มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับคณะรัฐศาสตร์ สถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตย และศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม คณะเศรษฐศาสตร์ จัดเวทีเสวนา Thammasat Resolution Talk ครั้งที่ 3 ในหัวข้อ การแก้ปัญหาคอร์รัปชัน
บรรยง ชี้ คอร์รัปชัน คือการปล้นประชาชน
นายบรรยง พงษ์พาณิช ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันแห่งประเทศไทย กล่าวว่า คอร์รัปชันสามารถแบ่งได้เป็นสามประเภท ประเภทแรกคือ การปล้นเอาดื้อ ๆ เช่น การโกงโฉนดที่ดินหรือการโกงภาษีมูลค่าเพิ่ม ประเภทที่สอง คือ การจ่ายค่าน้ำร้อนน้ำชาแก่เจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อไม่ต้องปฏิบัติตามกฏระเบียบหยุมหยิม และประเภทที่สาม คือ ภาคเอกชนจ่ายเงินเพื่อกำจัดคู่แข่งในการแสวงหาโครงการของรัฐ ซึ่งถึงแม้จะมีจำนวนน้อยแต่ค่าเสียหายเยอะมาก ซึ่งการจ่ายเงินเป็นการซื้อหาความได้เปรียบ สร้าง monopoly (การผูกขาด) ในการล็อกสเปกการขายสินค้าให้ภาครัฐ
นายบรรยง กล่าวว่า ประเทศไทยมีการขยายตัวของรัฐสูงมากตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี 2540 โดยมีการขยายทั้งในเชิงงบประมาณ และขยายเชิงบทบาท เช่น หน้าที่ของข้าราชการ ให้ข้าราชการเป็นผู้สอนภาคเอกชนทำธุรกิจ SME เป็นต้น และการขยายตัวเชิงอำนาจ โดยการเพิ่มกฏหมายกฎระเบียบ ซึ่งเป็นเรื่องสวนทางโลก ดังนั้น การลดคอร์รัปชันจะคู่ขนานไปกับการลดขนาดของอำนาจรัฐ และเรื่องคอร์รัปชันเป็นเรื่องของการเปลี่ยนความคิด ต้องปลูกฝังว่าการคอร์รัปชันคือการปล้นประชาชนทุกคน มิใช่เพียงแค่การปล้นชาติ
วันชัย ระบุ 'คสช.' อ้างปราบโกง แต่ควบคุมการตรวจสอบ
นายวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ บรรณาธิการที่ปรึกษานิตยสารสารคดี ได้ยกตัวอย่างกรณีการต่อใบอนุญาตทำงานในเมืองไทยของคนต่างด้าว โดยปัจจุบันนี้มีรถตู้รับคนต่างด้าวไปต่ออายุใบอนุญาตที่ จ.สระแก้ว แถวโรงเกลือ โดยมีค่าใช้จ่ายหนึ่ง 1,000 ทุกหกเดือน แต่ในหนังสือเดินทางกลับเป็นการลงตราของด่านตรวจคนเข้าเมือง จ.หนองคาย และอีกกรณีหนึ่งที่ สนช. อนุมัติงบประมาณปี 2562 กว่า 3 ล้านล้านบาท ภายในเวลาเพียงสามชั่วโมงโดยไม่มีการซักถามตรวจสอบ
นายวันชัยกล่าวว่า สองกรณีนี้แสดงให้เห็นว่าการตรวจสอบคือหัวใจของการต่อต้านคอร์รัปชัน ทั้งผ่านองค์กรอิสระ สื่อมวลชน และภาคประชาชน แต่ทุกวันนี้องค์กรอิสระถูกเลือกจาก สนช. ซึ่ง สนช. ถูกเลือกจากผู้มีอำนาจในบ้านเมือง การตรวจสอบมีตลอด แต่ไม่ครอบคลุมทุกคนทุกฝ่าย ซึ่งเป็นความฉลาดของรัฐชุดนี้ สังคมตั้งคำถามเกี่ยวกับโครงการจัดซื้อเรือเหาะ อุทยานราชภักดิ์ และการตั้งบริษัทในค่ายทหารของลูกชายนายทหาร โดยคอร์รัปชันเป็นข้ออ้างในการทำรัฐประหารตั้งแต่ปี 2490 แต่สถานการณ์ยังเหมือนเดิม
นายวันชัยกล่าวว่า ในสมัยที่ตนเคยบริหารสถานีโทรทัศน์ มีการยกหูโทรศัพท์จากผู้มีอำนาจไม่ให้ตนนำเสนอข่าวในหลายเรื่อง โดยประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 97 ทำให้สื่อมวลชนปกป้องตัวเอง ท่ามกลางการแข่งขันที่สูงมากอยู่แล้ว จึงไม่อยากมีปัญหาจากการตรวจสอบรัฐบาลอีก
