ไม่พบผลการค้นหา
ถ้าเป็นคนอื่น ไม่ใช่ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม น่าสนใจว่า สื่อมวลชนจะสนใจแหวนเพชรเม็ดโต กับนาฬิกาหรู ยี่ห้อ Richard Mille เรือนนั้น มากขนาดนี้ไหม

และถ้าเป็นคนอื่น ที่ไม่ใช่บิ๊กป้อมเช่นกัน “ป.ป.ช.” ที่มีประธานเป็นอดีตเลขาฯของ พล.อ.ประวิตร ที่ชื่อ “บิ๊กกุ้ย” พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ เป็นประธาน จะได้รับแรงกดดัน มากขนาดนี้หรือเปล่า

หลายๆ คนบอกว่า นี่เป็นช่วง “ดวงตก” ของบิ๊กป้อม ทั้งมีข่าวจะถูกปรับออกจาก ครม. พูดเรื่องน้องเมยไม่ถูกหูผู้คนจนโดนด่าขรม “แค่สลบ แต่ไม่ตาย” กระทั่งล่าสุด แค่ยกมือป้องแดด ก็นำไปสู่การตรวจสอบว่า ซุกทรัพย์สินหรือไม่ ต้องไปลุ้นกับโทษจำคุก 6 เดือน และถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองอีก 5 ปี

แต่สำหรับกรณีนี้ สิ่งที่ควรโฟกัสกลับไม่ใช่ชะตากรรมของ พล.อ.ประวิตร หากเป็นท่าทีในการทำงานขององค์กรที่ชื่อ ป.ป.ช. เสียมากกว่า

ถ้าใครยังจำเหตุการณ์ช่วงก่อนรัฐประหาร ปี 2557 กันได้ ในฐานะนักข่าวสาย ป.ป.ช. มาสิบปี ผมรู้สึกว่า ช่วงนั้นเป็นช่วงเวลาที่ ป.ป.ช. มีแอ็กชั่นสูงสุด ทั้งออกมาให้ข้อมูลคดีทุจริตคดีนั้นคดีนี้แทบจะรายวัน มีการตอบโต้กับคนในรัฐบาลขณะนั้นถึงการทำคดีจำนำข้าวและคดีสำคัญอื่นๆ อย่างเข้มข้น

เอาจริงๆ ผมว่าท่าทีแอ็กทีฟในการตรวจสอบคอร์รัปชั่น ในเวลานั้นของ ป.ป.ช. เป็นสิ่งที่ “น่าชื่นชม”

เพราะสิ่งที่สังคมไทยต้องการ คือองค์กรตรวจสอบการทุจริตที่ลุยตรวจสอบผู้มีอำนาจ อย่างตรงไปตรงมา ไม่เกรงกลัวหน้าอินทร์หน้าพรหม และไม่เลือกปฏิบัติ

แต่ความกระตือรือร้นดังกล่าว กลับอยู่ได้เพียงไม่นาน

หลังจาก คสช. เข้ามา ป.ป.ช. ก็กลายร่างไปเป็นหน่วยงานราชการปกติ ที่เข้าถึงตัวค่อนข้างลำบาก (ต้องไปดักสัมภาษณ์ตามงานแถลงข่าวหรืองานสัมมนาต่างๆ) โทรไปก็ไม่ค่อยรับโทรศัพท์ และเน้นแจกเอกสารข่าวประชาสัมพันธ์

ยิ่งหลังจากกรรมการ ป.ป.ช. 5 คน จากทั้งหมด 9 คน ครบวาระดำรงตำแหน่ง ต้องมีการสรรหาใหม่ และหัวหน้า คสช. ใช้มาตรา 44 แก้ไของค์ประกอบคณะกรรมการสรรหา โดยให้คนของ คสช. เข้าไปร่วมสรรหาด้วยกับประธานศาล ซึ่งผลปรากฎว่า อดีตเลขาฯ ของ พล.อ.ประวิตร ที่ชื่อ พล.ต.อ.วัชรพล ได้มาเป็นประธาน ป.ป.ช. คนใหม่

เสียงครหาว่า ป.ป.ช. มีแต่ “เด็กบิ๊กป้อม” จึงยิ่งกระหึ่ม แม้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจะออกมาปฏิเสธ

เอาจริงๆ คนในสังคมไทยบางส่วนปรามาสว่า ป.ป.ช. ไม่ค่อยกล้าตรวจสอบคนในกองทัพมานานแล้ว (โดยไม่รู้ว่า ความเชื่อเหล่านี้มาจากไหน) แต่พอเหล่า “นายพล” มามีอำนาจทางการเมืองหลังการรัฐประหาร หลายฝ่ายก็ยิ่งจับตาว่า ป.ป.ช. จะมีน้ำยา กล้าตรวจสอบบรรดาบิ๊กทหารเหล่านั้นมากน้อยแค่ไหน

หลายคนถึงขั้นฟันธงดักคอไว้ล่วงหน้าเลยว่า ยังไงก็ไม่ผิด

สื่อแห่งหนึ่งได้รวบรวมสถิติการชี้มูลคดีแจ้งบัญชีเท็จ อย่างที่ พล.อ.ประวิตรกำลังถูกตรวจสอบในเวลานี้ ของ ป.ป.ช. ระหว่างปี 2558 – 2559 พบว่ามีถึง 350 คดี แต่ที่น่าสนใจก็คือ ขณะที่คนซึ่งถูกชี้มูล มีตั้งแต่ ส.ส. ข้าราชการการเมือง บอร์ดรัฐวิสาหกิจ นักการเมืองท้องถิ่น และตำรวจ ..กลับไม่มี “ทหาร” เลยแม้แต่คนเดียว!

