เว็บไซต์เดอะการ์เดียนของอังกฤษรายงานข่าว 'เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน' อดีตนักวิเคราะห์ข้อมูลของสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ (NSA) เปิดโปงโครงการสอดแนมข้อมูลพลเรือนของรัฐบาลสหรัฐฯ หรือ PRISM เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ซึ่งการเปิดโปงดังกล่าว ส่งผลให้สโนว์เดนต้องลี้ภัยไปยังรัสเซีย และกลายเป็นบุคคลที่สหรัฐฯ 'ต้องการตัว' มากที่สุดในโลก แต่ 5 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อสหรัฐฯ และประชาคมโลก
เดอะการ์เดียนระบุว่า นับตั้งแต่สโนว์เดนออกจากสหรัฐฯ มีการแก้ไขกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของพลเรือน รวมถึงมีการผลักดันให้เกิดกฎหมายด้านความโปร่งใส เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบการดำเนินงานของรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ว่า ส่งผลกระทบหรือมีการละเมิดสิทธิพลเรือนหรือไม่ ซึ่งเดอะการ์เดียนได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์ของสโนว์เดนวันนี้ (5 มิ.ย.) โดยเขาระบุว่า ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด คือ การที่ประชาชนเริ่มตระหนักรู้ว่ารัฐบาลละเมิดสิทธิของพวกเขา
"รัฐบาลและกลุ่มทุนเคยหาประโยชน์จากความไม่รู้ของพวกเรา แต่เรารู้แล้ว ประชาชนตระหนักรู้แล้วในตอนนี้ ประชาชนยังไร้อำนาจที่จะหยุดมัน แต่เราก็กำลังพยายาม และการเปิดโปงข้อมูลเหล่านี้ทำให้การต่อสู้เริ่มเสมอกันมากขึ้น" สโนว์เดนกล่าว
สื่ออังกฤษรายงานว่า สโนว์เดนอาจถูกต่อต้านและประณามจากฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ แต่สำหรับผู้พัฒนาเทคโนโลยีด้านการสื่อสาร รวมถึงองค์กรอิสระที่เฝ้าระวังเรื่องการรักษาความเป็นส่วนตัวในโลกออนไลน์ ต่างยอมรับว่า การเปิดโปงข้อมูลการสอดแนมพลเรือนของรัฐบาลสหรัฐฯ และประเทศพันธมิตร ทำให้เกิดความตื่นตัวในการคิดค้นหรือทดสอบระบบที่คำนึงถึงความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลมากขึ้น ช่วยให้ผู้ใช้งานเทคโนโลยีตั้งคำถามกับระบบที่เกี่ยวพันกับความเป็นส่วนตัวในด้านต่างๆ เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับที่ภาครัฐเริ่มเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เพราะมีการตอบคำถามของประชาชนและสื่อมวลชนในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ 'ความเป็นส่วนตัว' เพิ่มขึ้นเช่นกัน
การเปิดโปงข้อมูลเป็นภัยต่อความมั่นคงของใคร?
ข้อมูลที่สโนว์เดนเผยแพร่ต่อสื่อมวลชน เป็นข้อมูลที่เขาได้จากการเจาะระบบหน่วยงานความมั่นคงและหน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯ ซึ่งร่วมมือกับประเทศพันธมิตรทั่วโลกในการสอดแนมข้อมูลการใช้โทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตของพลเรือน รวมถึงบุคคลสำคัญระดับผู้นำรัฐบาล
หน่วยงานความมั่นคงของสหรัฐฯ ระบุว่าความเสียหายที่เกิดจากการเปิดโปงข้อมูลของสโนว์เดนนั้นแทบไม่ต่างจากกรณีของเว็บไซต์วิกิลีกส์ที่เผยแพร่บันทึกของรัฐบาลสหรัฐฯ และกองทัพเมื่อปี 2549 และสโนว์เดนต้องหลบหนีจากรัฐฮาวายของสหรัฐฯ ไปยังฮ่องกง เขตบริหารพิเศษของจีน เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2556 ก่อนที่เขาจะได้รับอนุญาตให้ลี้ภัยในรัสเซียจนถึงปัจจุบัน
นิตยสารไทม์ของสหรัฐฯ รายงานว่า การเปิดโปงของสโนว์เดนมีผลสะเทือนต่อรัฐบาลอีกหลายประเทศมาจนถึงทุกวันนี้ โดยล่าสุดมีการเผยแพร่ข้อมูลว่ารัฐบาลญี่ปุ่นได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานด้านความมั่นคงของรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อสอดส่องและเก็บข้อมูลของผู้ที่เกี่ยวข้องกับสกุลเงินดิจิทัล
(สโนว์เดนยืนยันว่า มีความเปลี่ยนแปลงเชิงทัศนคติเกิดขึ้นในหมู่ชาวอเมริกันหลังเปิดโปงว่ารัฐสอดแนมพลเรือน)
