ไม่พบผลการค้นหา
ในบ่อน้ำอันกว้างใหญ่ของตลาดอี-คอมเมิร์ซไทยซึ่งปัจจุบันมีมูลค่ากว่า 2.8 ล้านล้านบาท มีธุรกิจสกินแคร์แบรนด์ไทย ที่พัฒนาผลิตภัณฑ์มาจากงานวิจัยเรื่องยางพารา โดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในชื่อ 'APARA' เข้ามาเป็นผู้เล่นในตลาดด้วย

'วอยซ์ ออนไลน์' คุยกับ 'พรดนัย สมใจมั่น' กรรมการผู้จัดการบริษัท สยามอะพาร่า จำกัด คนรุ่นใหม่วัย 20 ต้นๆ ที่เริ่มทำธุรกิจขายสินค้าออนไลน์ตั้งแต่อายุ 15 ปี และจับมือกับเพื่อนร่วมกันปลุกปั้นแบรนด์ 'APARA' หรือ 'อะพาร่า' ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ที่พัฒนามาจากงานวิจัยเรื่องยางพารา วางขายผ่านตลาดออนไลน์ และโซเซียลมีเดีย

ท่ามกลางธุรกิจสกินแคร์ หรือ ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ที่แข่งขันกันอย่างดุเดือด ขัดกับภาพลักษณ์ผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยน พร้อมการต่อกรกับเหล่าเคาน์เตอร์แบรนด์ เป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ หากผู้ประกอบการไม่เลือกเจาะกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจนตรงเป้า และต้องมาพร้อมกับความมั่นใจว่าแบรนด์ของตนมีดีจริงที่จะสู้กับแบรนด์อื่นได้ซึ่งๆ หน้า

จากข้อมูลของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA ระบุว่า การเติบโตของตลาดอี-คอมเมิร์ซในประเทศไทย ขยายตัวอย่างรวดเร็วจากมูลค่า 2.03 ล้านล้านบาทในปี 2557 เพิ่มเป็น 2.81 ล้านล้านบาท ในปี 2560 โดยมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยปีละ 2 หลัก

ขณะที่ กลุ่มสินค้าเครื่องสำอาง อาหารเสริม น้ำหอม และอุปกรณ์เสริมความงาม มีมูลค่าในตลาดอี-คอมเมิร์ซเติบโตจาก 61,683 ล้านบาทในปี 2557 มาเป็น 157,476 ล้านบาท ในปี 2560 หรือเติบโตร้อยละ 61

ยางพารา

รู้จัก APARA-แสงสว่างจากยางพารา

'พรดนัย' เล่าว่า แบรนด์ 'อะพาร่า' มีความหมายว่า "แสงสว่างจากยางพารา" เนื่องจากยางพารางเป็นต้นไม้มหัศจรรย์ที่สามารถเยียวยาบาดแผลจากการโดนกรีดโดยเกษตรกรได้เป็นอย่างดี ทำให้นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์สังเกตเห็นความอัศจรรย์นี้และเริ่มศึกษากว่า 20 ปี จนทราบว่าสารพฤกษเคมีสำคัญที่ต้นไม้หลั่งออกมาเพื่อรักษาตัวเองนั้น มีคุณสมบัติพิเศษที่สามารถบำรุงผิวพรรณของมนุษย์ได้

APARA

ประกอบกับ 'พรดนัย' และ 'วุฒิชัย (เฉลิมวุฒานนท์) สองผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ APARA เป็นชาวจังหวัดระนองและเห็นสวนยางมาตั้งแต่เด็ก เมื่อคิดจะทำแบรนด์ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว จึงนำคำว่า 'ยางพารา' มาเล่นคำเป็น 'อะพาร่า' ซึ่งมีความหมายว่า "แสงสว่างจากยางพารา" ด้วยหวังให้แบรนด์นี้ไม่ใช่แค่จะทำธุรกิจ แต่ยังเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรสวนยางที่ประสบปัญหาราคายางตกต่ำและยังเป็นการสนับสนุนงานของนักวิจัยชาวไทย

'พรดนัย' บอกด้วยว่า ตนและหุ้นส่วนได้อ่านงานวิจัยเกี่ยวกับสารสกัดจากยางพาราที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ทำร่วมกับ TCELS หรือ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) แล้วตัดสินใจเข้าไปติดต่อมหาวิทยาลัยเพื่อนำเทคโนโลยีตัวนี้มาใช้กับผลิตภัณฑ์ของทั้งคู่ที่มีชื่อแบรนด์ว่า APARA

