ไฮโก มาส (Heiko Maas) กลายเป็นชื่อที่คนไทยหลายคนเริ่มรู้จักในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ในฐานะรัฐมนตรีต่างประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี โดยชื่อของ 'มาส' เริ่มเป็นที่รู้จักจากการตอบกระทู้ถามของ ส.ส.พรรคกรีนในรัฐสภา เมื่อช่วงต้นเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา กระทั่งการแสดงท่าทีล่าสุดของรัฐบาลเยอรมนีต่อสถานการณ์การเมืองในไทย
"สำหรับผมความยุติธรรมคือสิ่งที่ผมต่อสู้มาตลอดเส้นทางการเป็นนักการเมือง นั่นคือสิ่งที่ผมยืนหยัด" ข้อความตอนหนึ่งในเว็บไซต์ส่วนตัว heiko-maas.de ระบุ
'ไฮโก มาส' รัฐมนตรีต่างประเทศผู้นี้คือใคร
มาส เกิดวันที่ 19 ก.ย. 2509 (ค.ศ.1966) เคยทำงานเป็นพนักงานโรงงานผลิตรถยนต์ฟอร์ดในรัฐซาร์ลันด์ บ้านเกิดของเขา ก่อนจะเข้าศึกษาด้านกฎหมายที่มหาวิทยาลัย ซาร์ลันด์ สอบผ่านวิชากฎหมายขั้นต้น เริ่มต้นเข้าสู่เส้นทางการเมืองจากการเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติรัฐซาร์ลันด์ ระหว่างปี 2537-2539 และ 2542-2556 ภายใต้สังกัดพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมนี (SPD)
ปี 2539 สอบผ่านวิชากฎหมายรัฐขั้นที่สอง จากนั้นเข้ารับตำแหน่งปลัดกระทรวงสิ่งแวดล้อม พลังงานและคมนาคม รัฐซาร์ลันด์ ระหว่างปี 2539-2541 มาสเติบโตในเส้นทางการเมืองท้องถิ่นของรัฐซาร์ลันด์ในหลายตำแหน่ง ทั้งรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม พลังงานและคมนาคมแห่งรัฐซาร์ลันด์, สมาชิกประธานบริหารพรรค SPD รัฐซาร์ลันด์, รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ แรงงานและขนส่ง และรองมุขมนตรีแห่งรัฐซาร์ลันด์ (Deputy Minister-President of Saarland)
ในวัย 47 ปี มาสเติบโตสู่เส้นทางการเมืองระดับประเทศด้วยการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมและคุ้มครองผู้บริโภค ระหว่างปี 2556-2561 ภายใต้รัฐบาล อังเกลา แมร์เคิล กระทั่งเดือน มี.ค.2561 ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี จนถึงปัจจุบัน
ในช่วงที่มาสดำรงตำแหน่งรัฐมนตรียุติธรรม ได้ตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของบรรดากลุ่มการเมืองขวาจัดอย่างพรรค AfD และกลุ่ม Pegida ซึ่งเป็นขบวนการกลุ่มขวาจัดของเยอรมนีที่ต่อต้านผู้นับถืออิสลามและกลุ่มผู้อพยพในยุโรป จากการที่เขาผลักดันกฎหมายต่อต้านการใช้คำพูดเกลียดชังบนโลกโซเชียล โดยกลุ่มฝ่ายขวาได้โจมตีมาสว่า กฎหมายดังกล่าวลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นซึ่งเป็นรากฐานของวัฒนธรรมประชาธิปไตยของยุโรป
ช่วงที่เป็นรัฐมนตรียุติธรรม มาสยังผลักดันให้สังคมเยอรมนียุติยอมรับอย่างไม่เป็นทางการของวัฒนธรรมมีคู่ครองหลายคน (Polygamy) โดยเฉพาะจากกลุ่มผู้อพยพชาวมุสลิมบางส่วนในเยอรมนี รวมถึงการมีคู่ครองที่ยังเป็นเด็กซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ
มาสเคยให้สัมภาษณ์กับ Bild สื่อท้องถิ่นเมื่อปี 2559 ว่า
“จะไม่มีคนใดที่เข้ามาในประเทศเรามีสิทธิด้านวัฒนธรรม หรือความเชื่อทางศาสนา อยู่เหนือกฎหมายของเรา”
หนึ่งในนักการเมืองร่วมพรรคเดียวกับมาส เผยว่าส่วนตัวเขาไม่ใช่คนที่พูดอะไรออกไปโดยไม่คิด โดยหลายครั้งมาสได้ใช้พื้นที่บนทวิตเตอร์ @HeikoMaas เคลื่อนไหวชี้แจงตอบโต้เรื่องต่างๆ อย่างตรงไปตรงมา หลายครั้งเขาทวีตข้อความเหล่านั้นด้วยตัวเอง “การทูตแบบพูดตรง” ของมาสจึงไม่เพียงสะท้อนตัวตนของเขา แต่ยังสะท้อนนิสัยตรงไปตรงมาในแบบชาวเยอรมันด้วย
ที่มา : DW , BBC , was-war-wann