ไม่พบผลการค้นหา
องค์กรไวล์ดเอด ปล่อยแคมเปญรณรงค์ตัวใหม่สร้างค่านิยมใหม่ งานเลี้ยงมงคลไม่เสิร์ฟ ไม่กินหูฉลาม ภายใต้ชื่อโครงการ #ฉลองไม่ฉลาม ได้ป้อง - ณวัฒน์ มาเป็นทูตให้กับโครงการ

องค์กรไม่แสวงผลกำไร 'ไวล์ดเอด' (WildAid) เผยแพร่โฆษณารณรงค์ชิ้นล่าสุด ‘เบื้องหลังงานแต่งงาน’ มุ่งเน้นสร้างค่านิยมใหม่ไม่เสิร์ฟ ไม่รับประทานเมนูหูฉลามในงานแต่งงาน และงานฉลองต่างๆ ต่อยอดโครงการ #ฉลองไม่ฉลาม ที่มี 'ป้อง' ณวัฒน์ กุลรัตนรักษ์ ดาราชื่อดังผู้หลงใหลในการดำน้ำ เป็นทูตให้กับโครงการองค์กรไวลด์เอด ชวนคนไทย ปกป้องประชากรฉลามโลกที่กำลังถูกคุกคามจากการค้าและการบริโภคเมนูฉลาม 

โฆษณารณรงค์ดังกล่าว เผยให้เห็นไฮไลต์ช่วงหนึ่งของงานแต่ง นั่นคือ การตัดเค้ก แต่งานที่เสิร์ฟหูฉลามให้กับแขกร่วมงาน ก็เท่ากับเป็นการใช้มีดกรีดและฆ่าฉลาม สัตว์ที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศแห่งท้องทะเลให้ตายทั้งเป็น 'ป้อง ณวัฒน์' จึงร่วมรณรงค์ให้คู่บ่าวสาว และครอบครัวที่กำลังจะจัดงานแต่ง ไม่เสิร์ฟหูฉลามในวันสำคัญ สอดคล้องกับฤดูกาลที่คู่รักจำนวนมากนิยมจัดงานแต่งงานในช่วงปลายปี รวมทั้งงานเฉลิมฉลองอื่นๆ ก่อนเทศกาลปีใหม่  

“งานแต่งงาน ถือเป็นการเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆในชีวิตของหลายๆ คน สิ่งที่เราเลือกมาเป็นส่วนหนึ่งของงาน อาจมีผลกระทบตามมาอย่างที่เราคาดไม่ถึง ฉลามมีบทบาทสำคัญที่ช่วยรักษาความสมดุลของระบบนิเวศในท้องทะเล และนี่เป็นเหตุผลว่าทำไมผมถึงเชิญชวนให้ทุกคนจัดงานแต่ง หรืองานรื่นเริงอื่นๆ โดยไม่มีเมนูหูฉลาม และปฏิเสธการทานเมนูฉลามทุกรูปแบบ ร่วมกันปกป้องท้องทะเล และสร้างบรรทัดฐานใหม่ด้วยการ #ฉลองไม่ฉลาม ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป” ป้อง ณวัฒน์ กุลรัตนรักษ์ กล่าว



ป้อง.jpg

ป้อง - ณวัฒน์ กุลรัตนรักษ์ ทูตด้านฉลามขององค์กรไวล์ดเอด

โฆษณา ‘เบื้องหลังงานแต่งงาน’ ต้องการชี้ให้เห็นว่า ฉลาม ทำหน้าที่ในระบบนิเวศต่างจากสัตว์ชนิดอื่นที่เราบริโภคทั่วไป จึงขอชวนให้ผู้ที่กำลังจะแต่งงาน ไม่ทำให้งานมงคลกลายเป็นไม่มงคลด้วยการเสิร์ฟ และกินหูฉลาม

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมจีนยืนยันว่า หูฉลามไม่ใช่อาหารมงคล “หูฉลามไม่ได้เป็นของมงคล ไม่ได้จัดอยู่ในสมุนไพรจีน หรืออยู่ในตำราวิทยาการแพทย์แผนจีนใดๆ มาก่อน เป็นเพียงค่านิยมเดิมๆ ว่า การเสิร์ฟหูฉลาม จะเพิ่มความหรู ซึ่งไม่สะท้อนกับโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง การที่เราไปกินเอาค่านิยมความหรู กำลังสร้างความเสียหายมากมาย เราเอาความหรูออกไปได้ไหม เพื่อรักษาความสมดุลของธรรมชาติไม่ให้เสียไป” อาจารย์วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ ผู้เชี่ยวชาญวัฒนธรรมจีน กล่าว 


