ไม่พบผลการค้นหา
สภาวิศวกร-วสท.-กทม. สำรวจโครงสร้างอาคารไฟไหม้สำเพ็ง ประเมินมูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาท ผู้ว่าฯกฟน. เผยอายุการใช้งานหม้อแปลง 20 ปีแล้ว ยืนยันติดตั้งได้มาตรฐาน

เวลา 09.00 น. เจ้าหน้าที่จากเขตสัมพันธวงศ์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากกระทรวงแรงงาน เดินทางมาเพื่อเตรียมเข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุเพลิงไหม้อาคารพาณิชย์ย่านสำเพ็ง ร่วมกับตำรวจพิสูจน์หลักฐาน และเจ้าหน้าที่จากสภาวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย

อาทิตยา โชคกิจมนัสชัย ผู้อำนวยการเขตสัมพันธวงศ์ เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่ามีอาคารพาณิชย์ได้รับความเสียหายไม่ต่ำกว่า 4 คูหา ซึ่งจากการประเมินมีมูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาท และยอมรับว่า ยังไม่เคยเกิดเหตุรุนแรงแบบนี้ มีผู้เสียชีวิตถึง 2 ราย ซึ่งถือเป็นบทเรียนสำคัญ โดยหลังจากนี้จะให้เจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปเร่งสำรวจสายไฟเก่า เครื่องใช้ไฟฟ้าเก่า และช่วยประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนช่วยกันเป็นหูเป็นตา หากพบจุดที่มีความเสี่ยงก็ให้แจ้งมายังสำนักงานเขตได้ รวมถึงจะเชิญการไฟฟ้ามาประชุมร่วมกันว่าให้ไปตรวจสอบว่าในพื้นที่ มีหม้อแปลงไฟฟ้าที่เก่าเกินอายุที่สมควร คือ มากกว่า 20 ปี หรือไม่ เพื่อดำเนินการซ่อมแซมต่อไป

ด้าน โสภา เกียรตินิรชา ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ขณะนี้ตรวจสอบพบว่าผู้เสียชีวิตทั้ง 2 ราย มีการทำประกันสังคมไว้ รวมถึงรายที่เป็นแรงงานข้ามชาติด้วย จึงจะได้รับเงินชดเชยจำนวน 5 หมื่นบาทต่อราย และยังมีเงินทดแทนตามระยะเวลาการทำงาน ที่กระทรวงแรงงานจะจ่ายให้ 70% ของค่าแรง โดยต้องไปตรวจสอบระยะเวลาการทำงานของทั้ง 2 คนก่อน

ไฟไหม้สำเพ็ง

จากนั้น ในเวลา 10:00 น. เจ้าหน้าที่วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) ได้เข้าไปตรวจสอบอาคารพาณิชย์ที่ถูกไฟไหม้เมื่อวานนี้ หลังประเมินแล้วว่า โครงสร้างของอาคารที่เห็นภายนอก สามารถให้เจ้าหน้าที่ทั้งสำนักโยธา และเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานเข้าไปสำรวจ และเก็บหลักฐานภายในอาคารได้ 

ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า อาคารภายในเสียหายเกือบ 100 เปอร์เซนต์ พบห้องที่ 1 และ 2 ซึ่งเป็นร้านจำหน่ายถึงพลาสติก เป็นจุดที่ได้รับความเสียหายมากที่สุด เพราะผนังของอาคารเป็นอิฐก่อเสริมโครงเหล็ก เพื่อทำเป็นชั้นของ เมื่อเจอความร้อน เหล็กจึงเสียรูป ทำให้พื้นแอ่นตัวลามไปจนถึงชั้น 3 และความร้อนยังแผ่ไปจนถึงผนนังด้านหลังอาคารจนบิดตัวเช่นกัน ส่วนห้องที่ 3 ที่อยู่ใกล้กับหม้อแปลง แต่ความเสียหายไม่มาก เพราะโครงสร้างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก หลังจากนี้ต้องตรวจสอบตามหลักวิศวกรรมเพื่อปรับปรุง 

นอกจาก วสท.ที่ลงพื้นที่แล้ว ยังมี วิลาส เฉลยสัตน์ ผู้ว่าการไฟฟ้านครหลวง กล่าวว่า ยังไม่ยืนยันถึงสาเหตุว่าหม้อแปลงมีปัญหาหรือไม่ ส่วนที่ประชาชนตั้งข้อสังเกตว่าหม้อไฟระเบิด ต้องตรวจสอบโดยละเอียดก่อน แต่โดยปกติแล้ว หม้อแปลงแต่ละลูกจะมีอายุการใช้งานราว 25 ปี ส่วนหม้อแปลงลูกที่เกิดเหตุตรวจสอบพบว่าใช้งานมาแล้ว 20 ปี และเพิ่งตรวจสภาพการใช้งานไปเมื่อกลางปีที่แล้ว พร้อมยืนยันว่า การติดตั้งหม้อแปลงแต่ละจุดเป็นไปตามมาตรฐาน คือห่างจากอาคาร 60 เซนติเมตร ทั้งนี้ เบื้องต้นขอยอมรับในความผิดพลาดไว้ก่อน ส่วนประชาชนจะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย ก็ให้เป็นไปตามกฎหมาย ยืนยันพร้อมเยียวยาผู้เสียและผู้เสียชีวิต 

ไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม. ระบุเบื้องต้นว่า โครงสร้างอาคารมีการดัดแปลงหรือไม่นั้น ต้องไปตรวจสอบใบขออนุญาต แต่ตัวโครงสร้างอาคารไม่สามารถใช้งานได้แล้ว ต้องรื้อถอนทิ้ง โดยต้องทำการค้ำยันป้องกันฝ้าและผนังอาคารทรุดตัว ส่วนตึกพาณิชย์ที่อยู่ตรงหม้อแปลง ความเสียหายน้อย เพราะเป็นอาคารเสริมเหล็ก หลังจากนี้ จะให้เจ้าหน้าที่กรมฯมาประเมินกับสำนักงานเขตสัมพันธวงศ์ว่า จะต้องใช้ระยะเวลารื้อถอนนานเท่าใด แต่ระบุว่าพื้นที่จุดเพลิงไหม้เป็นพื้นที่อันตราย ห้ามบุคคลใดเข้าพื้นที่เด็ดขาด ส่วนประชาชนขอให้อยู่ห่างจากอาคารเท่าที่ทำได้ 

บุษกร แสนสุข ประธานคณะทำงานประสานงานด้านภัยพิบัติจากอัคคีภัย สภาวิศวกร ระบุว่า ครั้งนี้ต้องถอดบทเรียนทั้งการติดตั้งบันไดหนีไฟ การติดตั้งเหล็กดัด โครงสร้างอาคารพาณิชย์ที่ใช้ประกอบกิจการ จะต้องเป็นอาคารที่ไม่เป็นจุดเสี่ยงเกิดอัคคีภัย

ผู้สื่อข่าววอยซ์ ลงพื้นที่พูดคุยกับประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนและพยานผู้เห็นเหตุการณ์เพลิงไหม้

กำแพง วรสาน ผู้ประกอบกิจการรถเข็นขายอาหาร ใกล้กับบริเวณหม้อแปลงจุดเกิดเหตุ เปิดเผยว่า ในช่วงก่อนเกิดเหตุ ตนเห็นว่ามีคนของหน่วยงานหนึ่งเข้ามาทำในส่วนของหม้อแปลง แต่ไม่ทราบว่าหน่วยงานไหน ผ่านไปสักหนึ่ง สังเกตเห็นว่ามีกลุ่มควันออกมา แต่คนของหน่วยงานดังกล่าว บอกว่า “ไม่ต้องตกใจ” ประมาณหนึ่งชั่วโมงหลังจากนั้น ในช่วงที่ร้านค้าต่างๆทยอยเก็บของ หม้อแปลงก็ระเบิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้คนต่างหนีเอาชีวิตรอด ส่วนตัวก็ไม่ได้นำสิ่งใดติดตัวออกมาจากจุดเกิดเหตุเลย 

ยอมรับว่า หลังเกิดเหตุขึ้น การทำงานของเจ้าหน้าที่จากหลากหลายหน่วยงานเป็นไปโดยรวดเร็ว ตนได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบด้านการเยียวยาความเสียหายแล้ว ตอนนี้ที่ทำมาหากินไม่เหลืออะไรเลย ขอเรียกร้องให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้การช่วยเหลือเพราะตอนนี้เดือดร้อนมาก

กำแพง กล่าวถึงการจัดระเบียบสายไฟในพื้นที่ด้วยว่า ปกติจะพาดผ่านระโยงระยางเต็มพื้นที่ ซึ่งได้แจ้งปัญหาไปหลายครั้ง แต่ก็ไม่ได้รับการแก้ไขให้เรียบร้อยเสียที

ขณะที่ เกียรติศักดิ์ แซ่แต้ เจ้าของกิจการจำหน่ายอุปกรณ์ของใช้สำหรับเด็กที่ไฟไหม้วอดทั้งอาคาร กล่าวว่า ขณะเกิดเหตุ โชคดีที่เป็นวันหยุดของร้าน ตนกำลังพักผ่อนกับครอบครัว ได้รับแจ้งให้เข้ามาดูเหตุ รับว่า ตึกนี้บิดาของตนเป็นผู้ซื้อ ดำเนินกิจการมา 20 กว่าปีแล้ว ซึ่งตอนนี้เกิดความเสียหายต่อโครงสร้างของตึกทั้งหมด ไม่สามารถรีโนเวทได้แล้ว อาจจะต้องทุบเพื่อสร้างใหม่ ส่วนมูลค่าความเสียหายของธุรกิจประเมินแล้วมากกว่า 10 ล้านบาท

ทั้งนี้ ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องของหม้อแปลงระเบิดในพื้นที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง แต่เจ้าหน้าที่ก็เข้ามาดูแลตลอด ซึ่งในครั้งนี้ มองว่า เหตุเพลิงไหม้ไม่น่าเกิดขึ้นด้วยซ้ำ เพราะเจ้าหน้าที่ได้เข้ามาดูแล้วตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุ เป็นที่น่าแปลกใจที่ปล่อยให้เกิดขึ้นได้ หากเจ้าหน้าที่มีความรอบคอบหรือรัดกุมกว่านี้ น่าจะแจ้งเตือนให้ประชาชนเฝ้าระวังถึงความผิดปกติของตัวหม้อแปลง และระงับการใช้ไฟฟ้าไปเลย

จากนี้คงต้องดำเนินการเรียกร้องความรับผิดชอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หาก การไฟฟ้านครหลวง สรุปสาเหตุว่ามาจากหม้อแปลงทำงานผิดปกติ ก็คงต้องขอให้มีการชดเชยค่าเสียหายต่อไป ยืนยันพร้อมพูดคุยไกล่เกลี่ย