ไม่พบผลการค้นหา
วงเสวนาชี้พลังโซเชียลทำหน้าที่ตรวจสอบ-ตั้งคำถามกับการเมืองไทย ชักชวนคนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วม แนะรัฐบาลต้องหาทางใช้ประโยชน์ สร้างกติการ่วมกันสกัด Hate Speech ป้องกันความไม่ไว้วางใจในระบบ

ในงานสัมมนาสาธารณะ 'พลังโซเชียลเปลี่ยนการเมืองไทย...จริงหรือ?’ ที่จัดโดยหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชน ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ระดับกลาง รุ่นที่ 7 (บสก. 7) เชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายด้านมาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประกอบกด้วย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายอธึกกิต แสวงสุข คอลัมนิสต์ และนายปราบ เลาหะโรจนพันธ์ ผู้ก่อตั้งโครงการ Rethink Thailand

สื่อโซเชียลพลังการตรวจสอบของคนรุ่นใหม่

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พลังโซเชียลสามารถเปลี่ยนการเมืองไทยได้ เพราะเรื่องของการเมืองเป็นการต่อสู้ทางความคิดที่อิงกับข้อมูลข่าวสารที่ประชาชนได้รับ ปัจจุบันรูปแบบการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนก็เปลี่ยนไป สื่อโซเชียลกลายเป็นกระแสหลัก

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ_02.jpg

ขณะที่ สื่อหลักอย่างโทรทัศน์ก็เอาสิ่งที่อยู่ในโซเชียลมาเล่น เช่น กรณีนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ที่สื่อโซเชียลนำมากระพือนั้น มีผลกระทบกับความนิยมของ คสช. อย่างมาก และก็กระทบกับความน่าเชื่อถือของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แสดงให้เห็นว่าสื่อเหล่านี้ถูกใช้ในแง่ของการตรวจสอบ ซึ่งถือเป็นการสร้างพลังทางการเมืองที่สำคัญมาก

ส่วนการเลือกตั้ง โซเชียลมีเดียอาจกลายเป็นสนามต่อสู้ทางการเมือง ผู้มีสิทธิลงสมัครเลือกตั้งอาจจะใช้สื่อโซเชียลเป็นเวทีหาเสียงแทนที่จะเป็นเวทีหาเสียงแบบดั้งเดิม หรือแม้กระทั่งการจ้างวานให้ปล่อยข่าว เพื่อโจมตีคู่ต่อสู้ในสนามเลือกตั้งก็เป็นได้ เช่น ในสหรัฐอเมริกา ที่มีการสร้างข่าวฉาวให้กับนางฮิลลารี คลินตัน ในโลกออนไลน์จนเป็นส่วนหนึ่งให้เธอเสียคะแนนในการเลือกตั้งที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน การใช้โซเชียลมีเดียจะต้องมีกระบวนการตรวจสอบไตร่ตรองก่อนที่จะแชร์ ไม่อย่างนั้นก็จะเกิดปัญหาข่าวลวง หรือ Fake News ทำให้ข่าวเท็จรุนแรงขึ้น และเป็นภัยต่อความมั่นคง

อีกทั้ง ยังมีการสร้าง hate speech และการแบ่งขั้วในสังคม โดยเฉพาะเฟซบุ๊กที่มักจะป้อนสิ่งที่เราชอบเข้ามาให้เราเสพเรื่อยๆ ความคิดแบบเดิม ก็จะยิ่งถูกผลิตซ้ำขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นรัฐจึงต้องหาทางรับมือกับพลังโซเซียล


"พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ไม่ใช่ทางออกที่ดี แต่ควรหากติการ่วมกันใหม่เพื่อให้เกิดการไตร่ตรองในการใช้โซเชียลมีเดีย และดึงพลังการตรวจสอบการเมืองจากคนรุ่นใหม่มาใช้ให้เกิดประโยชน์" นายอภิสิทธิ์ กล่าว

เกิด smart democracy สร้างประชาธิปไตยทางตรง

ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสต กล่าวมา โลกโซเชียลทำให้ยุคสมัยของวัฒนธรรมเปลี่ยนไป เทคโนโลยีในการจัดเก็บภาพดีขึ้น ผู้คนสามารถชมย้อนหลังได้ สามารถเป็นได้ทั้งผู้สื่อสารและรับสาร และสามารถติดตามเป็นการจับตาการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐในประเด็นที่สังคมสนใจได้ง่าย ทำให้ยุคสมัยของการเมืองเปลี่ยนไปด้วย จากประชาธิปไตยแบบตัวแทน และประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม มาสู่ smart democracy ที่พรรคการเมืองมีความสำคัญน้อยลง เพราะกว่าเสียงของประชาชนจะมาถึงนโยบายพรรคก็ช้าเกินไป ตรงกันข้ามการใช้สมาร์ทโฟน และโซเชียลมีเดีย ทำให้เกิดประชาธิปไตยโดยตรงและรวดเร็ว

ปริญญา เทวนฤมิตรกุล_13.jpg

อย่างไรก็ตาม พลังโซเชียลจะใช้ในการตรวจสอบรัฐ ตั้งคำถามต่อสังคม เช่น กรณีนายกรัฐมนตรี ที่เคยพูดว่าตนไม่ใช่นักการเมือง แต่ต่อมากลับคำว่าตนเป็นนักการเมือง สังคมก็สามารถตรวจสอบและดูย้อนหลังในสิ่งที่เคยพูดกับสังคมได้

ด้วยการตรวจสอบนี้เองทำให้เห็นได้ว่า นี่คือช่วงขาลงของ คสช. ผ่าน 3 เหตุการณ์ใหญ่ที่เห็นที่สนใจในโลกโซเชียลคือ 1.การเสียชีวิตของนักเรียนเตรียมทหาร 2.การตรวจสอบนาฬิกาของรองนายกรัฐมนตรี 3.การขยับเวลาเลือกตั้งครั้งแล้วครั้งเล่า


"ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในทางลบ ที่มีต่อ คสช. มันเกิดจากการใช้ ม.44 ที่ไม่สอดคล้องกับยุค 4.0 ดังนั้นรัฐบาลจึงไม่ควรเลื่อนเลือกตั้งอีก" ผศ.ปริญญา กล่าว


อธึกกิต แสวงสุข_20.jpg

โซเชียลเบียดขับสื่อหลักตกขอบ

นายอธึกกิต แสวงสุข คอลัมนิสต์ เจ้าของนามปากกา ‘ใบตองแห้ง’ แสดงความคิดเห็นว่า ในยุคปัจจุบันคนทุกคนเป็นสื่อได้ โดยเฉพาะการโพสต์และแชร์ภาพถ่าย โดยไม่ต้องรอรูปข่าวจากหนังสือพิมพ์ และมันมีพลังต่อสังคมมาก แต่มันมาพร้อมกับความเสื่อมของสื่อกระแสหลักเช่นกัน สื่อกระแสหลักจึงต้องไปเอาใจโซเชียล เพราะสื่อไม่มีความสามารถในการทำข่าวสืบสวนสอบสวนอีกต่อไป แต่เพจและคนในโลกโซเชียลเป็นคนทำ


"ปัจจุบันคนทุกคนเป็นสื่อได้ โดยเฉพาะการโพสต์และแชร์ภาพถ่าย โดยไม่ต้องรอรูปข่าวจากหนังสือพิมพ์ และมันมีพลังต่อสังคมมาก แต่มันมาพร้อมกับความเสื่อมของสื่อกระแสหลักเช่นกัน" อธึกกิต กล่าว


ขณะเดียวกัน ก็เกิดการตัดสินเหตุการณ์ต่างๆ ในสังคม โดยไม่ฟังความรอบข้าง ยิ่งทำยิ่งสะใจ มุ่งหมายไปที่คนผิดอย่างเอาเป็นเอาตาย ซึ่งพลังโซเชียลจะจี้ไปที่หน่วยงานราชการจากที่เช้าชามเย็นชาม นำมาสู่การสนับสนุนให้ใช้อำนาจแบบสุดขั้วเพื่อแก้ปัญหา และเกิดกระแสการไม่ไว้วางใจอำนาจเชิงระบบ (anti-establishment) ของรัฐ มหาวิทยาลัย องค์อิสระ หรือแม้กระทั่งสื่อ anti-establishment ไม่ไว้วางใจอำนาจเชิงระบบของรัฐ มหาวิทยาลัย และสื่อ

ปราบต์ เลาหะโรจนพันธ์_19.jpg

กระแสโซเชียล มาแล้วหาย เป็นไฟไหม้ฟาง

ขณะที่ นายปราบ เลาหะโรจนพันธ์ ผู้ก่อตั้งโครงการ Rethink Thailand มองว่า ทุกวันนี้ทำอะไรก็ต้องให้เกิดเป็นกระแส ให้คนหันมาสนใจ แต่เมื่อเกิดเป็นกระแสเป็นข่าวแล้ว สักพักก็จะหายไป ไม่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นเพราะโครงสร้างทางการเมืองยังไม่สอดคล้องกับโซเชียลมีเดีย เช่น การล่ารายชื่อใน change ตนก็เข้าร่วมมาหลายปี แต่ไม่เคยเห็นการเปลี่นแปลง

ดังนั้น หากต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจริงๆ ต้องให้คนรุ่นใหม่เข้ามาในระบบการเมือง เช่น หลายประเทศทั่วโลก เริ่มเกิดปรากฎการณ์ของคนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง เป็นต้น

อีกด้านหนึ่งก็ต้องปรับโครงสร้างการกำหนดนโยบายและรับฟังความคิดเห็นทางออนไลน์ให้สอดคล้องกับปัจจุบันเพื่อให้เกิด smart democracy