ไม่พบผลการค้นหา
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ออกแถลงการณ์เสนอมุมมองด้านนิตินิเวศน์ต่อกรณีบ้านพักตุลาการ เนื่องจากรณีนี้มีประเด็นทางกฎหมายที่สัมพันธ์กับระบบนิเวศน์รวมถึงชุมชนอยู่ 3 ข้อ คือการนิยามความหมายของผืนป่า, การระมัดระวังผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสภาพแวดล้อมและความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ และสิทธิในการมีส่วนร่วมของประชาชน

คณาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกันออกแถลงการณ์ ต่อกรณีการสร้างบ้านพักตุลาการ ที่รุกล้ำเข้าไปในผืนป่าดอยสุเทพ ทำให้เกิดข้อถกเถียง และสร้างความไม่พอใจให้กับชาวเชียงใหม่ เนื่องจากเห็นว่าเป็นการทำลายสภาพแวดล้อมอย่างรุนแรง แม้ผู้รับผิดชอบให้เหตุผลว่าโครงการนี้ได้กระทำอย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้วก็ตาม และในอดีตก็เคยมีบทเรียนหลายครั้งเกี่ยวกับประเด็นปัญหาเรื่องการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ว่าประเด็นนี้จะสร้างผลกระทบรุนแรงและกว้างขวางต่อสังคม

ทางคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เสนอประเด็นทางกฎหมายที่สัมพันธ์กับระบบนิเวศน์รวมถึงชุมชนในเบื้องต้น 3 ประการ คือ 

1. การนิยามความหมายของผืนป่า

แม้ว่าพื้นที่ดังกล่าวจะไม่ได้อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ แต่จากหลักฐานซึ่งแพร่หลายกันอยู่ก็เห็นได้ว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของ “ผืนป่า” ดอยสุเทพ ซึ่งทำให้การอ้างถึงบรรทัดฐานทางกฎหมายไม่เป็นที่ยอมรับแต่อย่างใด เนื่องจากขัดต่อสภาพความเป็นจริงที่ดำรงอยู่

ในแวดวงการศึกษาทางด้านนิติศาสตร์นั้นได้มีการตระหนักถึงความบกพร่องของการจำแนกเขตพื้นที่ป่าตามกฎหมายมาอย่างยาวนานว่ามีความไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงอย่างสำคัญ อันเป็นผลมาจากการใช้ภาพถ่ายทางอากาศเป็นเครื่องมือในการจำแนกรวมทั้งไม่มีการเดินสำรวจ อันนำมาซึ่งปัญหาว่าชุมชนจำนวนมากต้องอยู่ในพื้นที่ป่าตามกฎหมาย ขณะที่ในด้านกลับกัน ได้มีการหวงกันผืนป่าโดยหน่วยงานรัฐโดยเฉพาะหน่วยงานทางด้านความมั่นคงไว้กับตนเป็นจำนวนมหาศาลนับตั้งแต่อดีต แม้จะไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ในการหวงกันไว้ก็ตาม ซึ่งในภายหลังก็มักจะนำมาใช้ประโยชน์โดยไม่ได้คำนึงถึงสภาพความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นแต่อย่างใด กรณีบ้านพักตุลาการเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนในกรณีนี้ 

2. การระมัดระวังผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสภาพแวดล้อมและความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ

การตระหนักถึงผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมจะเห็นได้จากการที่ พ.ร.บ. ส่งเสริมคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม ได้กำหนดให้โครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจำนวน 35 ประเภท ต้องมีการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ก่อนที่จะดำเนินโครงการนั้นๆ ทั้งนี้ เพื่อประเมินถึงความผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ประชาชนและชุมชน พร้อมทั้งศึกษาถึงแนวทางทางแก้ไขผลกระทบจากการดำเนินโครงการดังกล่าว เพื่อเป็นฐานในการตัดสินใจด้วยการใช้ความรู้และข้อมูลอย่างรอบด้าน ในกรณีที่โครงการใดจะนำมาซึ่งความเสียหายหรือผลกระทบอย่างสำคัญ การปฏิเสธหรือการยกเลิกก็จะสามารถกระทำได้ด้วยการใช้ความรู้

