มายาคติที่ 1 – อาหารออร์แกนิกปลอดภัย เพราะห่างไกลจากยาฆ่าแมลง
ตามซูเปอร์มาร์เก็ต ผู้บริโภคส่วนใหญ่มักเลือกซื้ออาหารตามอัตภาพของตัวเอง ซึ่งความแตกต่างระหว่างอาหารออร์แกนิก และอาหารสามัญธรรมดา ถูกแบ่งชนชั้นกันชัดเจน เนื่องจากความตื่นตัวเรื่องความปลอดภัยด้านอาหาร และสำหรับผู้ผลิตอาหารติดฉลากออร์แกนิก ผลิตภัณฑ์ต้องได้รับการยอมรับตามมาตรฐานขององค์กร หรือหน่วยงานภาครัฐ อาทิ กรณีของกระทรวงการเกษตร สหรัฐฯ (The United States Department of Agriculture – USDA) ซึ่งประกาศรับรองอาหารออร์แกนิกก็ต่อเมื่อพิสูจน์ได้ว่า กระบวนการผลิตเป็นมิตรต่อทรัพยากรธรรมชาติ อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และใช้สารเคมีที่ผ่านการรับรอง นอกจากนั้น อาหารใดๆ ในแถบสหรัฐฯ และแคนาดาที่ติดฉลากแอร์แกนิก ต้องปราศจากจีเอ็มโอ (Genetically Modified Organisms – GMOs) หรือการดัดแลงพันธุกรรม
หากอธิบายตามนิยามของคำว่า ‘ออร์แกนิก’ อาหารทุกชนิดต้องไม่เติมปุ๋ยสังเคราะห์ หรือสารกำจัดศัตรูพืชเป็นเวลานาน 3 ปี ก่อนฤดูกาลเก็บเกี่ยว แต่การกระทำตามนิยามดังกล่าวแบบเป๊ะๆ ก็ยังไม่ได้หมายความว่า อาหารจะปราศจากสารเคมีตกค้าง เพราะการรับรองความเป็นออร์แกนิกของกระทรวงการเกษตร สหรัฐฯ ก็อนุญาตให้ใช้สารกำจัดศัตรูพืชตามธรรมชาติได้ด้วย
ผลการสำรวจในปี 2011 ของกระทรวงการเกษตร สหรัฐฯ แสดงให้เห็นว่า 39 เปอร์เซ็นต์จาก 571 อาหารออร์แกนิกพบสารเคมีตกค้าง แต่ปริมาณต่ำกว่าเกณฑ์ของสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมของสหรัฐฯ (The United States Environmental Protection Agency – EPA) ประกอบกับการสำรวจแนวโน้มตลาดเมื่อปี 2005 ของโฮล ฟู้ดส์ (Whole Foods) บริษัทที่ดำเนินธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ตในสหรัฐฯ ที่เน้นจำหน่ายสินค้าออร์แกนิกก็พบว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของผู้บริโภคซื้ออาหารออร์แกนิก เพราะต้องการหลีกเลี่ยงสารกำจัดศัตรูพืช ซึ่งนั่นดูเหมือนจะเป็นความเชื่อแบบผิดๆ
แน่นอนว่า การสัมผัสสารกำจัดศัตรูพืชเพียงเล็กน้อยไม่เป็นพิษต่อร่างกาย แต่สุดยอดคำถามจากมุมมองของนักพิษวิทยาคือ แล้วปริมาณเท่าไหร่ถึงจะอยู่ร่วมกันได้ เพราะขณะที่หลายๆ การศึกษามักแสดงให้เห็นว่า อาหารธรรมดาเต็มไปด้วยสารเคมีตกค้าง ทั้งๆ ที่เกษตรกรใช้สารกำจัดศัตรูพืชน้อยลงกว่าทศวรรษที่แล้วมาก
“จากมุมมองของผู้บริโภค ระดับความเสี่ยงของพวกเราต่ำมาก แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า เกษตรกรสามารถโยนสารเคมีต้องสงสัยใส่ในกระบวนการปลูก ผมไม่ได้บอกว่า สารกำจัดศัตรูพืชเป็นสิ่งดี แต่ไม่ควรวิตกกังวล และจำเป็นต้องควบคุมมากกว่า” คาร์ล วินเทอร์ (Carl Winter) นักพิษวิทยาด้านอาหารจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย กล่าว
