ไม่พบผลการค้นหา
เมื่อไม่นานมานี้กระทรวงกีฬาของแอฟริกาใต้ ออกมายอมว่าความหลากหลายทางสีผิวในกีฬาอย่าง ‘รักบี้’ ไม่ได้ต่างจากเมื่อ 20 ปีก่อนมากนัก นอกจากนี้ยังมีการมองว่ากีฬานี้เป็น ‘พื้นที่ของการแบ่งแยกสีผิวยุคใหม่’

ภาพยนตร์เรื่อง Invictus (2009) ของผู้กำกับชั้นครูอย่าง Clint Eastwood ที่สร้างจากหนังสือ ‘Playing the Enemy’ เล่าเรื่องจริงของ Nelson Mandela ประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ (นำแสดงโดย Morgan Freeman) ที่พยายามใช้ทัวร์มาร์เม้นท์รักบี้ชิงแชมป์โลก (Rugby World Cup) เป็นสื่อเชื่อมกลางระหว่างคนผิวขวาและผิวดำในแอฟริกาใต้ที่ขัดแย้งกันมาอย่างยาวนาน

ฉากเปิดเรื่องที่ขบวนต้อนรับของ Mandela ซึ่งเพิ่งได้รับอิสระจากการถูกคุมขังมานานกว่า 27 ปี เคลื่อนตัวมาถึงถนนเส้นหนึ่ง กลุ่มคนผิวดำเสื้อขาดรุ่งริ่งกำลังเล่นฟุตบอลอยู่ฝั่งซ้ายของถนนได้กู่ร้องแสดงความยินดีกับอิสรภาพของเขา ในขณะเดียวกัน กลุ่มนักเรียนผิวขาวฝั่งขวาที่กำลังเล่นรักบี้มองดูขบวนด้วยสีหน้าวิตก โค้ชรักบี้ผิวขาวได้บอกกับลูกศิษย์ว่าประเทศของพวกเขากำลังจะพบกับความวุ่นวายอีกครั้ง “ผู้ก่อการร้าย Mandela ถูกปล่อยตัวแล้ว”  

ฉากดังกล่าวเป็นการบอกเล่าสถานการณ์ในแอฟริกาใต้ช่วงทศวรรษ 1990 ได้เป็นอย่างดี หลังจากได้อิสรภาพจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษในปี 1913 แอฟริกาใต้ถูกปกครองโดยคนผิวขาวอดีตเจ้าอาณานิคม ที่ออกกฎหมายการปกครองแบบแบ่งแยกสีผิว กีดกันชาวแอฟริกันพื้นเมืองซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ไม่ให้มีอำนาจทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง กฎเกณฑ์ต่างๆ ออกมากดขี่คนผิวดำในทุกด้าน โรงเรียน โรงพยาบาล บริการสาธารณะทุกประเภทแยกกันให้บริการระหว่างคนผิวขาวและผิวดำ ทั้งยังตัดสิทธิทางการเมืองชาวแอฟริกันพื้นเมือง สร้างความไม่พอใจจนมีการลุกฮือต่อต้านจากชาวผิวดำหลายต่อหลายครั้ง

ท้ายที่สุดจากแรงกดดันของการต่อสู้ภายในประเทศและจากนานาชาติ ทำให้รัฐบาลคนผิวขาวพรรค ‘National Party’ ที่ปกครองประเทศมาอย่างยาวนานต้องยกเลิกกฎหมายแบ่งแยกสีผิวไป ในปี 1994 แอฟริกาใต้ได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ให้สิทธิเสรีภาพและมีการเลือกตั้งตามกระบวนการประชาธิปไตยอย่างถูกต้อง ส่งผลให้ Mandela ได้เป็นประธานาธิบดีผิวดำคนแรกของประเทศ

ฉากดังกล่าวของ Invictus แสดงความรู้สึกของคนต่างชนชั้นในช่วงทศวรรษ 1990 ที่เริ่มมีการผ่อนคลายกฎหมายแบ่งแยกสีผิว และปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังจากการต่อต้านรัฐบาล (ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ Mandela) โดยใช้กีฬาเป็นสัญลักษณ์แบ่งชนชั้น ‘ฟุตบอล’ เป็นกีฬาที่นิยมในหมู่คนผิวดำ ส่วน ‘รักบี้’ นิยมเล่นกันในคนผิวขาว การขึ้นสู่อำนาจของ Mandela จึงสร้างความวาดระแวงให้กับคนผิวขาวว่าจะถูกรัฐบาลใหม่เอาคืนหรือไม่

ในปี 1995 หลัง Mandela ขึ้นเป็นประธานาธิบดีเพียงปีเดียว ประเทศแอฟริกาใต้ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพการแข่งขันรักบี้ชิงแชมป์โลก ทั้งนี้รักบี้เป็นกีฬาที่เป็นความภาคภูมิใจของชนชั้นสูงผิวขาว แต่กลับไม่ได้รับความสนใจจากคนผิวดำ และอาจเลยเถิดถึงขั้น ‘เกลียด’ ด้วยซ้ำ Mandela เองเคยเล่าว่าตอนที่เขาอยู่ในคุก เวลาที่มีการแข่งขันรักบี้ทีมชาติเกิดขึ้น เหล่านักโทษทั้งหลายจะพากันเชียร์ทีมฝั่งตรงข้าม เนื้อหาในภาพยนตร์ส่วนใหญ่จึงได้เล่าเรื่องของ Mandela ที่พยายามทำให้ทุกเชื้อชาติรวมถึงคนผิวดำรวมใจกันเชียร์ทีมรักบี้ที่เต็มไปด้วยคนผิวขาว เพื่อนำไปสู่การสมานฉันท์ของคนในชาติ

