ไม่พบผลการค้นหา
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย เผยผลสำรวจดัชนี SMEs ไตรมาส 4/2562 ปรับลดทุกด้าน แต่เชื่อสถานการณ์ไตรมาส 1/2563 จะปรับตัวดีขึ้น

ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีสถานการณ์ธุรกิจเอสเอ็มอี ไตรมาส 4/2562 อยู่ที่ 40.8 ปรับตัวลดลง 0.7 จุด เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา (3/2562) ส่วนคาดการณ์ไตรมาส 1/2563 ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 41.2 เมื่อจำแนกตามลักษณะการเป็นลูกค้า พบว่า กลุ่มที่ไม่ใช่ลูกค้าของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ดัชนีสถานการณ์ธุรกิจปรับจากระดับ 35.0 ลงมาอยู่ที่ระดับ 34.2 ส่วนกลุ่มที่เป็นลูกค้า ธพว. ดัชนีสถานการณ์ธุรกิจ จากระดับ 47.0 ลงมาอยู่ที่ระดับ 46.5

ด้านดัชนีความสามารถในการทำธุรกิจของเอสเอ็มอี ไตรมาสที่ 4/2562 อยู่ที่ระดับ 47.2 ปรับตัวลดลง 0.6 จุด เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ส่วนคาดการณ์ไตรมาส 1/2563 จะขยับขึ้นอยู่ที่ 47.9 เมื่อจำแนกตามลักษณะการเป็นลูกค้า พบว่า กลุ่มที่ไม่ได้เป็นลูกค้า ธพว. ดัชนีความสามารถในการทำธุรกิจจากระดับ 39.6 ลงมาอยู่ที่ระดับ 38.7 ขณะที่กลุ่มที่เป็นลูกค้า ธพว. จากระดับ 56.2 ลงมาอยู่ที่ระดับ 55.9

ด้านดัชนีความยั่งยืนของธุรกิจเอสเอ็มอี ไตรมาสที่ 4/2562 อยู่ที่ระดับ 50.4 ปรับตัวลดลง 0.7จุด เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ส่วนคาดไตรมาส 1/2563 จะขยับขึ้นอยู่ที่ 50.8 เมื่อจำแนกลักษณะตามการเป็นลูกค้า พบว่า กลุ่มที่ไม่ได้เป็นลูกค้า ธพว. ดัชนีจากระดับ 43.8 มาอยู่ที่ระดับ 42.7 ขณะที่กลุ่มที่เป็นลูกค้า ธพว. จากระดับ 58.5 มาอยู่ที่ระดับ 58.2

ผศ.ดร.ธนวรรธน์ กล่าวต่อว่า จาก 3 ดัชนีข้างต้นนำมาสู่ดัชนีความสามารถในการแข่งขันของ SMEs ประจำไตรมาสที่ 4/2562 พบว่า อยู่ที่ระดับ 46.1 ปรับตัวลดลง 0.8 จุด เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา และคาดว่าในไตรมาสที่ 1/2563 จะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 46.6 เมื่อจำแนกตามลักษณะการเป็นลูกค้า พบว่า กลุ่มที่ไม่ได้เป็นลูกค้า ธพว. ดัชนีความสามารถในการแข่งขัน ลดลงจากระดับ 39.5 มาอยู่ที่ 38.5 ส่วนลูกค้า ธพว. ดัชนีความสามารถในการแข่งขัน จากระดับ 54.1 มาอยู่ที่ 53.5

สำหรับผลสำรวจความต้องการความช่วยเหลือ สนับสนุนหรือพัฒนากิจการจากภาครัฐ กลุ่มตัวอย่างระบุว่า ด้านการสนับสนุนและการพัฒนาเศรษฐกิจ เช่น นโยบายภาครัฐ การส่งเสริมด้านเงินลงทุน การส่งออก ราคาน้ำมัน การกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ และการลดค่าครองชีพ ด้านการส่งเสริมธุรกิจ เช่น ส่งเสริมธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สร้างความเชื่อมั่นในการทำธุรกิจ สนับสนุนธุรกิจชุมชน ช่องทางจัดจำหน่ายสินค้าทั้งในและต่างประเทศ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ด้านสินเชื่อ เช่น ค่าธรรมเนียมต่างๆ ของธนาคาร การเข้าถึงสินเชื่อ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยธนาคาร ขั้นตอนในการขอสินเชื่อ และวงเงินในการกู้ยืม ด้านภาษี เช่น การลดอัตราภาษี ปรับโครงสร้างภาษีให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม การยกเว้นภาษี และการเก็บภาษีซ้ำซ้อน  