มายาคติที่ 2 – อาหารออร์แกนิกช่วยให้สุขภาพดีขึ้น
เนื่องจากรัฐบาลสหรัฐฯ เริ่มควบคุมผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกในปี 1990 ทำให้มีคนออกมาอ้างว่า การบริโภคอาหารออร์แกนิกทำให้มีสุขภาพดีขึ้น แต่แล้วข้ออ้างดังกล่าวก็กลายเป็นความเข้าใจผิดในท้ายที่สุด หลังจากการวิเคราะห์ 240 ตัวอย่างของการศึกษาเกี่ยวกับคุณค่าทางโภชนาการของอาหารออร์แกนิก ไม่มีหลักฐานบ่งชี้ชัดเจนว่า ผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกช่วยให้ผู้บริโภคสุขภาพดี และสิ่งที่ทำให้ผู้บริโภคสุขภาพกีกว่าคนอื่นๆ ก็ไม่สามารถระบุได้ชัดเจนเสมอไป โดยผลการศึกษาตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ แอนนัลส์ ออฟ อินเทอร์นัล เมดิซิน (Annals of Internal Medicine)
อย่างไรก็ตาม นักวิจัยสรุปว่า การกินอาหารออร์แกนิกอาจลดความเสี่ยงที่จะสัมผัสสารเคมีตกค้าง แต่ผู้บริโภคอาจได้รับสารปนเปื้อนปฏิชีวนะ เพราะฟาร์มหลายๆ แห่งยังคงใช้ยาฆ่าแมลง และเลี้ยงสัตว์ในระบบปิด ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการตกค้างของยา และเกิดการดื้อยาได้
ต่อมา การศึกษาทบทวนผลการศึกษาในปี 2016 ตีพิมพ์ในวารสารโภชนาการของอังกฤษ (British Journal of Nutrition) ได้วิเคราะห์ผลการศึกษาจาก 170 ตัวอย่าง ก่อนสรุปว่า ผลิตภัณฑ์นมออร์แกนิก และเนื้อสัตว์โอเมก้า 3 สูง ซึ่งเป็นกรดที่บำรุงระบบหลอดเลือดให้แข็งแรง สร้างคุณประโยชน์ไม่แตกต่างกันมากนัก นั่นหมายความว่า คุณไม่จำเป็นต้องจ่ายแพงเพื่อนมออร์แกนิกก็ได้
นอกจากนั้น นักวิจัยอีกท่านหนึ่งชื่อว่า เฉินเซง ลู (Chensheng Lu) ยังได้ให้คำแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับการบริโภคอาหารว่า หากต้องการได้รับประโยชน์ และอาหารปลอดภัยต่อสุขภาพจริงๆ ควรเลือกอาหารที่ปราศจากยาฆ่าแมลง หรือสารเคมีใดๆ ซึ่งต้องเลือกจากผู้ผลิตที่วางใจได้เท่านั้น
มายาคติที่ 3 – จีเอ็มโออันตรายต่อผู้บริโภค
การดัดแปลงพันธุกรรมพืชผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์ เป็นหนึ่งในหัวข้อคลาสสิกที่วงการวิทยาศาสตร์ค้นคว้าวิจัยกันมานานหลายทศวรรษ เนื่องจากจีโนม (Genome) หรือข้อมูลพันธุกรรมมากมายมหาศาล สามารถศัลยกรรมปรับแต่ง เพื่อเปลี่ยนแปลงรหัสโครงสร้าง หรือลักษณะทางสายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตแบบถาวรได้ ทำให้บรรดานักวิทยาศาสตร์ต่างพากันศึกษากระบวนการทางพันธุวิศวกรรม โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการเกษตร ซึ่งต้องการให้พืชผักทนทานต่อแมลง สภาพอากาศ และการติดเชื้อไวรัสบางชนิด