ในวาระครบรอบ 5 ปีการเปิดโปงข้อมูลดังกล่าว ไทม์ได้ติดตามไปสัมภาษณ์ 'เกล็น กรีนวาลด์' อดีตผู้สื่อข่าวเดอะการ์เดียน ซึ่งเป็นผู้รายงานข้อมูลที่ได้จากสโนว์เดนเป็นรายแรก ระบุว่า สิ่งที่สื่อตะวันตกและสื่อทั่วโลกตัดสินใจเผยแพร่เกี่ยวกับการสอดแนมพลเรือนของรัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ถึงเศษเสี้ยวของข้อมูลทั้งหมดที่สโนว์เดนเข้าถึงและเก็บรักษาไว้ และสื่อมวลชนทั่วโลกมีหลักการว่าจะเผยแพร่เฉพาะข้อมูลที่พิจารณาแล้วว่าเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ และไม่สร้างความเสียหายหรือเป็นภัยต่อปัจเจกบุคคล พร้อมยืนยันว่ายังมีไฟล์อีกเป็นพันๆ ไฟล์ ที่ผู้สื่อข่าวตัดสินใจ 'ไม่รายงาน' เพราะคำนึงถึงความปลอดภัยของสาธารณะและปัจเจกบุคคล
กรีนวาลด์ระบุว่า การที่รัฐบาลสหรัฐฯ พยายามกล่าวหาว่าสโนว์เดนเป็นผู้ทรยศต่อประเทศชาติ และข้อมูลที่เขาเผยแพร่ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐตกอยู่ในความเสี่ยงนั้นออกจะเกินเลยไปจากข้อเท็จจริง เพราะจนถึงขณะนี้รัฐบาลสหรัฐฯ ยังไม่อาจบอกได้ว่าข้อมูลใดที่ส่งผลกระทบต่อพลเรือนธรรมดา นอกเหนือจากที่รัฐบาลสหรัฐฯ ถูกโจมตีว่ากระทำการละเมิดสิทธิพลเรือนของตัวเอง
อย่างไรก็ตาม โจเอล เมสสตัด โฆษกศูนย์ปฏิบัติการด้านข่าวกรองของสหรัฐฯ เปิดเผยกับไทม์ว่า ข้อมูลที่สโนว์เดนลอบขโมยจากฐานข้อมูลของเอ็นเอสเอมาเผยแพร่ ทำลายความเชื่อมั่นของสาธารณชนต่อหน่วยงานของรัฐ ทำให้ผู้ปฏิบัติงานด้านหน่วยข่าวกรองและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถูกเปิดโปงตัวตนจนอาจได้รับผลกระทบ ทั้งในการปฏิบัติหน้าที่และการใช้ชีวิตตามปกติ รวมถึงเปิดช่องให้ผู้ฉวยโอกาสได้เข้าถึงเครื่องมือในการเก็บและจัดการข้อมูลของหน่วยงานรัฐ
"ข้อมูลส่วนบุคคลออนไลน์อาจหลอกหลอนเราไปชั่วชีวิต"
แม้เวลาจะผ่านไปแล้ว 5 ปี แต่รัฐบาลสหรัฐฯ ยังไม่เลิกล้มความพยายามที่จะนำตัวสโนว์เดนกลับประเทศเพื่อดำเนินคดีและลงโทษทางกฎหมาย ซึ่งเว็บไซต์ The Intercept แหล่งเผยแพร่ข้อมูลด้านเทคโนโลยีและสิทธิในโลกไซเบอร์ รายงานว่าโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ รวมถึงไมค์ ปอมเปโอ อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองกลาง (CIA) ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ต่างยังคงประณามสโนว์เดนว่าเป็น 'คนทรยศ' และไม่รักชาติ เพราะเปิดโปงข้อมูลที่ส่งผลกระทบต่อรัฐบาลอย่างหนัก เช่นเดียวกับ จอห์น โบลตัน ที่ปรึกษาเอ็นเอสเอคนปัจจุบัน มองว่าสโนว์เดนควรถูกตัดสินลงโทษจำคุกอย่างน้อย 30 ปี
ดิอินเทอร์เซ็ปได้รายงานอ้างอิงการแลกเปลี่ยนระหว่างสโนว์เดนและ 'เมห์ดี ฮาซาน' ผู้จัดรายการ Deconstruced ซึ่งสัมภาษณ์สโนว์เดนผ่านทางสไกป์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยสโนว์เดนยืนยันว่าการเปิดโปงข้อมูลว่ารัฐบาลสอดแนมพลเรือน ช่วยให้มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายเกิดขึ้น แต่ในทางปฏิบัติยังคงมีความพยายามที่จะเก็บรวบรวมหรืออาศัยประโยชน์จากข้อมูลส่วนบุคคลของพลเรือนอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยเขายกตัวอย่างกรณีเฟซบุ๊กและสื่อสังคมออนไลน์อื่นๆ ถูกสอบสวนกรณีปล่อยให้ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งานรั่วไหลไปยังบุคคลที่สาม ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้กว่า 80 ล้านคนทั่วโลก ทำให้สโนว์เดนย้ำว่า "การต่อสู้เพิ่งจะเริ่มขึ้นเท่านั้น"
อย่างไรก็ตาม ทัศนคติของคนรุ่นใหม่ที่มีต่อการเก็บข้อมูลส่วนบุคคล มีความเปลี่ยนแปลงไปจากกลุ่มคนรุ่นเก่า โดยสโนว์เดนยกตัวอย่างคนรุ่นใหม่ที่ยังอยู่ในชั้นมัธยมปลายหรือมหาวิทยาลัยจะเข้าใจดีว่าการนำข้อมูลส่วนบุคคลเข้าสู่ระบบออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดีหรือเรื่องร้ายก็ตาม ล้วนมีความเป็นไปได้สูงว่า ข้อมูลเหล่านั้นจะวนเวียนอยู่ในโลกไซเบอร์ต่อไปอีกนาน อาจจะเท่ากับอายุขัยในโลกจริง ทำให้คนกลุ่มนี้ตระหนักถึงความสำคัญที่จะต้องปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลและความเป็นส่วนตัวของพวกเขามากกว่าผู้สูงอายุ
ที่มา: The Guardian/ Intercept/ Time
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: