นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์และโฆษกกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคมะเร็งเป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุขของทุกประเทศทั่วโลก กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขได้เล็งเห็นและตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาโรคมะเร็งซึ่งปัจจุบันเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนไทย จึงได้จัดให้โรคมะเร็งเป็นหนึ่งในโรคที่อยู่ในแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ โดยมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อลดอัตราการป่วย ลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง และลดระยะเวลาการรอคอยการรักษา ตลอดจนการพัฒนามาตรฐานสถานบริการให้มีมาตรฐานเพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ปัจจุบันมีการนำนวัตกรรมด้านการรักษาโรคมะเร็งที่ก้าวหน้า การรักษามะเร็งที่เป็นเป้าหมายเฉพาะจุด มีผลข้างเคียงน้อยลง และได้ผลการรักษาที่ดีขึ้น จึงได้มีการจัดหาเครื่องฉายรังสีศัลยกรรม Cyberknife รุ่นล่าสุด เครื่องแรกของประเทศไทยมารักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงบริการการฉายรังสีที่มีคุณภาพสูง และมีผลการรักษาที่ดี
นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า มะเร็งปอด และมะเร็งตับ เป็นมะเร็งที่พบเป็นอันดับต้นๆในคนไทย ทั้งเพศหญิงและเพศชาย การฉายรังสีในมะเร็งกลุ่มนี้มีความเสี่ยงสูง มีโอกาสเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรง เนื่องจากเป็นอวัยวะที่มีการเคลื่อนที่ตลอดเวลาตาม การหายใจ จึงเป็นข้อจำกัดอย่างมากในการฉายรังสี
ทั้งนี้ เครื่องฉายรังสี Cyberknife เป็นเครื่องฉายรังสีในลักษณะของแขนกล สามารถฉายรังสีได้หลายทิศทาง เคลื่อนที่ได้เกือบรอบตัวผู้ป่วย ความพิเศษของเครื่องรุ่นนี้มีการเพิ่มระบบอุปกรณ์ในการกำบังรังสีและกำหนดรูปร่าง เพื่อปรับความเข้มของลำรังสี ทำให้สามารถสร้างรูปร่างของลำรังสีในรูปแบบต่าง ๆ ได้อย่างอิสระ รวมถึงเพิ่มระบบติดตามเป้าหมายที่มีการเคลื่อนที่ตามการหายใจ อย่างเช่น ก้อนในปอด ก้อนในตับได้อย่างแม่นยำ นอกจากนั้นยังออกแบบมาเพื่อเทคนิค การฉายรังสีร่วมพิกัด หรือรังสีศัลยกรรมเป็นหลัก ให้ความเข้มของรังสีได้สูง รวดเร็ว มีการกระจายของรังสีไปยังเนื้อเยื่อข้างเคียงน้อย เป็นการรักษาที่มีความซับซ้อน มีความละเอียดสูง
นอกจากนี้ เครื่องฉายรังสีดังกล่าว ยังสามารถใช้เทคนิคการฉายรังสีแบบปรับความเข้มได้ด้วยเช่นกัน ดังนั้น จึงเหมาะสมในการนำมารักษาโรคมะเร็งที่เป็นก้อนขนาดไม่เกิน 6 เซนติเมตร ที่อยู่ในตำแหน่งที่เป็นจุดสำคัญและเป็นอวัยวะที่ไวต่อรังสี เช่น เนื้องอกในสมอง มะเร็งปอด มะเร็งตับในระยะเริ่มต้นที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ หรือมีการกลับมาเป็นซ้ำของมะเร็งในตำแหน่งที่เคยได้รับการฉายรังสีมาก่อน เป็นต้น ส่งผลให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีโอกาสที่จะหายจากโรคมะเร็งมากขึ้น