อย่างไรก็ตาม ระบบ EIA ที่ใช้อยู่ในประเทศไทยยังมีความบกพร่องไม่สมบูรณ์อยู่หลายประการ นักลงทุนจำนวนไม่น้อยได้อาศัยความบกพร่องดังกล่าวเพื่อหลบเลี่ยงให้ตนไม่ต้องจัดทำ EIA ในโครงการที่อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้โดยไม่ผิดกฎหมาย อันเป็นการใช้ช่องว่างทางกฎหมายบนต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมของสังคม ขณะที่หน่วยงานรัฐจำนวนไม่น้อยซึ่งควรจะต้องช่วยกันอุดช่องว่างของระบบ EIA เพื่อปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในฐานะผู้รักษาประโยชน์สาธารณะ กลับอาศัยชุดเหตุผลในลักษณะเดียวกับเอกชนเพื่อให้ตนไม่ต้องจัดทำ EIA ในโครงการที่อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งที่ควรเป็นแบบอย่างของการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ต่างๆ ด้วยความระมัดระวังต่อผลกระทบที่จะบังเกิดขึ้นในภายภาคหน้า เพราะผลบางด้านอาจเป็นความเสียหายที่ใหญ่หลวงหรือไม่อาจเยียวยาได้

3. สิทธิในการมีส่วนร่วมของประชาชน

ภายใต้การพัฒนาที่นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงอย่างกว้างขวางก็อาจสร้างผลกระทบให้เกิดกับชีวิตของผู้คน ชุมชน ท้องถิ่น และสังคม การเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนจะเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้การตัดสินใจเกี่ยวกับโครงการพัฒนาเกิดประโยชน์ต่อสาธารณะมากที่สุด ไม่ใช่เพียงการฟังเสียงประชาชนเท่านั้น หากยังหมายถึงการเอาความต้องการของประชาชนมาเป็นเงื่อนไขในการพิจารณาโครงการต่างๆ ซึ่งอาจนำมาสู่การปรับเปลี่ยน ลดขนาด ย้ายพื้นที่ ฯลฯ หรือการปฏิเสธโครงการ ในกรณีที่เห็นได้ว่าไม่เป็นที่ต้องการของผู้คน

เป็นที่ชัดเจนว่าโครงการของรัฐและเอกชนจำนวนมากที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้รับความยินยอมหรือความเห็นด้วยจากสังคมแล้วก็มักจะเผชิญกับการโต้แย้งเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง แม้ว่าโครงการจำนวนหนึ่งจะสามารถสร้างขึ้นได้ แต่หลายครั้งก็นำไปสู่การยกเลิกโครงการดังกล่าวอย่างสิ้นเชิงเมื่อต้องเผชิญกับการคัดค้านอย่างกว้างขวาง

ต่อกรณีปัญหาบ้านพักตุลาการ มีข้อเสนอดังต่อไปนี้

สำหรับกรณีเฉพาะหน้า ให้มีการระงับโครงการดังกล่าวไว้แล้วเปิดโอกาสให้สาธารณชนสามารถเข้าถึงข้อมูลในด้านต่างๆ เนื่องจากในปัจจุบันยังมีข้อมูลเป็นจำนวนมากซึ่งยังไม่เป็นที่รับรู้แต่อย่างใด เช่น ลักษณะพื้นที่มีความลาดชันเพียงใด มีการทำลายหน้าดินมากน้อยเพียงใด โครงการทั้งหมดแบ่งเป็นกี่โครงการและเหตุผลในการแบ่งย่อยโครงการ เป็นต้น รวมถึงให้มีการการประเมินผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นกลางและเป็นธรรมจากนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญและน่าเชื่อถือ ซึ่งอย่างน้อยต้องมีการศึกษาถึงทางเลือกของพื้นที่ในการพัฒนาโครงการ ความจำเป็นในการใช้พื้นที่ในปัจจุบันว่ามีมากน้อยเพียงใด รวมถึงขนาดของบ้านพักที่ถูกตั้งคำถามจากสังคมว่ามีขนาดใหญ่โตเกินกว่าสวัสดิการของข้าราชการทั่วไป ในท้ายที่สุดควรต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนว่ามีการยอมรับต่อโครงการดังกล่าวนี้หรือไม่อย่างไร

ในระยะยาว ควรจะต้องมีการเปิดเผยว่ายังคงมีพื้นที่ “ผืนป่า” ของหน่วยงานรัฐแห่งใดที่มีการครอบครองและยังไม่ได้มีการใช้ประโยชน์ ซึ่งควรต้องมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ให้ชัดเจนว่าจะสามารถกระทำได้ในกรณีเช่นใด และพื้นที่ในลักษณะเช่นใดที่เป็นการต้องห้ามไม่ให้ใช้ประโยชน์ และหากต้องการจะใช้ประโยชน์ก็ควรต้องมีการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณชน เพื่อไม่ให้ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นซ้ำซากในอนาคตข้างหน้า