ภาพยนตร์อาจจะสะท้อนความเป็นจริงของช่วงเวลานั้นๆ แต่สำหรับโลกความเป็นจริงในเวลาต่อมานั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะใช้กีฬาลบภาพการแบ่งแยกเชื้อชาติที่ดำเนินมาอย่างยาวนาน คนผิวขาวยังคงมีสถานะทางเศรษฐกิจสูงกว่าคนผิวดำที่ต้องเผชิญกับความไม่เท่าเทียมในหลายด้าน อีกทั้งยังมีการมองว่ากีฬารักบี้นั้นเป็น ‘พื้นที่ของการแบ่งแยกสีผิวยุคใหม่’

ในวาระครบรอบ 20 ปี ของการสิ้นสุดการปกครองแบบแบ่งแยกสีผิวเมื่อปี 2014 ตัวแทนจากกระทรวงกีฬาของแอฟริกาใต้ออกมายอมรับว่า ความหลากหลายทางสีผิวในกีฬาอย่างรักบี้ไม่ต่างจากเมื่อ 20 ปีก่อนมากนัก กีฬาอย่างรักบี้และคริกเก็ตยังเป็นพื้นที่ของคนผิวขาวเสียส่วนใหญ่ ตัวเลขของรัฐบาลแสดงให้เห็นว่าต้องเพิ่มจำนวนคนผิวดำถึง 3 เท่าในกีฬารักบี้ เพื่อที่จะให้ถึงเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้คือร้อยละ 50 ทั้งที่คนผิวดำมีสัดส่วนถึงร้อยละ 80 ในแอฟริกาใต้

สาเหตุส่วนหนึ่งนั้นมาจากเหตุผลทางเศรษฐกิจ เพราะรักบี้และคริกเก็ตยังคงนิยมเล่นในโรงเรียนระดับสูงที่คนผิวดำส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าเรียนได้ (คนผิวดำในทีมรักบี้นั้นมักจะมาจากครอบครัวฐานะดีที่พอจะเข้าโรงเรียนระดับสูงได้เท่านั้น)

แต่กระนั้นก็���ีข่าวการเลือกปฏิบัติทางสีผิวที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน อย่างในกรณี Heyneke Meyer โค้ชทีม Springboks (ทีมตัวแทนชาติแอฟริกาใต้ ทีมเดียวกันในภาพยนตร์เรื่อง Invictus) ถูกกล่าวหาว่ากีดกันทางสีผิว จากการที่เขามักจะไม่เลือกเอาผู้เล่นผิวดำเข้าสู่ทีมชาติ แม้เขาจะออกมาปฎิเสธว่าเขาเลือกผู้เล่นตามศักยภาพมากกว่าสีผิว แต่ก็ไม่สามารถลบคำวิจารณ์ต่อวงการรักบี้ในประเทศว่ายังมีการเลือกปฏิบัติกับคนผิวดำอยู่ได้ อย่างที่ Peter de Villiers อดีตโค้ชผิวดำคนแรกของทีม Springboks ออกมาบอกว่า “ทำให้ประเทศกลับมาก่อนยุค 80’s ที่คนผิวดำต้องเชียร์ทีมตรงข้ามเพราะการแบ่งแยกสีผิว” รวมทั้ง Chester William อดีตนักรักบี้ผิวดำเพียงคนเดียวที่อยู่ในทีมชุดคว้าแชมป์โลกปี 1995 ได้ออกมาให้ความเห็นว่าในวงการรักบี้ คนผิวดำได้รับโอกาสน้อยกว่ามาโดยตลอด “หลายสิ่งดีๆ ที่เราทำให้ในปี 1995 ถูกทำลายลง”

Mandela จากโลกไปเมื่อปี 2013 เขาได้รับการยกย่องในฐานะผู้ปลดปล่อยคนผิวดำจากการถูกกดขี่ภายใต้กฎหมายแบ่งแยกสีผิว แต่สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนเลยคือความเหลื่อมล้ำระหว่างคนสองสีผิวในแอฟริกาใต้ คนผิวขาวยังสืบทอดความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจต่อเนื่องมา “รัฐบาลปล่อยให้มาเฟียรักบี้รุ่นเก่าเข้าควบคุมกีฬาของชาติ เพื่อผลประโยชน์ของพวกเขาเอง” พรรคสมัชชาแห่งชาติแอฟริกา (African National Congress) ที่ Mandela เคยสังกัดอยู่ เคยระบุในแถลงการณ์

ในบทความ Patterns inherited from South Africa’s colonial past still persist in sport ของ Francois Cleophas อาจารย์ด้านประวัติศาสตร์กีฬาของมหาวิทยาลัย Stellenbosch ในแอฟริกาใต้ ได้อธิบายเรื่องนี้ว่าชนชั้นสูงมักจะหวงแหนวัฒนธรรมของพวกเขา เช่นเดียวกับกีฬาที่ไม่ต้องการให้ชนชั้นล่างได้สัมผัส ในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 ผู้ปกครองชาวอังกฤษได้เข้ามาแบ่งแยกการแข่งขันกีฬาในประเทศอาณานิคมตามชนชั้น เชื้อชาติ และสีผิว Cleophas มองว่ากีฬารักบี้ในแอฟริกาใต้จึงสะท้อนภาพของระบอบอาณานิคมที่ยังหลงเหลืออยู่

Smanachan Buddhajak
0Article
0Video
0Blog