ไม่พบผลการค้นหา
เพจ "ฟิสิกส์แม่งเถื่อน" และผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยบนท้องถนน อธิบายความรุนแรงเหตุการณ์อุบัติเหตุระหว่างมอเตอร์ไซค์กับรถยนต์ของหญิงสาวที่อ้างว่าตัวเองเรียนวิชาฟิสิกส์และเคมีมา

กรณีหญิงสาวรายหนึ่งเปิดประตูลงจากแท็กซี่ไม่ทันระวัง เป็นเหตุให้ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์พุ่งเข้าชนเเละได้รับบาดเจ็บ โดยหญิงสาวคนดังกล่าวไม่พอใจคู่กรณีที่นอนบาดเจ็บแน่นิ่งอยู่กับพื้น จึงกล่าวด่าทอ พร้อมกับอ้างว่าตัวเองเรียนวิชาฟิสิกส์เเละเคมีมา คำนวณแล้วเป็นความรุนแรงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ไม่ส่งผลให้ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ได้รับบาดเจ็บเหมือนที่แสดงออก 

ล่าสุดนายคมพิสิฐ ประสาท วิศวกรไฟฟ้า เจ้าของเพจ “ฟิสิกส์แม่งเถื่อน” ที่มีผู้ติดตามมากกว่า 2 แสนราย ออกมาจำลองและคำนวณความรุนแรงของเหตุการณ์ดังกล่าว ตามหลังของวิชาฟิสิกส์ของแท้ โดยระบุว่า 

“แรงเสียดทาน เคยเรียนมารึป่าว กรูเรียนฟิสิกส์มา กรูรู้ เอางี้ เรียนฟิสิกส์ใหม่เถอะ แรงดลไม่ใช่แรงเสียดทาน อยากรู้ว่าตอนเปิดประตู จะเปิดแรงเปิดเบา มอ'ไซค์ชนจะมีแรงกระทำต่อมอ'ไซค์เท่าไหร่ มากน้อยแค่ไหน มาคำนวณกัน”

โดยหลังจากตั้งสมมติฐาน แทนค่าความรุนแรง และคำนวณสมการ ต่างๆ แล้วพบว่าได้เท่ากับ แรง -8000 นิวตัน 

หรือหากพูดง่ายๆ คือแรงกระทำให้รถมอเตอร์ไซค์หยุดเท่ากับ "มีมวล 800 กิโลกรัมทับ" นั่นเอง

รุนแรงแค่ไหนเมื่อถูกชน 

นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) ให้ข้อมูลกับวอยซ์ออนไลน์ว่า ในต่างประเทศเคยมีการศึกษาเรื่องแรงปะทะเมื่อเกิดอุบัติเหตุรถยนต์ชนผู้คน โดยมีการเปรียบเทียบกับการตกจากตึกสูง พบว่า 

การถูกปะทะด้วยความเร็ว 60 กม.ต่อชั่วโมง เท่ากับตกตึก 5 ชั้น

การถูกปะทะด้วยความเร็ว 80 กม.ต่อชั่วโมง เท่ากับตกตึก 8 ชั้น

การถูกปะทะด้วยความเร็ว 100 กม.ต่อชั่วโมง เท่ากับตกตึก 13 ชั้น

การถูกปะทะด้วยความเร็ว 120 กม.ต่อชั่วโมง เท่ากับตกตึก 19 ชั้น


1175068.jpg

ขณะที่จากการศึกษาในอังกฤษพบว่า ความเร็ว 48 กม./ชั่วโมง เมื่อคนชนเดินเท้าจะมีโอกาสเสียชีวิต 20 %

ความเร็ว 64 กม./ชั่วโมง จะทำให้คนเดินเท้ามีโอกาสเสียชีวิตสูงถึง 90 %

ขณะที่ในสวีเดน พบว่า ในทุกๆ ความเร็วที่เพิ่มขึ้น 10 % จะเพิ่มแรงปะทะ 21 % และเพิ่มความรุนแรงของอุบัติเหตุถึงขั้นเสียชีวิต 46 %


1175069.jpg

อย่างไรก็ตาม นพ.ธนะพงศ์ เห็นว่า การจะบอกว่าใครได้รับบาดเจ็บมากน้อยขนาดไหน จำเป็นต้องมองไปถึงเรื่องการเคลื่อนไหวของร่างกายหลังจากถูกกระเเทกด้วย 

"ความเร็วเพียงแค่ 20 กม.ต่อชั่วโมง หากเป็นเหตุการณ์กระชั้นชิด ร่างกายไม่ได้เตรียมตัวหรือเกร็งรับกระเเทก เราพบเสมอว่าคนที่ถูกชนจะเสียหลัก เเละหากศีรษะฟาดพื้น ก็ส่งผลให้เกิดแรงเหวี่ยงภายในศีรษะ สมองที่ลอยอยู่ในน้ำหล่อสมองไขสันหลัง จะเคลื่อนที่พุ่งไปข้างหน้าเเละโยกกลับมาข้างหลัง เท่ากับสมองได้รับการกระแทกและมีโอกาสกระทบกระเทือน" 

นพ.ธนะพงศ์ บอกว่า ผลกระทบหลังจากศีรษะฟาดพื้น อาจส่งผลให้ผู้ได้รับบาดเจ็บเกิดอาการมึนงงและต้องใช้เวลาสักระยะกว่าจะกลับเข้าสู่สภาะปกติ

"ไม่ใช่เรื่องสำออย การถูกชนด้วยความเร็วต่ำ หากสมองได้รับการกระทบกระเทือน เป็นไปได้ที่จะเกิดอาการมึนงงหรือเลือดออกในสมอง" 

ร่างกายทนได้แค่ไหน หากคาดเข็มขัดนิรภัย 

ความเร็วไม่เกิน 70 กม./ชั่วโมง ผู้ขับไม่เสียชีวิต

ความเร็วไม่เกิน 50 กม./ชั่วโมง รถชนด้านข้างไม่เสียชีวิต

ความเร็วไม่เกิน 30 กม./ชั่วโมง ปะทะต้นไม้ด้านข้าง ไม่เสียชีวิต

ความเร็วไม่เกิน 30 กม./ชั่วโมง กรณีชนคนเดินถนน ผู้นั้นไม่เสียชีวิต 

1175109.jpg