ไม่พบผลการค้นหา
เลขา ก.ล.ต. คาดภายใน มี.ค. นี้ มีความชัดเจนแนวทางกำกับดูแลการระดมทุนผ่านดิจิทัล โทเคน หรือ ICO ชี้ทำงานควบคู่แบงก์ชาติ-คลัง-ปปง. รับมือเทคโนโลยีการระดมทุนแบบใหม่ พร้อมหาวิธีตัดวงจรหลอกลวงประชาชน

นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ก.ล.ต. เตรียมเสนอผลการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับการกำกับดูแลการระดมทุนด้วยการเสนอขาย digital token ต่อสาธารณชน หรือ ICO (Initial Coin Offerings) ซึ่งเป็นหลักทรัพย์ต่อคณะกรรมการกำกับตลาดทุนและคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (บอร์ด) โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปเกี่ยวกับแนวทางกำกับดูแลภายในเดือน มี.ค. นี้

นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังอยู่ระหว่างพิจารณาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องและความเป็นไปได้ต่าง ๆ สำหรับการวางแนวทางดูแล Cyptocurrency หรือ เงินดิจิทัล เพื่อเสนอต่อคณะทำงานร่วมระหว่างกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และ ก.ล.ต. ต่อไปภายใน 1 เดือน

ทั้งนี้ ไอซีโอเป็นวิธีการระดมทุนโดยการออกดิจิทัลโทเคน ซึ่งผู้สนใจลงทุนจะต้องมีคริปโตเคอเรนซี่เพื่อซื้อดิจิทัลโทเคนดังกล่าว ดังนั้น แม้ไอซีโอและคริปโตเคอเรนซี่จะไม่ใช่สิ่งเดียวกัน แต่ก็มีความเกี่ยวโยงกัน ซึ่งทำให้แนวทางการกำกับดูแลไอซีโอและคริปโตเคอเรนซี่จึงจำเป็นต้องสอดรับกันด้วย

ขณะนี้ มีทั้งผู้สนใจระดมทุนและลงทุนในไอซีโอมากขึ้น ก.ล.ต. จึงเห็นความจำเป็นของการสร้างความชัดเจนในการกำกับดูแลไอซีโอโดยเร็ว เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ที่ไม่สุจริตอาศัยเป็นช่องทางหลอกลวงเงินจากประชาชน อีกด้านหนึ่ง เพื่อเพิ่มความโปร่งใส และสร้างความมั่นใจให้กับทั้งผู้ระดมทุนที่สุจริตและผู้ลงทุน 

รพี สุจริตกุล.jpg

ทั้งนี้ เลขาฯ ก.ล.ต. ย้ำว่า เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีการกำกับดูแลไอซีโอ ผู้ลงทุนในไอซีโอจึงมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับความคุ้มครองและการเยียวยาตามกฎหมาย ส่วนการลงทุนในไอซีโอเป็นการลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพซึ่งแม้มีโอกาสได้รับผลตอบแทนสูงหากโครงการประสบความสำเร็จ แต่ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะสูญเงินลงทุนทั้งจำนวน 

ดังนั้น ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจโครงการที่มาระดมทุน ผลประโยชน์ที่ผู้ลงทุนมีสิทธิได้รับจากดิจิทัลโทเคน โครงสร้างการกระจายดิจิทัลโทเคน และความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียดก่อนตัดสินใจลงทุน รวมทั้งต้องคำนึงถึงความเสี่ยงอื่น ๆ เช่น ความผันผวนของราคาและการขาดสภาพคล่องในการซื้อขายดิจิทัลโทเคน ตลอดจนโอกาสถูกฉ้อโกงหรือหลอกลวงจากผู้มีเจตนาทุจริตด้วย  

นอกจากนี้ เนื่องจากผู้ระดมทุนอาจปรับปรุงข้อมูลในเอกสารประกอบการเสนอขายไอซีโอ (white paper) ได้เสมอ ผู้ลงทุนจึงควรติดตามการเปิดเผยข้อมูลในเอกสารดังกล่าวเป็นระยะด้วย

ด้านนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า คริปโตเคอเรนซี่ เป็นตราสารชนิดหนึ่ง ไม่ใช้สกุลเงิน หรือ currency แม้จะเรียกว่า currency และตามกฎหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย สิ่งนี้ยังไม่ได้รับการรับรองตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม คนที่เกี่ยวข้องกับเงินประเภทนี้มากที่สุดในตอนนี้คือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมดูแลการระดมทุนผ่าน ICO 

"ตอนนี้ ก.ล.ต. ดูเกณฑ์การออกไอซีโออยู่ ซึ่งไม่รู้ว่าจะเรียกว่าเป็นหลักทรัพย์หรือไม่ แต่ก.ล.ต. ต้องร่างระเบียบปฏิบัติขึ้นมาดูแลทั้งเรื่องคริปโตเคอเรนซี่ และ ไอซีโอ ซึ่งยืนยันว่า ประเทศไทยไม่ได้ขัด แต่ต้องมีการกำกับดูแล ต้องมีคนควบคุม เพราะไม่เช่นนั้น อาจเป็นช่องทางฟอกเงิน" นายอภิศักดิ์กล่าว