หนึ่งในพื้นที่ที่มีการประกอบอุตสาหกรรมการผลิตหนาแน่นที่สุดในประเทศ หนีไม่พ้นโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก หรือ อีอีซี เมกะโปรเจ็กต์ที่เริ่มต้นมาแล้ว 3 ปี บนพื้นที่เดิมของโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด ชลบุรี-ระยอง-ฉะเชิงเทรา โดยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา คาดหวังอย่างยิ่งว่าจะดึงดูดเม็ดเงินลงทุนนอกประเทศเจเนอเรชั่นใหม่ได้
อย่างไรก็ตาม ในหลายๆ ตัวแปรสำคัญที่ต่างชาติใช้เป็นตัวชี้วัดว่าจะลงทุนหรือไม่ คือเรื่องของ ‘แรงงาน’ และ ‘เทคโนโลยี’
“เราขาดแคลนแรงงาน พึ่งพาแรงงานต่างชาติมาก แรงงานไทยก็ไม่อยากทำแบกหามอีกต่อไป เขารู้สึกไม่มีคุณค่า ผู้ประกอบการก็ไม่มีความคุ้มค่าในการจ้างแรงงานแบกหาม หุ่นยนต์จะเข้ามาทำงานแทนแรงงานที่ขาดแคลน ทำให้คนมีความสะดวกสบายมากขึ้น ทำงานที่มีคุณค่ามากขึ้น อุบัติเหตุน้อยลง” อนุชิต นาคกล่อม กรรมการผู้จัดการบริษัทเซ็นเซอร์นิกส์ ผู้ประกอบการในเขตเศรษฐกิจอีอีซี จำกัด บอกกับ Voice On Being ในงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ‘Alibaba Smart Logistic and Lean Management for Manufacturing’ ซึ่งจัดโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เมื่อชวนพูดคุยว่าทำไมหุ่นยนต์จะกลายเป็นกำลังสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมการผลิต
เขาชี้ชัดว่า สิ่งที่หุ่นยนต์ทำได้มากกว่าคนก็คือ 1. ทำงานได้ 24 ชม. ไม่มีหยุด 2. ทำงานหนักหรือแบกของหนักได้ 3. มีความปลอดภัยสูง ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยแข่งขันกับประเทศการผลิตอื่นๆ ได้ไม่ยาก
การลงทุนโรงงานการผลิต นอกจากต้นทุนการผลิตแล้ว ยังมีทั้งต้นทุนการบริหารจัดการ ต้นทุนการเก็บรักษาสินค้าคงคลัง ตลอดจนต้นทุนการขนส่ง
โดยเฉพาะต้นทุนการขนส่งสินค้าหรือโลจิสติกส์ ที่เข้ามาเป็นปัจจัยหลักในธุรกิจค้าปลีกออนไลน์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งขาที่แทบทุกกลุ่มผู้ผลิตพร้อมใจมุ่งหน้าไป เพราะเชื่อว่าเป็นโอกาสสำคัญของเม็ดเงินในอนาคต
ความท้าทายสำคัญของประเทศไทย คือต้นทุนโลจิสติกส์ที่คิดเป็น 18% ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด ขณะที่มาเลเซียและสิงคโปร์อยู่ต่ำกว่า 10% การเข้ามาทดแทนแรงงานของหุ่นยนต์ เชื่อได้ว่าประเทศไทยจะแข่งขันกับประเทศใกล้เคียงได้มากขึ้น
เซบาสเตียน เหลิ่ง โปรเจ็กต์แมเนเจอร์จาก ควิกตร็อน (Quicktron) บริษัทผลิตหุ่นยนต์ขนส่งที่ใช้ในโกดังของยักษ์อี-คอมเมิร์ซ ‘อาลีบาบา’ กล่าวว่า ในโกดังสินค้าของอาลีบาบา ปัจจุบันใช้หุ่นยนต์ในการหยิบของ หรือย้ายของจากที่หนึ่งไปที่หนึ่ง โดยมีพนักงานควบคุมด้วยซอฟแวร์ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ผ่านระบบไวไฟ เพื่อเพิ่มความเร็วในทุกกระบวนการเพื่อจัดส่งสินค้าไปยังปลายทาง โดยทางบริษัทตั้งเป้าบรรลุเป้าหมายส่งสินค้าทั่วโลกภายใน 72 ชั่วโมง