จีเอ็มโอเข้าสู่ตลาดเมื่อราวๆ 23 ปีก่อน และกึกก้องไปทั่วโลกภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว จึงกลายเป็นที่มาของการอ���ิปรายในประเด็นความปลอดภัยและผลกระทบต่อสุขภาพ อย่างไรก็ตาม จีเอ็มโอไม่หยุดอยู่แค่เรื่อง ‘ผิดธรรมชาติ’ เท่านั้น แต่ยังมีวิธีการสังเคราะห์ดีเอ็นเอที่มนุษย์สามารถใช้ประโยชน์จากกระบวนการทางธรรมชาติได้เช่นกัน
ความหวาดกลัวต่อจีเอ็มโอ และข้ออ้างเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพ ส่งผลให้ผู้บริโภคมีเหตุผลในการก้าวเข้าสู่โลกของอาหารออร์แกนิก ขณะเดียวกันสหภาพยุโรปก็มีนโยบายเกี่ยวกับการตัดแต่งทางพันธุกรรมที่เข้มงวดสุดในโลก ครอบคลุมประเด็นการเพาะปลูก การนำเข้า และการอนุญาตจำหน่ายสินค้า ส่วนประเทศอื่นๆ เช่น อินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศ ออสเตรเลีย บราซิล แคนาดา บราซิล ฯลฯ กลับเดินหน้าอนุญาตให้ปลูกพืชจีเอ็มโอแบบเต็มกำลัง เนื่องจากมันเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม แม้ไม่มีหลักฐานมากพอที่แสดงให้เห็นว่า อาหารจีเอ็มโอปลอดภัยต่อผู้บริโภค แต่อาหารดัดแปลงพันธุกรรมก็มีคุณค่าทางโภชนาการ และนำความหลากหลายอันเป็นประโยชน์มาให้ผู้บริโภค ตามที่องค์การอนามัยโลกระบุว่า ปัจจุบันไม่มีอาหารจากพืชดัดแปลงพันธุกรรมใดๆ ส่งผลเสียต่อสุขภาพของมนุษย์
ทำให้หลายคนสงสัยว่า แล้วเหตุใดมายาคติต่อต้านจีเอ็มโอยังคงหลงเหลืออยู่ คำตอบแบบละเอียดๆ ก็คือ กลุ่มนักเทคโนโลยีชีวภาพ และบรรดานักปรัชญาจากมหาวิทยาลัยเกนท์ (Ghent University) ประเทศเบลเยียม ตั้งข้อสมมติฐานว่า ภาพด้านลบของจีเอ็มโอเป็นสัญชาตญาณการเรียกร้องของมนุษย์ เพราะความคิดเรื่องการตัดต่อ หรือนำยีนต่างสายพันธุ์ใส่ในอาหารดูเหมือนเป็นการแทรกแซงที่ ‘ผิดธรรมชาติ’ ของความเป็นมนุษย์ และนักวิทยาศาสตร์ก็ถูกกล่าวหาว่า ล่วงละเมิดขอบเขตราวกับกำลัง ‘เล่นอยู่กับพระเจ้า’
“ยังไม่มีหลักฐานแสดงให้เห็นผลกระทบที่เป็นอันตรายจากการกินพืชดัดแปลงพันธุกรรมที่ปลูกในปัจจุบัน แต่ผมก็บอกไม่ได้ว่า ในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้าพืชจะเป็นอย่างไร ดังนั้น กฎระเบียบด้านความปลอดภัยของอาหารเลยกลายเป็นสิ่งสำคัญมาก เหมือนกับเทคโนโลยีตัดต่อพันธุกรรมแบบใหม่ คริสเปอร์ (CRISPR) ที่กำลังกลายเป็นเรื่องปกติมากขึ้น ทำให้หน่วยงานกำกับดูแลต้องศึกษาแบบเป็นกรณีๆ ไป เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค และผู้ผลิตด้วย” เกร็กกอรี แจฟฟ์ (Gregory Jaffe) ผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยีชีวภาพ สถาบันวิทยาศาสตร์สาธารณประโยชน์ (Center for Science in the Public Interest – CSPI) องค์กรอิสระที่ติดตามด้านนโยบายอาหาร และการคุ้มครองผู้บริโภคในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐฯ กล่าว