วิโรจน์.jpg

ผลสำรวจความต้องการบริโภคหูฉลามในประเทศไทย พ.ศ 2560 ขององค์กรไวลด์เอดที่พบว่า คนไทยในเขตเมืองมากกว่าครึ่งเคยบริโภคหูฉลาม และที่น่าเป็นห่วงคือมากกว่า 60% ยังต้องการบริโภคหูฉลามในอนาคต นอกจากนั้นยังพบด้วยว่า คนไทยรับประทานหูฉลามบ่อยครั้งที่สุดที่งานรื่นเริงต่างๆ นั่นคือ งานแต่งงาน (ร้อยละ 72) ทานกับครอบครัวที่ร้านอาหาร (ร้อยละ 61) และในงานเลี้ยงธุรกิจ (ร้อยละ 47) ซึ่งเป็นที่มาของโครงการรณรงค์ #ฉลองไม่ฉลาม เพื่อชวนคนไทยเลิกรับประทานนเมนูจากฉลาม โดยโครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 

นายโสภณ ทองดี รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวในงานเปิดโครงการว่า วันนี้ฉลามกำลังเข้าสู่สภาวะวิกฤตเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เป็นอย่างยิ่ง เราจำเป็นต้องช่วยกันกระตุ้นคนรุ่นใหม่ ตลอดจนบรรพชนคนรุ่นเก่าที่มีค่านิยมผิดๆ หลงยึดติดว่าหูฉลาม คือสุดยอดอาหารเลิศรสให้รับทราบถึงผลกระทบในทางลบจากการบริโภคหูฉลาม และไม่นำเมนูหูฉลามมาเป็นส่วนหนึ่งของงานฉลองทุกประเภท โดยเฉพาะอย่างยิ่งคู่บ่าวสาว ที่กำลังวางแผนแต่งงานและเตรียมการจัดเลี้ยง จะสามารถสร้างกุศลอันยิ่งใหญ่ที่จะร่วมกันอนุรักษ์ฉลามในการไม่นำเมนูหูฉลามมาประกาศความร่ำรวย และเป็นผู้มีรสนิยม เพราะฉลามเป็นสัตว์ที่เปรียบได้กับดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเล ประดุจดังเสือที่เป็นสัตว์ดัชนีชี้วัดความหลากหลายทางชีวภาพของป่าดงพงไพร

แต่ละปี มีฉลามกว่า 100 ล้านตัวถูกฆ่า ในจำนวนนี้ครีบของฉลามมากถึง 73 ล้านตัวถูกนำมาทำเป็น 'ซุปหูฉลาม' หรือประกอบเป็นเมนูอื่นๆ ประเทศไทยถูกจัดว่าเป็นตลาดค้าครีบฉลามรายใหญ่แห่งหนึ่งของโลก โดยเกิดจากการที่ผู้บริโภคไม่ตระหนักถึงการกระทำอันโหดร้ายเบื้องหลังเมนูหูฉลามนั้น ที่ฉลามต่างถูกลากขึ้นมาเพื่อเฉือนครีบของมันออกทั้งหมด ก่อนจะถูกโยนทิ้งกลับลงสู่ท้องทะเล ซึ่งทำให้ฉลามเหล่านั้นต้องจมน้ำตายทั้งเป็น เนื่องจากสูญเสียครีบอันเป็นอวัยวะสำคัญในการดำรงชีวิต

“องค์กรไวล์ดเอดหวังว่า โฆษณารณรงค์จะทำให้คนไทยปฏิเสธการกินหูฉลาม และช่วยส่งต่อโฆษณาของเราให้แพร่หลาย การได้รับการสนับสนุนจากคุณป้อง ณวัฒน์ ทูตองค์กร หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงพันธมิตรสื่อมวลชน ถือว่าสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อที่เราจะไม่ต้องเห็นฉลามเป็นเมนูบนโต๊ะอาหารอีกต่อไป ผมขอชวนทุกคนร่วมกันปกป้องฉลาม และยุติความต้องการบริโภคฉลามในไทย เพราะหยุดซื้อ คือหยุดฆ่า” นายจอห์น เบเกอร์ ผู้อำนวยการโครงการรณรงค์ องค์กรไวล์ดเอดกล่าว

ด้าน ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาประมงทะเล กรมประมง กว่าว่า “งานเลี้ยงอันมีเกียรติของคุณ ต้องมีซุปหูฉลามเพื่อแสดงว่าคุณมีเกียรติรึเปล่า ถ้าไม่มีซุปหูฉลามเกียรติของคุณจะลดลงหรือไม่ ถ้าไม่ เลิกเลี้ยงซุปหูฉลามเถอะครับ แล้วคุณจะได้รับเกียรติมากขึ้นกว่าเดิมอย่างแน่นอน”

ชมคลิป