ตามข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ ประจำวันที่ 30 ม.ค. 2563 ระหว่างสกุลเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ อยู่ที่ 31.198 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งนับเป็นการอ่อนค่าลงมาค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นในภูมิภาค
นายจิตติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้สถานการณ์เงินบาทอ่อนลงถึงประมาณร้อยละ 3.5 และอาจเรียกได้ว่าอ่อนที่สุดในภูมิภาคมากจากปัจจัยหลัก 3 ประการ
โดยปัจจัยแรกคือการเข้ามาเก็งกำไรของนักลงทุนชาวต่างชาติกับสัญญาการเข้าซื้อบริษัทต่างชาติของคนไทย ซึ่งคาดว่าจะสามารถกำจัดปัจจัยเก็งกำไรนี้ได้ในประมาณเดือนหน้า ขณะที่ปัจจัยที่สอง คือสถานการณ์การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2563 ซึ่งยังหาทางออกไม่ได้
จิตติพล อธิบายเพิ่มว่า ปัจจัยที่ 1 และ 2 รวมกันเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 50 ของปัจจัยบั่นทอนค่าเงินทั้งหมด ขณะที่ปัจจัยที่ 3 ซึ่งมีผลถึงครึ่งหนึ่งของสถานกาณ์เงินบาท คือการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่พึ่งการท่องเที่ยวเป็นหลัก ขณะที่ฝั่งภาคการส่งออกก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักเช่นเดียวกัน
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นโคโรนา อาจทำร้ายเศรษฐกิจได้ถึง ร้อยละ 0.3 - 0.5 หากปัญหาการแพร่ระบาดสามารถควบคุมได้ภายในระยะเวลา 3 เดือน ซึ่งหมายความว่า อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ที่กระทรวงการคลังประเมินไว้ราวร้อยละ 2.8 จะเหลือเพียง ร้อยละ 2.3 - 2.5 เท่านั้น
จิตติพล ชี้ว่า หากมองในแง่ที่ดีที่สุด หากการระบาดของไวรัสจบลงภายใน 3 เดือน ผลกระทบน่าจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 0.3 - 0.5 ของจีดีพี โดยคิดจาก เม็ดเงินราว 1 ใน 4 ที่ควรได้จากนักท่องเที่ยวจีน คือประมาณ 500,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม จิตติพล กล่าวว่า สถานกาณ์อาจจะไม่แย่ขนาดนี้หากเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของไทยมีความเข้มแข็งกว่าที่เป็นอยู่ หรือการมีงบประมาณเบิกจ่ายในปี 2563 ตามปกติ โดยแม้ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะกล่าวว่า รัฐบาลทีความพร้อมรองรับทุกสถานการณ์ แต่จิตติพล ก็ชี้่ว่า เงินสำรองของประเทศไทยมีแค่ 500,000 ล้านบาท ขณะที่กิจกรรมการใช้จ่ายของประเทศมีถึง 15 ล้านล้านบาท จึงเป็นไปได้ยาก ที่รัฐบาลจะมีเงินทุนสำรองเพียงพอในการกระตุ้นเศรษฐกิจ
ด้วยปัจจัยข้างต้น แม้ธนาคารกลางของสหรัฐฯ หรือ เฟด จะคงอัตราดอกเบี้ยในช่วงร้อยละ 1.5 - 1.75 ซึ่งทำให้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนลง ก็ไม่สามารถทำให้เงินบาทของไทยอ่อนลงได้
จิตติพล กล่าวสรุปว่า อย่างดีที่สุด คือรอประมาณ 3 - 4 เดือน เพื่อให้ผ่านสภาวะดังกล่าว แล้วค่อยมาประเมินว่าประเทศเสียหายไปทั้งหมดเท่าไหร่ ในเงื่อนไขว่าสถานการณ์ต่างๆ เหล่านี้ จะจบลงในช่วงไตรมาสแรก