“ระบบอัตโนมัติช่วยอี-คอมเมิร์ซอาลีบาบาโตเร็วมาก หวังว่าจะช่วยเหลืออี-คอมเมิร์ซในไทยได้ด้วย ตอนนี้เรามีฮับในมาเลเซีย เรากำลังจะไปฮ่องกงและประเทศไทย และต้องการฮับในที่อื่นๆ ด้วย”
ผู้พัฒนานวัตกรรมจำนวนมาก ตลอดจนผู้ประกอบการ ประสาเสียงกันว่า อี-คอมเมิร์ซในไทยยังไปได้ไกลกว่านี้อีกมาก เนื่องจากยังอยู่ในช่วงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ทั้งการขนส่ง ตลอดจนการจัดจ่ายและการชำระเงิน นอกจากนี้ ผลสำรวจจากสำนักวิจัยซีบีอาร์อี พบว่าปัจจุบันยอดขายอี-คอมเมิร์ซไทยยังคิดเป็นมูลค่าไม่ถึง 1% ของค้าปลีกทั่วประเทศ
แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีรายงานข่าวอย่างครึกโครมหลายสำนักว่า ในปี 2030 หุ่นยนต์จะแย่งงานมนุษย์ไปถึง 800 ล้านตำแหน่ง โดยเฉพาะตำแหน่งงานด้านธุรการ การบัญชี หรืองานที่ใช้แรงงาน แต่ตัวแทนจากทั้งเซ็นเซอร์นิกส์และควิกตร็อน มองว่า งานจะไม่ลดลง แต่จะเพิ่มมากขึ้น ในตำแหน่งสายงานที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรม จึงจำเป็นที่จะต้องให้เด็กรุ่นใหม่เรียนรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมและเอไอ และอย่าหวาดกลัว
“คนปัจจุบันบอกว่าเราไม่อยากยุ่งกับหุ่นยนต์เลย แล้วคุณทำงานได้เท่าเขาหรือเปล่า แล้วคุณอยากทำงานประเภท หนัก เหนื่อย ร้อน ไหม?” อนุชิต ตั้งคำถาม “งานประเภทที่ทำทั้งวัน ทั้งคืน คนก็ทำไม่ได้ สิ่งที่เราจะอยู่ร่วมกับหุ่นยนต์ได้คือ แทนที่เราจะเป็นพนักงานประเภททำเหมือนหุ่นยนต์ เราก็ต้องเป็นพนักงานที่ชั้นสูงขึ้นมาอีกคือควบคุมหุ่นยนต์แทน”
สอดคล้องกับความเห็นของเซบาสเตียน ที่มองว่า มนุษย์ไม่ควรกลัวหุ่นยนต์ แต่ต้องเรียนรู้การทำงาน และมากกว่านั้นคือเรียนรู้ในการ ‘ควบคุม’
“นี่คือคำถามที่ตลกนะ เป็นไปได้ไหมที่หุ่นยนต์จะเข้ามาควบคุมมนุษย์ ก็อาจจะถ้ามนุษย์ไม่ควบคุมหุ่นยนต์ตั้งแต่แรก แต่ระบบเอไอคือระบบที่มนุษย์ใช้เซ็ตอัพเพื่อดำเนินการต่างๆ ผมว่ายังไงก็จะต้องใช้มนุษย์ในการควบคุมอยู่ดี”
“ในฮ่องกง มีโรงเรียนประถมศึกาหลายแห่งสอนวิชาเกี่ยวกับเอไอและโรโบติก สมัยรุ่นผมไม่มีแม้กระทั่งวิชาคอมพิวเตอร์ เด็กรุ่นนี้โชคดีที่ได้เรียนเกี่ยวกับเอไอ อย่างไรก็ตาม ผมหวังว่าผู้เกี่ยวข้องกับการกำกับการศึกษา จะสอนเด็กเกี่ยวกับการควบคุมการใช้งานหุ่นยนต์ด้วย นี่สำคัญมาก แม้พวกเขาจะเปิดใจเรียนรู้เกี่ยวกับระบบหุ่นยนต์ แต่พวกเขาก็ต้องเรียนรู้จะควบคุมพวกมันด้วย” เซบาสเตียน กล่าว