ไม่พบผลการค้นหา
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ มอบหมายกรมชลประทาน-กฟผ. เร่งพร่องน้ำ 3 เขื่อนใหญ่ให้ได้มากที่สุด เพื่อเตรียมรองรับน้ำฝนช่วงกลางเดือน ส.ค.นี้

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุม "ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤต" ณ ห้องประชุมปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ กรมชลประทาน สามเสน เพื่อรับมือสภาวะฝนตกหนักในช่วงกลางเดือนสิงหาคมนี้(2561) ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่า จะเกิดพายุในช่วงเวลานั้น แต่จะเริ่มมีฝนตกมากขึ้นตั้งแต่ 5 ส.ค.นี้ ทำให้ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ได้รับผลกระทบจากปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้น

ดังนั้น จึงมอบหมายให้ กรมชลประทาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ระบายน้ำในเขื่อนออกให้ได้มากที่สุด เพื่อรองรับปริมาณน้ำฝนช่วงกลางเดือนสิงหาคมนี้ โดยเฉพาะ 3 เขื่อนใหญ่ ได้แก่ เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร, เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี และเขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี จำเป็นเร่งด่วนต้องระบายน้ำออกให้กลับมาอยู่ในระดับควบคุมภายใน 5-10 วัน พร้อมสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประเมินผลกระทบจากการระบายน้ำ และแจ้งเตือนให้ประชาชนท้ายเขื่อนรับทราบ

โจทย์สำคัญของเขื่อนน้ำอูน คือ "น้ำในเขื่อนมีปริมาณมาก แต่เอาออกไม่ได้" เพราะติดข้อจำกัดเรื่องจำนวนประตูระบายน้ำ และอุปกรณ์ระบายน้ำ จึงประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และจิตอาสาช่วยดำเนินการแล้ว

ส่วนเขื่อนแก่งกระจาน พบว่า น้ำฝนจะไหลเข้าอ่างเก็บน้ำในอีก 3-4 วันข้างหน้า ทำให้ระดับน้ำในอ่างเกือบเก็บความจุ จึงต้องเร่งระบายน้ำออก 

เช่นเดียวกับ เขื่อนวชิราลงกรณ พบว่า จำเป็นต้องระบายน้ำออกเพิ่มขึ้น แต่จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการรีสอร์ทท้ายเขื่อนซึ่งตั้งอยู่ริมน้ำ จึงต้องประเมินสถานการณ์ร่วมกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เพื่อแจ้งเตือนประชาชนให้รับทราบ ก่อนระบายน้ำออก

สำหรับในพื้นที่ภาคเหนือ กรมอุตุนิยมวิทยา แจ้งเตือนว่า ร่องมรสุมจะเข้ามามากขึ้นช่วงกลางเดือนสิงหาคม และต่อเนื่องมาถึงภาคกลาง ซึ่งพบว่า พื้นดินใน จ.น่าน อิ่มตัวด้วยน้ำมากแล้ว อาจเกิดดินถล่มได้ จึงแจ้งไปยังพื้นที่ให้เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด รวมทั้งสั่งการให้ตรวจสอบความแข็งแรงของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ขาดกลาง และขนาดเล็ก พร้อมวางแผนระบายน้ำหากระดับน้ำในอ่างเข้าขั้นวิกฤต เพื่อให้กระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำน้อยที่สุด 

ส่วนพื้นที่ภาคกลาง ยังไม่ต้องกังวล เพราะระดับน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ที่จะลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมได้ แต่ก็สั่งให้เพิ่มการระบายน้ำขึ้นแล้ว เพื่อรองรับน้ำฝนที่อาจจะเพิ่มขึ้น และปรับแผนรับมือตามสถานการณ์ฝน โดยจะนำแผนทั้งหมดมาหารืออีกครั้งในวันจันทร์หน้า (6ส.ค.61)

เลขาธิการ สทนช. ระบุว่า พื้นที่ที่ต้องประกาศแจ้งเตือนภัยทันทีคือ ริมแม่น้ำโขง ตั้งแต่ จ.เลย, หนองคาย, นครพนม และมุกดาหาร ระดับน้ำจะสูงขึ้น พร้อมประสานกับทางการจีน และ สปป.ลาว หากระบายออกจากเขื่อน เพราะจะส่งผลกระทบต่อจังหวัดริมน้ำโขงของไทย เพื่อวางแผนรับมือภายใน 7-10 วัน

ขอบคุณภาพประกอบข่าว : แฟ้มภาพจาก กฟผ.

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง