ไม่พบผลการค้นหา
กรมสรรพากรออกประกาศขยายเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม ไว้ที่ร้อยละ 7 ถึง 30 ก.ย. 2562

กรมสรรพากรแจ้งว่า การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ยังคงจัดเก็บในอัตราร้อยละ 7 จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2562 ซึ่งดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 669) พ.ศ. 2561 โดยให้ยังคงจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 รวมภาษีท้องถิ่น (ภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 6.3 และภาษีท้องถิ่นร้อยละ 0.7) สำหรับการขายสินค้า การให้บริการ หรือการนำเข้าทุกกรณี

ส่วนการที่ระบุว่าเป็นการลดอัตราภาษีลงมานั้น เนื่องจากกฎหมายปัจจุบันกำหนดให้กรมสรรพากรจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 10 จึงจำเป็นต้องมีการออกพระราชกฤษฎีกาเพื่อลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มลงมาที่อัตราร้อยละ 7 รวมภาษีท้องถิ่น การขยายเวลาการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราเดิมร้อยละ 7 ดังกล่าว เพื่อเป็นการกระตุ้นกลไกเศรษฐกิจ และช่วยลดภาระค่าครองชีพของประชาชน รวมถึงเป็นการสร้างความเชื่อมั่น ในการประกอบธุรกิจให้กับภาคเอกชน และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนาดใหญ่ให้สามารถดำเนินการไปได้อย่างต่อเนื่อง อันจะทำให้การบริโภคและการลงทุนของประเทศมีการขยายตัวต่อไป

ทั้งนี้ พระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 669) พ.ศ. 2561 เผยแพร่่ผ่านเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาออกมาเมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2561 และมีผลตั้งแต่ 1 ต.ค. 2561 ถึง 30 ก.ย. 2562

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระแสการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเรื่องที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันทุกปี แต่โดยกฎหมายตามบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร หมวดที่ 4 ภาษีมูลค่าเพิ่ม มาตราที่ 80 ระบุไว้ว่า ให้ใช้อัตราภาษีร้อยละ 10.0 ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับการประกอบกิจการดังต่อไปนี้ (1) การขายสินค้า (2) การให้บริการ (3) การนำเข้า ทั้งนี้ เว้นแต่กรณีที่กำหนดไว้ในมาตรา 80/2 อัตราภาษีตามวรรคหนึ่ง ให้ลดลงได้โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา แต่ต้องกำหนดอัตราภาษีให้เป็นอัตราภาษีเดียวกัน สำหรับการขายสินค้า การให้บริการและการนำเข้าทุกกรณี การออกพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มนั้นมาเป็นระยะเวลาหลายสิบปีแล้ว เพื่อคงไว้ซึ่งความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ

ไทยเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มต่ำกว่า เวียดนาม ลาว กัมพูชา แต่สูงกว่ามาเลเซีย

หากเปรียบเทียบอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ของประเทศเพื่อนบ้าน โดยอ้างอิงจากรายงานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ พบว่า เมียนมาเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสูงสุดที่อัตราร้อยละ 30 ฟิลิปปินส์ร้อยละ 12 อินโดนีเซีย เวียดนาม ลาว และกัมพูชาเรียกเก็บเท่ากันในอัตราร้อยละ 10 ส่วนไทยและสิงคโปร์อยู่ที่ร้อยละ 7 และมาเลเซียร้อยละ 6


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :