ไม่พบผลการค้นหา
หลักสูตรนานาชาติต้อนรับนักศึกษาจีน เข้ามาอยู่ในมหาวิทยาลัยไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สังเกตได้ตามแหล่งชุมชนใกล้มหาวิทยาลัยต่างๆ จะมีชุมชนลิตเติ้ลไชน่ารายรอบ

นอกจากการท่องเที่ยว ที่มีคนจีนหลั่งไหลเข้ามาในไทยเป็นจำนวนมาก ในภาคการศึกษาพบว่าคนจีนก็นิยมเข้ามาเรียนในไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในระดับปริญญาตรี ตัวเลขนักศึกษาชาวต่างชาติจากคณะกรรมการอุดมศึกษาตั้งแต่ปี 2545 -2556 พบว่านักศึกษาต่างชาติที่เข้ามาเรียนในไทยเพิ่มขึ้นเท่าตัว จาก 4,343 คน เป็นเกือบ 20,000 คน ในปี 2556

ทั้งนี้ พบว่านักศึกษาจากจีนเป็นชาติที่เข้ามาเรียนในไทยมากที่สุดโดยในปี 2556 มีนักศึกษาจีนในไทยกว่า 6,600 คน ซึ่งส่วนใหญ่เลือกเรียนในสาขาที่เกี่ยวข้องกับบริหารธุรกิจ ธุรกิจระหว่างประเทศ

รองลงมา เป็นสาขาที่เกี่ยวข้องกับภาษาไทย ทั้งการสอนภาษาไทย การสื่อสารภาษาไทยในเชิงธุรกิจ รวมไปถึงการเรียนภาษาไทยเพื่อการสอน

'หวัง จื่อซู' นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาภาษาอังกฤษธุรกิจ วิทยาลัยนานาชาติจีน มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยกับ 'วอยซ์ออนไลน์' ว่า หลังจากจบมัธยมปลายที่ยูนนาน ก็ตัดสินใจขออนุญาตพ่อแม่มาเรียนปริญญาตรีที่เมืองไทย เพราะอยากเปลี่ยนบรรยากาศการใช้ชีวิต รวมไปถึงอยากพิสูจน์ตัวเองในการใช้ชีวิตในต่างแดน ทั้งนี้โรงเรียนในระดับมัธยมปลายก็มีข้อตกลงร่วมกันกับมหาวิทยาลัยในไทย ทำให้ตัดสินใจเลือกมาเรียนที่ประเทศไทย


27901756_10213621893693955_1747726024_o.jpg

หวัง จื่อซู จากมณฑลยูนนาน นักศึกษาชั้นปีที่2 วิทยาลัยนานาชาติจีน มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

'จาง หลี่เหวิน' นักศึกษา สาขาการจัดการธุรกิจระหว่างประเทศ วิทยาลัยนานาชาติจีน มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ต้องการจะทำธุรกิจกับคนไทย เพราะคาดว่าในอนาคตการค้าระหว่างไทยกับจีนจะเพิ่มมากขึ้นกว่าในปัจจุบันและประเทศไทยยังเป็นตลาดท่องเที่ยวที่คนจีนต้องการมาเยือนมากที่สุด ครอบครัวจึงส่งมาเรียนระดับปริญญาตรีในไทย

'เหยียน หลี่เกอ' นักศึกษา สาขาเดียวกันกับจางบอกว่า ที่เธอมาเรียนที่ไทย เกิดจากครอบครัวบังคับให้มาเรียนภาษาไทย เพราะว่า ปัจจุบันความร่วมมือระหว่างจีนกับไทยมีเพิ่มมากขึ้น และหวังว่า การที่เธอรู้เรื่องราวในเมืองไทย รู้ภาษาไทย จะเป็นประโยชน์ต่ออาชีพการงานของเธอในอนาคต


27787227_10213621893573952_297411906_o.jpg

เหยียน หลี่เกอ และ จาง หลี่เวิน จากมณฑลยูนนาน นักศึกษาชั้นปีที่2 สาขาการจัดการระหว่างประเทศ

ทั้ง 3 คนมองอนาคตไว้ว่า การมาเรียนที่ไทยจะทำให้ทักษะการใช้ภาษาไทยดีขึ้น เข้าใจคนไทยมากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการงานของพวกเขาในอนาคต

"เมื่อเรียนจบ ก็อยากจะทำธุรกิจท่องเที่ยวระหว่างไทยกับจีน เพราะไทยเป็นประเทศที่คนจีนนิยมชมชอบมาเที่ยวและคนไทยก็ไปเที่ยวจีนเป็นจำนวนมากในแต่ละปี การมาเรียนที่ไทย ทำให้เข้าใจคนจีนว่าต้องการท่องเที่ยวแบบไหนและที่ไหนควรพาคนจีนไป และคนไทยต้องการท่องเที่ยวแบบไหนในจีนมากขึ้น" จางกล่าว

ขณะที่ หลี่เกอและจื่อซู กล่าวว่า ตนเองยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะอยู่ทำงานในไทยหรือกลับไปทำงานที่จีน แต่การได้เรียนภาษาไทยจะทำให้เวลากลับไปทำงานบ้่านเกิดที่จีน (ทั้งคู่มาจากมณฑลยูนนาน) มีโอกาสในการหางานมากกว่า เนื่องจากรู้เรื่องราวและภาษาที่ 3 ที่เป็นภาษาของประเทศเพื่อนบ้าน

ดร. จักรกรินทร์ ศรีมูล คณบดีวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้กล่าวกับวอยซ์ออนไลน์ว่า แนวโน้มของเด็กจีนที่เข้ามาเรียนในไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจุบันมีเด็กจีนจำนวนมากที่ล้นออกจากระบบการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยในจีน และประเทศไทยเป็นตัวเลือกหนึ่งของคนจีน เนื่องจากราคาค่าครองชีพไม่แพง ใกล้บ้าน และได้โอกาสในการฝึกฝนภาษาและเป็นโอกาสช่องทางการทำงานและการทำธุรกิจในอนาคต

นอกจากภาษาไทยแล้ว นักศึกษาจีนที่มีบ้านเกิดอยู่ในเมืองที่ติดกับชายแดนของเมียนมาร์ ลาว เวียดนาม ยังมีความสนใจในการเรียกภาษาเพื่อนบ้านมากขึ้น

สำนักข่าวไซน่าเดลี่ รายงานคำให้สัมภาษณ์ของ 'จาง เว่ยกั๋ว' นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยยูนนานหมินซู ผู้เลือกเรียนภาษาพม่า ว่าตอนแรกไม่ได้ตั้งใจจะมาเรียนภาษาพม่า แต่ได้รับทุนจากทางมณฑลให้เรียนภาษาพม่า ซึ่งในตอนแรกคิดว่า การเรียกภาษาพม่านี้ไม่น่าจะมีความสำคัญ เพราะเป็นภาษาของชนกลุ่มน้อยและเป็นภาษาที่มีคนใช้น้อย แต่ทันทีที่เขาจบจะได้รับการเสนองานให้ทำทันทีจากหน่วยงานรัฐบาลจีน

'เฉิน เสี่ยวยุน' นักวิชาการจากโครงการศึกษาภาษาไทย สถาบันวิทยาศาสตร์สังคมแห่งยูนนานกล่าวว่า การศึกษาภาษาไทยทำให้เขาได้มีโอกาสศึกษาการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของประเทศรวมทั้งมีโอกาสที่จะมีหน้าที่การงานที่ดีในอนาคต

ทั้งนี้ นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน กล่าวว่า จีนจะเสนอการฝึกอบรมระยะสั้นและให้บริการการศึกษากับประชาชน 2,000 คนในกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงและทุนการศึกษาสี่ปีสำหรับนักศึกษาปริญญาตรีในปี 2561 จำนวน 100 ทุน เพื่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและการศึกษาระหว่างจีนกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้มากขึ้น

พวงพรรณ ภู่ขำ
25Article
0Video
0Blog