ไม่พบผลการค้นหา
หากไม่ใช่การถูกข่มขืนโดยคนแปลกหน้าในลักษณะที่ปรากฏตามข่าวเราเคยได้ยินและผ่านตา เคยมีเซ็กส์ครั้งไหนที่คุณถามตัวเองไหมว่า เมื่อไม่กี่นาทีที่ผ่านมา คุณถูกล่วงละเมิดทางเพศหรือเปล่า? ถ้าคำตอบคือ “ใช่” คุณจะทำอย่างไร? ถ้าคุณเป็น “เพศชาย” คุณจะกล้าไปแจ้งความหรือบอกใครไหม?

“สัมภาษณ์ผมได้นะครับ ผมไม่อยากแชร์ประสบการณ์นี้เท่าไหร่ แต่อยากให้คนตระหนักถึงประเด็นนี้”

เอ ทักมาในเฟซบุ๊กเมสเซนเจอร์หลังเห็นโพสต์ตามหาเพศชายที่เคยถูกล่วงละเมิดทางเพศและยินดีที่พูดถึงประสบการณ์ของตัวเอง เรานัดเจอกันไม่นานหลังจากนั้น เขาขอให้สัมภาษณ์แบบไม่เปิดหน้า เพราะยังกังวลอยู่ว่าสังคมและคนรอบตัวจะคิดอย่างไร เพราะนี่คือการพูดถึงเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อหลายปีมาแล้วให้คนอื่นได้ฟังเป็นครั้งแรก

วันนั้น เขานัดเจอกันที่ห้องของอีกฝ่าย เมื่อเอเข้าไปในห้อง เขาพบว่ารูปร่างของคนตรงหน้าไม่เหมือนในรูปและไม่ตรงกับความเข้าใจก่อนพบกัน เขาถูกล่วงละเมิดทางเพศ ในห้องนั้น เอเดินออกมาพร้อมความรู้สึกแย่ที่สุดในชีวิต ตอนแรกเขาถามตัวเองว่า เขาจะบอกใครไหม? จะแจ้งตำรวจไหม? แต่ก็คิดว่าเขาเป็นฝ่ายยินยอมที่จะเดินเข้าไปในห้องนั้นเอง ที่สำคัญเขายังไม่อยากให้สังคมรู้เรื่องนี้ และไม่อยากทำให้มันเป็นเรื่องใหญ่

“... สิ่งที่ทำก็คือ กดมัน แล้วลืมมันไปซะ”

เมื่อบาดแผลสมานกับตัวตน หลังเหตุการณ์วันนั้น แม้เขาจะพยายามทำตัวยิ้มแย้มเหมือนเดิม แต่ไม่มีอะไรเหมือนเดิมอีก

จากผู้ชายที่เคยมั่นใจและกล้าพูดในสิ่งที่ตัวเองคิด กลับปิดต���วเอง อ่อนไหว และไม่กล้าโต้เถียงกับคนอื่น เขามักจะนั่งคุกเข่าและกอดตัวเองบ่อย ๆ สิ่งที่เอเป็น คือ การพยายามลดทอนปัญหา เป็นการตอบสนองที่ช่วยให้สามารถใช้ชีวิตต่อไปได้ในระยะหนึ่ง ผู้ประสบเหตุการณ์เดียวกันมักจะพยายามใช้ชีวิตราวกับว่า การล่วงละเมิดทางเพศที่เกิดขึ้น ไม่ได้ส่งผลใดใดต่อชีวิตของตนเอง นอกจากลักษณะนิสัยที่เปลี่ยนไป การถูกละเมิดในวันนั้นยังส่งผลต่อการมีเพศสัมพันธ์ของเขาด้วย ทุกวันนี้เขาไม่สามารถถึงจุดสุดยอดได้หากไม่ได้มีเซ็กส์ที่รุนแรง หลังวินาทีแห่งความสุขชั่วคราวผ่านไป เขามักต้องเผชิญหน้ากับตัวเองที่รู้สึกเจ็บปวดทั้งกายและใจ สับสนว่าทำไมตัวเองถึงยอมให้อีกฝ่ายกระทำรุนแรงแบบเหตุการณ์ในครั้งนั้นอีก

“ผมรู้สึกว่าเรื่องนี้ควรเป็นเรื่องที่ต้องพูดออกมา แต่มันกลับกลายเป็นว่า ถ้าผมพูดออกไป คนจะมองว่าคนนี้อ่อนแอนะ ทำให้ตัวเองไปอยู่ในสถานการณ์นั้นได้ไง เป็นผู้ชายนะ ผู้ชายไม่ควรจะเจออะไรแบบนี้ไม่ใช่เหรอ?”

ไม่อยากถูกมองว่า ‘อ่อนแอ’ คืออีกแรงกดดันที่ทำให้เขาไม่เล่าเรื่องนี้ให้ใครฟัง ทั้งครอบครัวและเพื่อนสนิท ในสังคมที่การล่วงละเมิดทางเพศเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศ น้อยครั้งที่เราพูดถึงการล่วงละเมิดทางเพศ โดยพูดถึงเพศชายในฐานะผู้ถูกกระทำ ความเป็นชายที่ถูกคาดหวังให้เข้มแข็ง ซ้อนทับกับภาพลักษณ์ที่คนส่วนหนึ่งมีต่อคนที่มีรสนิยมทางเพศแบบเดียวกันกับเขา “อ้าว เซ็กส์ก็เป็นสิ่งที่เกย์ชอบอยู่แล้ว อยากเอาอยู่แล้วไม่ใช่เหรอ?” “เป็นผู้ชายไม่เสียหายป้ะ?” เขาไม่อยากได้ยินคำตัดสินแบบนี้ และต่อให้ไม่ใช่เอ ใครกันอยากได้ยิน?

“รู้สึกว่าตอนนั้น ถ้าแค่มีใครสักคนที่เราสามารถพูดเรื่องนี้ได้แล้วจะไม่ถูกตัดสิน จะไม่ถูกมองว่าเป็นอย่างนู้น อย่างนี้ อย่างนั้น แค่ฟังเราจริง ๆ ว่ามันคืออะไร ก็จะดี ก็จะรู้สึกดีกว่านี้”

งานวิจัยของมหาวิทยาลัยลอนดอนระบุว่า ตัวเลขสถิติของเพศชายที่แจ้งว่าเคยถูกข่มขืนนั้นน้อยกว่าจำนวนที่แท้จริง เพราะพวกเขามักเลือกที่จะปิดบังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น การตัดสินใจของเอก่อนหน้านี้ว่าจะไม่บอกใคร อาจช่วยตอบคำถามส่วนหนึ่งว่าทำไมตัวเลขสถิติจึงเป็นเช่นนั้น ส่วนความกล้าหาญของเขาที่เลือกแบ่งปันสิ่งที่เก็บไว้มานานกับเรา อาจกำลังบอกว่า ต่อจากนี้ เราจะมีพื้นที่ที่เปิดกว้างขึ้น เพราะรอบตัวของเรายังมี เอ อีกหลายคนที่ปิดบาดแผลไว้ ไม่ได้รับการเยียวยา


หมายเหตุ:

หากคุณคือ เอ และต้องการความช่วยเหลือ นี่คือเว็บไซต์ที่เราคิดว่าจะมีประโยชน์ไม่มากก็น้อย

ข้อมูลภาษาไทย

https://thaiconsent.org/gethelp/

https://th.wikihow.com/เยียวยาจากบาดแผลการถูกข่มขืนหรือล่วงละเมิดทางเพศ

ข้อมูลภาษาอังกฤษ

https://rainn.org/recovering-sexual-violence