เครือข่ายตรวจสอบภาคประชาชน จัดเวทีสาธารณะ พูดคุยภายใต้หัวข้อ พรรคการเมืองกับแนวทางการสร้างความสามัคคีปรองดองแห่งชาติ โดยนายพิชัย นริพทะพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย ระบุ การสร้างความปรองดอง ต้องเริ่มต้นจากการมองข้ามปัญหาความขัดแย้งในอดีต การยอมรับเรื่องของการให้อภัยซึ่งกันและกัน ผู้นำพรรคการเมือง ต้องมีความชัดเจน บทบาทของการเป็นผู้นำ ต้องมีความรู้ความสามารถเพียงพอที่จะนำพาประเทศไปข้างหน้า โดนเห็นว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์มีความเหมาะสมที่จะนำพาพรรคประชาธิปัตย์
นายพิชัย ระบุด้วยว่า การดึงตัวนักการเมืองในอดีตกับปัจจุบันมีรูปแบบที่แตกต่างกัน เพราะในปัจจุบันมีกระบวนการข่มขู่ โดยใช้กลไกทางอำนาจ เป็นเงื่อนไขในการต่อรอง จึงเห็นว่า พลังดูดในปัจจุบัน ไม่ได้ใช้เพียง เงินจำนวนมหาศาลอย่างเดียวเท่านั้น
"ประเทศจะไม่เกิดรัฐประหาร ประชาชน จะต้องเปลี่ยนแปลงแนวคิดไม่ยอมรับวิธีการดังกล่าว และต้องสร้างความเข้าใจว่ากลไกดังกล่าว จะสร้างความเสียหายโดยเฉพาะมิติทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ" นายพิชัย ระบุ
ขณะที่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มองว่าการสร้างความปรองดองต้องเริ่มจากการเคารพกฎหมาย ประชาชนจะรู้สึกว่าได้รับความเป็นธรรมต่อเมื่อผู้กระทำผิดต้องยอมรับผิด จะทำให้บ้านเมืองไม่เกิดการรัฐประหารขึ้นอีก ต้องไม่สร้างเงื่อนไข ทหารต้องเป็นทหารอาชีพ รวมถึง ประชาชนจะต้องไม่ยอมรับรูปแบบการปกครองในลักษณะที่เป็นอำนาจนิยม
นายจุรินทร์ ระบุด้วยว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีสถานะเปลี่ยนไป จากกรรมการ และผู้กำหนดกติกากลายมาเป็นผู้เล่น นอกจากนี้ยังเห็นว่า การย้ายพรรคของนักการเมือง หรือถูกดูดในครั้งนี้ไม่ปกติ และหวังว่าการใช้คดีความเพื่อกดดันให้ย้ายพรรค จะไม่เป็นความจริง เพราะเป็นการทำลายหลักนิติรัฐนิติธรรม
ส่วนกระแสข่าวพลังดูดได้สะท้อนให้เห็นว่าการเมืองกำลังย้อนสู่อดีต ผู้มีอำนาจต้องการทำอย่างไรก็ เพื่อหวังเพียงชัยชนะในการเลือกตั้ง โดยไม่สนรูปแบบและความชอบธรรม นอกจากสังคมเห็นว่าจะต้องปฏิรูป นักการเมือง ที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว นักการเมืองขาจร ก็ต้องได้รับการปฏิรูปเช่นกัน
ด้าน พล.ท.พงศกร รอดชมภู ว่าที่รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ระบุว่า การสร้างความปรองดอง ต้องเริ่มจากประชาคนทุกคน มีสิทธิเท่าเทียม ได้รับโอกาส จากภาครัฐอย่างเสมอภาค และทุกคนต้องมีพื้นที่อย่างเท่าเทียมมีโอกาสร่วมกันคิดว่าจะอยู่ร่วมกันอย่างไรจึงจะเป็นกลไก นำไปสู่รูปแบบการอยู่ร่วมกันแบบพหุวัฒนธรรม
พร้อมย้ำด้วยว่าพรรคการเมือง ต้องร่วมมือกัน เพื่อไม่ให้เกิดการรัฐประหาร แสดงจุดยืน ในการต่อต้านการรัฐประหาร สนับสนุนทหารให้เป็นทหารอาชีพ เเละสามารถอยู่ได้อย่างมั่นคง โดยเชื่อว่าทหารไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ไม่พอใจสถานการณ์บ้านเมืองที่เป็นอยู่ ถ้ากติกาไม่เป็นธรรม ประชาชนจะไม่ยอมรับ และสั่งสอนผู้มีอำนาจในการเลือกตั้ง