ช่วงเปลี่ยนผ่านจากอำนาจนิยมสู่ประชาธิปไตยสอบโกงยาก
ด้าน ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เห็นว่าการพัฒนาประชาธิปไตย และต่อต้านคอร์รัปชันต้องไปด้วยกัน โดยตั้งข้อสังเกตว่า ในช่วงเปลี่ยนผ่าน เช่น จากระบอบอำนาจนิยม ไปสู่ประชาธิปไตย คอร์รัปชันจะสูง เพราะกฏกติกายังไม่แน่นอน กลไกตรวจสอบยังไม่ถูกสร้าง และเป็นช่วงผู้มีอำนาจเก่าขัดขวางการสร้างระบบตรวจสอบ แต่หากเราปล่อยให้ประชาธิปไตยทำงานไม่มีการแทรกแซง กลไกจะทำงาน เนื่องจากระบอบประชาธิปไตยจะมีผู้เล่นเยอะและไม่มีการผูกขาดอำนาจ ดังนั้นเมื่อประชาธิปไตยลงตัวและลงหลักปักฐาน มันจะสู้คอร์รัปชันได้ดีกว่าระบอบอำนาจนิยม
ผศ.ดร.ประจักษ์ กล่าวถึงตารางคอร์รัปชันอินเดกซ์ ในอันดับสามสิบประเทศแรกที่มีความโปร่งใสมักมีประชาธิปไตยและประเทศอันดับล่าง ๆ เช่นในแอฟริกาและตะวันออกกลางมักมีการผูกขาดอำนาจสูง สำหรับประเทศสิงคโปร์ซึ่งมีความโปร่งใสที่สุดในอาเซียน ว่า แม้จะปกครองโดยพรรคการเมืองพรรคเดียวมายาวนาน แต่ก็ขึ้นสู่อำนาจผ่านการเลือกตั้ง มีการสร้างความชอบธรรมผ่านเศรษฐกิจที่ดี และการสร้างความโปร่งใสของภาครัฐ
ดังนั้นทางพรรคจะไม่มีคอร์รัปชันอื้อฉาว เพราะต้องการชนะการเลือกตั้ง ดังนั้น ถึงแม้ว่าสิงคโปร์จะเป็นประเทศกึ่งเผด็จการ แต่ก็ยังต้องแสวงหาความชอบธรรมจากประชาชนในการเลือกตั้ง ไม่ใช่อยู่ไปได้เรื่อย ๆ และระบบราชการของสิงคโปร์มีประสิทธิภาพ กลไกการตรวจสอบดี ดังนั้น ประเทศไทยต้องแก้ระบบราชการด้วย
โดยประเทศไทยต้องเปลี่ยนมายาคติ อย่าแสวงหาอัศวินขี่ม้าขาวมาปราบคอร์รัปชัน เพราะจะนำไปสู่การรวมศูนย์ผูกขาดอำนาจ เอื้อพวกพ้อง ประเทศไทยมักแยกการต่อสู้เพื่อเสรีภาพสื่อและมนุษยชนออกจากการต่อต้านคอร์รัปชัน แต่แท้จริงแล้ว ในอินโดนีเซีย ไม่แยกโจทย์เหล่านี้ออกจากกัน และปัจจุบันอันดับการสู้คอร์รัปชันดีมากขึ้นเรื่อยๆ
ในอินโดนีเซียมีการสร้างประชาธิปไตยที่ยั่งยืนกับกลไกตรวจสอบคอร์รัปชัน สร้างสื่อและภาคประชาสังคมที่เข้มแข้ง จึงเป็นไตรภาคีที่ทำงานร่วมกัน และคานอำนาจกัน เนื่องจากไม่มีปัญหาว่าใครเป็นคนของใคร สร้างประชาธิปไตยจากภายในองค์กร ในขณะที่ภายใต้รัฐบาลของเรา ซึ่งจะกลับมาตรวจสอบ คสช.ได้อย่างไรเมื่อองค์กรตรวจสอบมาจาก คสช.
ด้าน ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวถึงงานวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม ซึ่งพบว่า บุคคลหนึ่งจะมีความรู้สึกผิด (guilt) ส่วนบุคคลในกรณีที่ผลประโยชน์ตอบแทนน้อย แต่เมื่อผลตอบแทนมาก บุคคลจะมีความละอายใจ (shame) สูง ซึ่งแสดงว่าการแสดงสำนึกของความรับผิดชอบ (accountability) นั้น เปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์และเวลา การสร้างความสำนึกต้องสร้างความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมเนื่องจากมีส่วนสร้างความรู้สึกผิดและความละอายใจ