โดยปัจจุบันแบรนด์มีผลิตภัณฑ์ 2 ตัว ได้แก่ APARA-the First Care Para Activating Essence เป็นน้ำตบที่ใช้เป็นขั้นตอนแรกในการบำรุงผิว และ APARA-Relaxing Cleansing Oil ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหน้าที่สกัดมาจากเมล็ดยางพาราและเป็นงานวิจัยที่เป็นของไทย ซึ่งได้รับรางวัลนวัตกรรมจากเกาหลีใต้ด้วย

APARA-ธุรกิจ-เครื่องสำอางค์-สกินแคร์

อย่างไรก็ตาม เขาบอกด้วยว่า บริษัทใช้เวลาค่อนข้างนานสำหรับการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพราะต้องการมีงานวิจัยรองรับ และสิ่งนี้คือจุดแข็งและจุดขายของแบรนด์ที่ทำให้ APARA เป็นสกินแคร์แบรนด์ไทยที่เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

พาสวนยางส่องสว่างไปทั่วโลกออนไลน์

การทำธุรกิจขายผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ผ่านตลาดออนไลน์ของแบรนด์ APARA มาเกือบ 3 ปี (เริ่มต้นธุรกิจตุลาคม 2558) ด้วยเงินเริ่มต้น 3 แสนบาท วันนี้ บริษัทมียอดขายหลักมาจากช่องทางออนไลน์ร้อยละ 90 โดยไม่มีหน้าร้าน และในเวลาอันใกล้ก็ยังไม่มีแผนจะเปิดหน้าร้านแต่อย่างใด

ส่วนยอดขายอีกร้อยละ 10 มาจากตลาดชาวต่างชาติ โดยมีบริษัทนำเที่ยวนำไปจำหน่าย


"ตั้งแต่วันแรก เมื่อ 3 ปีที่แล้ว จนถึงวันนี้ เทรนด์การเติบโตของบริษัทก็เติบโตขึ้นเรื่อยๆ เราเริ่มใช้เงินลงทุน 3 แสนบาท ปัจจุบันนี้เราสามารถสร้างยอดขายที่มากกว่า 7 หลักต่อเดือน" พรดนัย กล่าว


ส่วนที่เลือก เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และยูทูบ เป็นช่องทางการขาย เพราะเทรนด์การตลาดในโซเชียลมีเดียเติบโตอย่างต่อเนื่อง และไม่ได้มีแค่เด็กเท่านั้นที่เข้ามาในช่องทางนี้ ตอนนี้ก็มีกลุ่มคนหลายวัยตั้งแต่วัยรุ่น วัยทำงาน และวัยผู้ใหญ่เข้ามาในสังคมออนไลน์มากขึ้น

อีกหนึ่งเหตุผลคือช่องทางเหล่านี้ไม่จำเป็นจะต้องใช้เงินลงทุนในการเปิดหน้าร้าน อีกทั้งการทำโฆษณาบนช่องทางสังคมออนไลน์ใช้เงินทุนที่น้อยกว่าสื่อดั้งเดิมมากๆ ดังนั้นเมื่อย้อนไปที่จุดเริ่มต้น ทั้งสองคนเปิดบริษัทตั้งแต่อายุ 21 ปี เงินทุนยังไม่เยอะ ช่องทางที่ประหยัดอย่างนี้จึงเป็นช่องทางที่เหมาะสมที่สุดกับ APARA

อีกทั้งพรดนัย ซึ่งรับผิดชอบหลักเรื่องการตลาดออนไลน์ของแบรนด์เล่าต่อไปว่า ตนมีประสบการณ์การทำการตลาดออนไลน์มาตั้งแต่อายุ 15 ปี โดยตอนนั้นใช้ระบบ Dropship คือการสร้างเว็บไซต์แล้วก็ไปเอารูปผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของคนอื่นมาลงในเว็บไซต์ของตัวเองแล้วก็ขายต่อให้ลูกค้า อันนี้เป็นจุดที่ทำให้ตนมีความถนัดในเรื่อง การตลาดดิจิทัลและสังคมออนไลน์