ด้านองค์ความรู้และเทคโนโลยี เช่น สนับสนุนทุนเทคโนโลยี การพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ และการจัดอบรมความรู้ทางด้านเทคโนโลยี และด้านการท่องเที่ยว เช่น ส่งเสริมและกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ สร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนและนักท่องเที่ยว และสนับสนุนงบสำหรับการท่องเที่ยว

สิ่งสำคัญของผลสำรวจครั้งนี้ สะท้อนว่า ผู้ประกอบการ SMEs ไทย ยังมีความเชื่อว่า สถานการณ์เศรษฐกิจและธุรกิจของ SMEs ในช่วง 3 เดือนข้างหน้า หรือไตรมาส 1/2563 น่าจะปรับดีขึ้น อันเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และส่งเสริมเอสเอ็มอีของภาครัฐที่ออกมาแล้ว และกำลังทยอยออกมาเพิ่มเติมต่อเนื่อง เช่น มาตรการต่อเติม เสริมทุน SMEs สร้างไทย เป็นต้น รวมถึง การลงทุนภาครัฐ จะมีส่วนสำคัญทั้งทางตรงทางอ้อมให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ช่วยให้สถานการณ์ธุรกิจของเอสเอ็มอีปรับตัวดีขึ้น

นายสมานพงษ์ เกลี้ยงลํายอง รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank กล่าวว่า  จากผลสำรวจดังกล่าว เห็นได้ชัดเจนว่า กลุ่มเอสเอ็มอีที่เป็นลูกค้า ธพว. ค่าเฉลี่ยดัชนีทุกด้านสูงกว่ากลุ่มที่ไม่ได้เป็นลูกค้าของ ธพว. เนื่องจาก ธพว. มีนโยบายหลักในการเติมความรู้คู่ทุน นอกเหนือจากให้สินเชื่อดอกเบี้ยถูกแล้ว ยังเสริมด้วยการพัฒนาธุรกิจควบคู่ไปด้วย ทำให้ผู้ประกอบการมีศักยภาพ สามารถปรับตัวอยู่รอดได้ในสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน เช่น จัดอบรมการทำตลาดออนไลน์ บริหารจัดการต้นทุนธุรกิจ แนะนำการทำบัญชีเดียว เป็นต้น  

อีกทั้ง ช่วยขยายตลาดใหม่เพิ่มยอดขาย เช่น พาออกงานตลาดนัด "SME D ยกกำลัง 3" ที่ธนาคารจัดขึ้นเป็นประจำทุกเดือน โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ซึ่งเดือนมกราคม นี้ จัดระหว่างวันที่ 23-24 มกราคม 2563  ณ ลานอเนกประสงค์ ชั้น 1 สำนักงานใหญ่ SME D Bank  อีกทั้ง พาเปิดตลาดอีคอมเมิร์ซ ผ่านแพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์ชื่อดัง อย่าง Thailandpostmart.com Shopee และ Lazada  เป็นต้น

ทั้งนี้ ดัชนีสถานการณ์ธุรกิจ SMEs และดัชนีความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ SMEs จัดทำโดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่วมกับ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank สำรวจความเห็นจาก 1,233 ตัวอย่างทั่วประเทศ โดยสำรวจ 3 ดัชนี ได้แก่ 1.ดัชนีสถานการณ์ธุรกิจ SMEs (SMEs Situation Index) 2.ดัชนีความสามารถในการทำธุรกิจฯ (SMEs Competency Index) และ 3.ดัชนีความยั่งยืนของธุรกิจ SMEs (SMEs Sustainability Index) นำมาประมวลให้เห็นถึงดัชนีความสามารถในการแข่งขันของ SMEs (SMEs Competitiveness Index)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :