ไม่พบผลการค้นหา
เมียนมาแต่งตั้งประธานสภาผู้แทนราษฎรคนใหม่ เป็นชาวกะฉิ่นที่มีประวัติพัวพันค้ายาเสพติด และเป็นมิตรกับทหารอย่างแน่นแฟ้น สร้างความกังวลว่าทหารกำลังเริ่มรุกคืบในเกมการเมืองพม่าอีกครั้ง ขณะที่ประธานสภาฯคนเก่าถูกมองว่าจะขึ้นไปดำรงตำแหน่งต่อจากประธานาธิบดีที่เพิ่งลาออก

การตัดสินใจลาออกของนายติ่น จ่อ ประธานาธิบดีเมียนมาคนแรกในรอบกว่า 50 ปีที่มาจากการเลือกตั้งอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม อาจทำให้นานาชาติแปลกใจ แต่สำหรับผู้ติดตามการเมืองเมียนมา ก็ไม่ถือว่าเกินความคาดหมาย เพราะเป็นที่คาดการณ์กันมานานหลายเดือนแล้วว่าสุขภาพที่ย่ำแย่อาจทำให้นายติ่น จ่อ ไม่สามารถดำรงสถานะประธานาธิบดีในนามแทนนางอองซาน ซูจี ได้อีกนานนัก

สำหรับเหตุผลในการลาออกของนายติ่น จ่อ นางซูจียืนยันว่าเป็นเรื่องของสุขภาพ โดยก่อนหน้านี้ก็เป็นที่ทราบกันดีว่านายติ่น จ่อมีอาการป่วย และนางซูจี รวมถึงสมาชิกอาวุโสของพรรค NLD คนอื่นๆ ก็เตือนให้เขางดเว้นการออกงานต่างๆตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา เนื่องจากอาการของเขายังไม่ดีขึ้น แม้จะไปรับการรักษาที่ไทยและสิงคโปร์ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2017 

การลาออกของเขายังทำให้เกิดความเคลื่อนไหวที่สำคัญตามมาในรัฐสภา คือการลาออกของประธานรัฐสภา วิน มยินท์

รัฐสภาเมียนมาเพิ่งเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรคนใหม่ ซึ่งจะดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภาด้วย ได้แก่นายทิ ขุน มยัต รองประธานสภาฯคนที่ 2 เพื่อมาดำรงตำแหน่งแทนนายวิน มยินท์ ประธานสภาฯคนเดิมที่ลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมา พร้อมกับการลาออกจากตำแหน่งของนายติ่น จ่อ ซึ่งทั้งนายติ่น จ่อ และนายวิน มยินท์ ต่างก็เป็นสมาชิกอาวุโสของพรรค NLD และเป็นคนสนิทของนางอองซาน ซูจี มุขมนตรีแห่งรัฐของเมียนมา และผู้นำพรรค NLD 

นายทิ ขุน มยัต เป็นชาวกะฉิ่น ซึ่งอาจทำให้มองได้ว่าการเลือกเขาขึ้นมาดำรงตำแหน่งสำคัญอย่างประธานรัฐสภา เป็นการให้เกียรติกลุ่มชาติพันธุ์ อย่างไรก็ตาม นายทิ ขุน มยัต เป็นอดีตส.ส.จากพรรค USDP ของทหาร มีความสนิทสนมเป็นการส่วนตัวกับนายฉ่วย มาน อดีตนายทหารคนสำคัญที่กุมอำนาจสูงสุดอันดับ 3 ในรัฐบาลเผด็จการทหารของพลเอกอาวุโสตาน ฉ่วย และเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร รวมถึงหัวหน้าพรรค USDP ในสมัยอดีตประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ก่อนที่เขาจะถูกปลดจากตำแหน่งเนื่องจากไปร่วมมือใกล้ชิดกับนางซูจีมากเกินไป

นอกจากนี้ นายทิ ขุน มยัต ยังเป็นผู้ที่มีข่าวอื้อฉาวในเมียนมาว่าเกี่ยวพันกับการค้ายาเสพติดในภาคเหนือของรัฐฉาน ทำให้การตัดสินใจของพรรค NLD ในครั้งนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่าไม่เหมาะสม นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดความกังวลใจว่าทหารกำลังจะเข้ามามีบทบาทมากกว่าเดิมในรัฐสภาหรือไม่ ทั้งที่พรรค NLD ครองเสียงข้างมากถึงร้อยละ 80 ในสภาผู้แทนราษฎร 

AP18080204983852.jpg

จากประธานรัฐสภาสู่ประธานาธิบดี?

สำหรับการโหวตเลือกประธานาธิบดีคนใหม่ จะมีขึ้นภายในวันที่ 28 มีนาคมนี้ หรือ 7 วันหลังการลาออกของประธานาธิบดี ตามกฎหมายเมียนมา โดยรัฐสภาจะต้องเลือกตั้งผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตว่าการที่นายวิน มยินท์ ลาออกจากตำแหน่งประธานรัฐสภา อาจเป็นการเตรียมตัวขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนต่อไป ซึ่งถือว่าเขาเป็นคนที่เหมาะสม เนื่องจากมีคุณสมบัติคล้ายกับนายติ่น จ่อ ไม่ว่าจะเป็นความสุขุม ใจเย็น มีบุคลิกภาพนุ่มนวล ประนีประนอม หรือความเป็นคนใกล้ชิดที่นางซูจีไว้วางใจมากที่สุด แม้ว่านายวิน มยินท์ จะไม่ได้รับความเคาระจากทหารมากเท่านายติ่น จ่อ ก็ตาม