APARA

เรื่องปวดหัวที่เลี่ยงไม่ได้

แม้เทคโนโลยีต่างๆ จะเข้ามาทำรายได้ให้ APARA กว่าร้อยละ 90 ของรายได้ทั้งหมด แต่ก็ยังไม่วายสร้างความปวดหัวให้พรดนัยกับวุฒิชัยไม่ขาดสาย APARA มียอดการขายหลักมาจากเฟซบุ๊ก ดังนั้นทุกครั้งที่ เฟซบุ๊กตัดสินใจเปลี่ยนแปลงระบบและอัลกอริทึมต่างๆ จึงไม่แปลกที่ พรดนัย จะต้องหัวหมุนตามไปด้วย

พรดนัยบ่นให้เราฟังว่าเมื่อก่อนใครที่ทำเพจใหม่ๆ จะสามารถเข้าถึงผู้ชมหรือว่ากลุ่มเป้าหมายของตัวเองได้มากโดยเสียเงินน้อย แต่ปัจจุบันอัลกอริทึมของเฟซบุ๊กเปลี่ยนไป กลุ่มเป้าหมายเข้าถึงเพจได้น้อยลง ปัญหาก็คือทางผู้ประกอบการเองก็จะต้องใส่เม็ดเงินเพิ่มมากขึ้นกับช่องทางสื่อออนไลน์

อีกทั้งเฟซบุ๊กมีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นเทคนิคหรือว่าพวก User Interface (ส่วนต่อประสานงานกับผู้ใช้) UX (User Experience) หรือ UI (User Interface) ต่างๆ ทางฝั่งผู้ประกอบการต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลาว่าตัวปุ่มมันเปลี่ยนไปอยู่ทางนั้นที ทางนี้ที

ถึงจะต้องปวดหัวกันอยู่เนืองๆ กับการปรับตัวอยู่ตลอดเวลา แต่เมื่อเทียบกับความสะดวกสบายที่ทั้งผู้ประกอบการและผู้ซื้อได้จากเทคโนโลยีตรงนี้ ก็ถือว่าพอจะให้อภัยกันได้

การเจอกันของ 'มิลเลนเนียล' และเทคโนโลยีที่เติบโตไม่หยุดยั้ง

พรดนัยชี้ด้วยว่าประเด็นเกี่ยวกับความเป็นห่วงของเหล่าผู้ปกครองที่มีต่อทัศนคติของเด็กสมัยใหม่กับการทำงานว่าจริงๆ การเข้ามาของเทคโนโลยีอย่างตัวอินเทอร์เน็ตเปลี่ยนแปลงโลกอย่างมาก เปลี่ยนแปลงวิธีการหาเงินของเด็กๆ คนรุ่นใหม่ รวมถึงตนเองด้วยที่เริ่มจากการเป็นพนักงานออฟฟิศเช่นกัน แต่ค้นพบว่านั่นไม่ใช่ไลฟ์สไตล์ที่ตนชอบ


“เมื่อก่อนตอนอายุ 15 ปี เพื่อนๆ ก็ยังงงอยู่เลยว่าขายของออนไลน์ได้จริงๆ หรือ แต่วันนั้นเราก็พิสูจน์ให้เพื่อนๆ เห็นแล้ว มาถึงวันนี้เราก็พิสูจน์ให้ครอบครัวเห็นด้วยเหมือนกันว่าตัวอินเทอร์เน็ตที่เข้ามาทุกวันนี้สามารถที่จะทำให้เราไม่จำเป็นต้องไปเป็นพนักงานออฟฟิศ แล้วก็นั่งทำงานในร้านกาแฟหรือว่าไปเที่ยวก็ยังพกคอมพิวเตอร์ไปทำงานเพื่อสร้างรายได้ได้” พรดนัยกล่าวพร้อมรอยยิ้ม


APARA เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างการมองเห็นและคว้าโอกาสจากเทคโนโลยีที่อยู่รอบตัวเราทุกวันนี้อย่างแยกออกจากกันไม่ได้ พรดนัยอาจต้องทนอึดอัดกับการตั้งคำถามของหลายคน ทั้งเพื่อนและครอบครัวว่าการนั่งตอบไลน์หรือจ้องคอมพิวเตอร์ทั้งวันของเขานั้นมันสร้างอะไรให้เกิดขึ้นเป็นชิ้นเป็นอันจริงๆ หรือ แต่เมื่อวันหนึ่งที่เทคโนโลยีมันผลิดอกออกผลและตอบแทนด้วยตัวเลขในบัญชี เมื่อนั้นก็ไม่มีใครตั้งคำถามอันน่าอึดอัดกับเขาอีกต่อไป

ถ้าเราไม่ใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ มันก็เกิดประโยชน์ขึ้นมาเองไม่ได้