มายาคติที่ 4 – จีเอ็มโอเป็นมหันตภัยเลวร้ายต่อสิ่งแวดล้อม
นอกจากผลกระทบต่อสุขภาพแล้ว บรรดาผู้คัดค้านจีเอ็มโอก็มักอ้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมด้วยอันใหญ่หลวง เพราะพวกเขากลัวการพืชจีเอ็มโอจะทำให้ระบบนิเวศเปลี่ยนแปลงไปแบบไร้การควบคุม ผลผลิตทางการเกษตรอื่นๆ อาจได้รับความเสียหายจากเชื้อโรค แมลง และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือในแง่เลวร้ายสุดๆ พืชจีเอ็มโออาจทำให้เกิดการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตบางชนิด จนนำไปสู่ภาวะขาดแคลนอาหาร
ผู้คัดค้านจีเอ็มโอทราบกันดีว่า การผสมแบบข้ามสายพันธุ์ต้องการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชมาก ซึ่งลดความหลากหลายทางชีวภาพ และเพิ่มความทนทานต่อศัตรูพืช ทำให้การศึกษาในปี 2016 พบว่า เกษตรกรที่ปลูกถั่วเหลืองดัดแปรพันธุกรรมใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชมากกว่าเกษตรกรทั่วไป ทำให้อาจมีการตกค้างของสารที่อันตรายต่อได้ ขณะเดียวกันการศึกษาในปี 2014 พบว่า พืชดัดแปลงพันธุกรรมให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์ที่ไม่ใช่จีเอ็มเอถึง 22 เปอร์เซ็นต์
นักวิจัยยอมรับว่า มีเรื่องราวมากมายที่โลกต้องเรียนรู้เกี่ยวกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของพืชดัดแปลงพันธุกรรม ยิ่งไปกว่านั้น การวิพากษ์วิจารณ์ก็มีส่วนสำคัญต่อการศึกษาข้อเท็จจริง โดยการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมเพิ่มขึ้นจากพืชพันธุ์ท้องถิ่น แต่ภาพรวมของพันธุวิศวกรรมสมัยใหม่ไม่ได้ก่อความเสียหายมากเท่าที่นักวิจารณ์กล่าวหา เพราะการกำจัดข้อด้อยของผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร และเสริมจุดเด่นเข้าไป ช่วยให้ต้นทุนต่ำลง ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมการเกษตรกรรม และอุตสาหกรรมอาหาร
แม้นักวิทยาศาสตร์ยังคงไม่มั่นใจว่า จีเอ็มโอดีต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าการปลูกพืชชนิดอื่นๆ หรือไม่ แต่ปัจจุบันเกษตรกรส่วนใหญ่ก็เน้นทำเกษตรแบบออร์แกนิกที่ปลอดจีเอ็มโอกันมากกว่า
สุดท้ายแล้ว อาหารออร์แกนิกไม่ใช่ทางเลือกเลวร้าย และพืชจีเอ็มโอไม่ได้ย่ำแย่ แต่ผู้บริโภคควรเลือกอาหารบนหลักการคิดแบบวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่แค่ความเชื่อ มายาคติ หรือข่าวลือแบบผิดๆ เพราะหลายๆ ครั้งที่พูดเรื่องอาหารจีเอ็มโอ และอาหารออร์แกนิก ต่างฝ่ายต่างก็จะยกเหตุผลของตัวเองมาลบล้างความคิดของคู่ตรงข้ามอยู่เสมอ