วันที่ 17 ม.ค. 2567 ไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 ครั้งที่ 1/2567 ว่า วันนี้เป็นการประชุมเพื่อพิจารณาแต่งตั้งคณะอนุกรรมการวิเคราะห์และปรับปรุงสูตรการคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ โดยพิจารณาสูตรที่เหมาะสมกับสภาพปัจจุบัน เนื่องจากสูตรเก่าเราไม่ได้พิจารณาปรับใหม่มาเป็นระยะเวลานาน 10 ปี ซึ่งคณะอนุฯ มีจำนวน 17 คน คือจากภาครัฐ แต่งตั้งให้รองปลัดกระทรวงเป็นประธาน มีผู้แทนจากกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงพาณิชย์ สภาพัฒน์ กระทรวงการท่องเที่ยว เพื่อรวมกับของฝ่ายนายจ้าง 5 คนฝ่ายลูกจ้าง 5 คน รวมเป็น 17 คน เพื่อพิจารณาศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน
เพื่อใช้ประกอบในการปรับปรุงสูตรใหม่รวมถึงวิเคราะห์และทบทวนตัวแปรในเชิงปริมาณและคุณภาพในการนำเสนอ ความเหมาะสมในการคำนวณสูตรอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ให้สอดคล้องกับกรอบแนวทางและหลักเกณฑ์ในการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำ รวมทั้งการจัดทำสูตรค่าจ้างขั้นต่ำเสนอต่อคณะกรรมการค่าจ้าง ตลอดจนการพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ได้รับอยู่ตามมาตรฐานค่าครองชีพใช้จ่าย ที่จำเป็นของลูกจ้าง ตามข้อเท็จจริงตามเศรษฐกิจและสังคม เพื่อกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำตามพื้นที่ด้วย โดยพิจารณารายพื้นที่จังหวัด เช่น ภูเก็ต ชลบุรี พังงา ที่เราเอาความเป็นจริงมาคำนวณ
“เราให้เวลาในการเสนอรายชื่อมาภายใน 7 วัน หลังจากนั้นจะประชุมคณะอนุฯ เพื่อพิจารณาปรับปรุงสูตรการคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ครั้งแรก ในเดือนกุมภาพันธ์ ประมาณวันที่ 20 ก.พ. 2567 และวันที่ 21 ก.พ. 2567 จะมีการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 ครั้งที่ 2/2567 โดยในส่วนของการปรับค่าจ้างใหม่ ว่าจะทันในช่วงเดือนเมษายนหรือไม่นั้นขอดูที่ประชุมของคณะอนุฯออกมาก่อน ซึ่งเราจะพยายามทำให้เร็วที่สุด ในส่วนที่ว่าค่าแรงขั้นต่ำจะถึง 400 บาท หรือไม่นั้น ขอให้คณะอนุฯประชุมก่อน จึงจะสามารถตอบได้” ไพโรจน์ กล่าวท้ายที่สุด