หลายคนอาจไม่รู้ว่า ขณะนี้ สนช.กำลังพิจารณาร่างกฎหมาย ป.ป.ช. ฉบับใหม่ โดยเนื้อหาในส่วนที่ถูกวิจารณ์คือ มาตรา 104 เรื่องการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน ที่เปลี่ยนจากให้เปิด “โดยละเอียด” มาเป็น “โดยสรุป” แทน จนทั้งองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น และสื่อสายตรวจสอบทุจริตต้องออกมาโวยว่า การทำเช่นนี้จะตัดตอนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบการทุจริตออกไปโดยปริยาย

สมมุติง่ายๆ หาก ป.ป.ช. เปิดเผยข้อมูลบัญชีทรัพย์สินโดยสรุป แล้วคนจะได้เห็นสิ่งผิดปกติ เรื่อง พล.อ.ประวิตร ไม่ได้แจ้งการถือครองแหวนเพชรและนาฬิกาหรู ไหม?

(แม้ล่าสุด จะมีการตัดคำว่า “โดยสรุป” ออกไปในชั้นกรรมาธิการวิสามัญ แต่ก็ต้องไปลุ้นกันอีกว่า สนช. จะเห็นด้วยในการพิจารณาวาระ 2 และ 3 ไหม)

2-3 ปีที่ผ่านมา ในยุคที่วาทกรรม “โปร่งใส..ตรวจสอบได้” ดังกระหึ่ม แต่หน่วยงานเกี่ยวกับการปราบโกงมักให้ผลการตรวจสอบกรณีคาใจของประชาชนหลายๆ ครั้ง ด้วยการ “สรุป”

ยังจำกรณีอุทยานราชภักดิ์ได้ใช่ไหมครับ มีการตรวจสอบถึง 3 ขั้น ทั้งกองทัพบก กลาโหม และ สตง. ซึ่งแม้จะให้ข้อมูลมาประมาณหนึ่ง แต่ก็ยังขาดข้อมูลสำคัญเรื่องราคากลางการหล่อพระรูปอดีตกษัตริย์ 7 พระองค์ ซึ่งเป็นหัวใจของข้อสงสัย แต่ทุกหน่วยงานข้างต้นก็สรุปไปแล้วว่า “ไม่มีทุจริต”

เช่นเดียวกับเรื่องการจัดซื้อเรือดำน้ำ ที่ สตง.ออกมาให้คำตอบอย่างรวดเร็วว่า “ไม่มีอะไรผิดปกติ”

ส่วน ป.ป.ช. ก็มักให้ผลชี้มูลคดีสำคัญเป็นเอกสารไม่กี่แผ่น พอมีคนไปใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ขอดูรายละเอียด ก็มักได้รับการปฏิเสธ

เราอยู่ในยุคที่เรียกร้องให้ประชาชนไม่ทนเมื่อพบเห็นการทุจริต ให้มีพลเมืองเข้ามาในการสร้างความโปร่งใส แต่หน่วยงานที่มีหน้าที่ปราบโกงกลับสร้างข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูลเสียเอง และมักสรุปเอาง่ายๆ ว่า “เรื่องนี้ไม่มีปัญหา” “เรื่องนี้โปร่งใส” “เรื่องนี้ไม่มีทุจริต"

เอาจริงๆ แรงกดดันจากกรณีนาฬิกาบิ๊กป้อม ป.ป.ช. สามารถพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสได้ด้วยการเปิดเผยขั้นตอนและข้อมูลการตรวจสอบทุกอย่าง อย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้สาธารณชนได้ตรวจสอบ ป.ป.ช. อีกทางหนึ่งด้วย (จะได้เคลียร์ข้อครหาเป็นเด็กบิ๊กป้อมไปในเวลาเดียวกัน)

อย่าทำกันเงียบๆ แล้วก็ออกมา “สรุป” กันเอง ในตอนท้ายว่า เรื่องนี้โปร่งใส ไม่มีปัญหา พล.อ.ประวิตรไม่ได้ทำอะไรผิด

ไหนๆ ป.ป.ช. ก็ประเมินตัวเองแล้วว่า ได้คะแนนโปร่งใสสูงสุดในหมวดองค์กรอิสระ ตั้ง 90 จากเต็ม 100 ลองทำให้ประชาชนเชื่อ ด้วยการเปิดให้คนได้ตรวจสอบการทำงานของ ป.ป.ช. อีกทางหนึ่ง

และถึงนาทีนี้ ไม่มีเคสไหนที่เหมาะกับการกู้เครดิตของ ป.ป.ช. มากไปกว่ากรณีนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตรอีกแล้ว

พงศ์ บัญชา
0Article
0Video
0Blog