเฉลิมศรี ประเสริฐศรี นักกฎหมายมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน เปิดเผยว่า คณะทำงานฝ่ายกฎหมายของเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้รับแจ้งว่าการยื่นอุทธรณ์ในคดีโครงการเขื่อนปากแบงได้เข้าสู่การพิจารณาของศาลปกครองสูงสุดแล้ว หลังก่อนหน้านี้ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับฟ้อง 

นางสาวเฉลิมศรี กล่าวว่า เหตุผลในการใช้อุทธรณ์ในครั้งนี้มาจากผู้ฟ้องคดีทั้ง 4 คนเป็นประชากรที่มีภูมิลำเนาและประกอบอาชีพใน อ.เชียงของ จ.เชียงรายซึ่งเป็นอำเภอที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง และคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากแบงมากที่สุด เนื่องจากห่างจากโครงการประมาณ 97 กม. และยังมีจังหวัดที่ติดริมแม่น้ำโขงที่จะได้รับผลกระทบอีก 7 จังหวัดคือ เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี อีกทั้งแม่น้ำโขงมีระบบนิเวศน์ และทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ มีสินทรัพย์ทางธรรมชาติที่มีมูลค่ามหาศาลต่อประเทศที่ติดลำน้ำโขงทุกประเทศ ซึ่งการมีอยู่ของแม่น้ำโขงทำให้เกิดข้อดีด้านเศรษฐกิจ สังคม และมาตรฐานการครองชีพของประชาชน ดังนั้นการก่อสร้างโครงการเขื่อนปากแบงบนแม่น้ำโขงจึงทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 4 ได้รับความเดือดร้อน เป็นผลสืบเนื่องจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีไม่ได้ดำเนินการให้ถูกต้องครบถ้วน โดยเฉพาะในส่วนของการรับฟังความคิดเห็นที่ไม่ครอบคลุม ดังนั้น การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีจึงเป็นการกระทำที่ถือว่าก่อให้เกิดการกระทบกระเทือนต่อสิทธิประชาชนชาวไทยที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขงทั้ง 8 จังหวัด รวมถึงผู้ฟ้องคดีทั้ง 4 ด้วย

กลุ่มลุ่มน้ำโขง.jpg

ซึ่งตามอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 3 ตามกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วย "ข้อตกลงการใช้น้ำแม่น้ำโขง พ.ศ.2538" ได้กำหนดหน้าที่ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 3 จ้อต้องดำเนินการให้เป็นไปตามเงื่อนไขโดยมีหน้าที่ในการที่จะให้ความเห็นต่อคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง และรัฐบาลไทยในการที่จะแจ้งให้ทราบถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการก่อสร้างโครงการ ความเสี่ยงต่างๆที่จะส่งผลต่อรัฐและต่อประชาชนในประเทศไทย แต่ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ได้กระทำการตามกฎข้างต้น โดยการดำเนินการต้องผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคม เพื่อนำไปประกอบความเห็นคัดค้านและเสนอแนวทางแก้ไข ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีตามกฎหมาย เกี่ยวกับการปกป้องคุ้มครองทรัพยากรน้ำและทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม โดยที่อำนาจหน้าที่ดังกล่าวเป็นการกระทำทางปกครองที่ส่งผลกระทบหรืออาจส่งผลกระทบต่อประชาชน จึงเป็นสิทธิของผู้ฟ้องที่จะนำคดีมาฟ้องต่อศาล และไม่ใช่อำนาจบริหารหรือกิจการภายในที่ไม่อยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลปกครอง

โดยที่นางสาวเฉลิมศรี กล่าวต่ออีกว่า สำหรับการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากโครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนปากแบง หรือสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในลักษณะอื่นนั้น แม้การเจรจาจกลงกันจะอยู่ในลักษณะเชิงธุรกิจพาณิชย์ แต่วัตถุประสงค์ของสัญญาเป็นการทำสัญญาขึ้นเพื่อจัดการบริการสาธารณะ จ้อต้องมีการดำเนินการขออนุญาตจากหน่วยงานที่ควบคุมเกี่ยวกับกิจการพลังงาน ซึ่งการดำเนินการจัดซื้อไฟฟ้าเป็นอำนาจหน้าที่ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สัญญาซื้อขายไฟฟ้าจึงถือว่าเป็นสัญญาทางปกครองชนิดหนึ่ง เนื่องจากการไฟฟ้าฯ เป็นหน่วยงานรัฐ ด้วยเหตุผลนี้จึงเชื่อว่าผู้ฟ้องคดีทั้ง 4 จึงมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาล เพื่อเรียกร้องให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 3 ปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย

ทั้งนี้ คดีโครงการเขื่อนปากแบง มีผู้ฟ้องคดีคือ กลุ่มรักษ์เชียงของ กลุ่มรักษ์เชียงของ นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว นายจีรศักดิ์ อินทะยศ และนายพิศณุกรณ์ ดีแก้ว รวม 4 ราย และผู้ถูกฟ้องคดี คือ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ และคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย โครงการนี้ เป็นโครงการเขื่อนพลังน้ำไหลผ่าน ก่อสร้างอยู่บนแม่น้ำโขงสายประธาน เมืองปากแบง แขวงอุดมไชย ทางภาคเหนือของ สปป.ลาว ห่างจากตอนบนของเมืองปากแบงราว 14 กม. ในแม่น้ำโขง ลักษณะเขื่อนประกอบด้วย เขื่อนคอนกรีต โรงไฟฟ้า ประตูระบายน้ำ ประตูเรือสัญจร และทางปลา วัตถุประสงค์เพื่อใช้ผลิตไฟฟ้า และปรับปรุงการเดินเรือ สนับสนุนการท่องเที่ยวในพื้นที่ โครงการเป็นของกลุ่มบริษัท ต้าถังโอเวอร์ซีส์ อินเวสต์เม้นต์ ซึ่งจะดำเนินการก่อสร้าง ในปี 2560 คาดว่าจะแล้วเสร็จและจ่ายกระแสไฟฟ้าในปี 2566