ไม่พบผลการค้นหา
นายกฯ มาเลเซียเตรียมเยือนจีนช่วงกลางเดือน ส.ค. สานสัมพันธ์เศรษฐกิจ แต่จะมุ่งเน้นให้ทั้งสองประเทศได้ประโยชน์ ไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลจีน พร้อมยืนยันรื้อเจรจาโครงการรถไฟความเร็วสูงที่บริษัทจีนเซ็นสัญญากับรัฐบาลมาเลเซียชุดก่อน

มหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ให้สัมภาษณ์พิเศษแก่สำนักข่าวเอพี ก่อนถึงกำหนดเดินทางไปเยือนจีนอย่างเป็นทางการช่วงกลางเดือน ส.ค.นี้ โดยมหาเธร์ระบุว่ารัฐบาลของตนจะเดินหน้าเจรจากับทางการจีนให้ทบทวนโครงการลงทุนด้านต่างๆ ที่จีนเคยลงนามทำสัญญากับอดีตรัฐบาลมาเลเซีย ภายใต้การนำของนาจิบ ราซัก ซึ่งกำลังถูกสอบสวนดำเนินคดีในข้อหาพัวพันการทุจริตกองทุน 1MDB อยู่ในขณะนี้

โครงการที่มหาเธร์กล่าวถึง ได้แก่ (1) การวางแนวท่อส่งเชื้อเพลิง และ (2) การสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อภาคตะวันออกของมาเลเซียไปยังประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย 'หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง' หรือ One Belt One Road ของรัฐบาลจีน ที่ต้องการเชื่อมต่อจีนเข้ากับประเทศต่างๆ ทั้งในและนอกภูมิภาคเอเชีย ทั้งทางบก ทางเรือ และทางราง

บริษัท China Communications Construction Co หรือ CCC เป็นกิจการในกำกับดูแลของรัฐบาลจีน ลงนามในสัญญาร่วมกับอดีตนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซักของมาเลเซีย เมื่อ พ.ศ. 2559 โดยมีระยะเวลาการลงทุนในมาเลเซีย 15 ปี พร้อมทั้งตั้งงบประมาณไว้ที่กว่า 22,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

การดำเนินการบางส่วนได้เริ่มต้นไปบ้างแล้ว แต่เมื่อมหาเธร์ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีมาเลเซียเมื่อต้นปีที่ผ่านมา เขาได้ประกาศว่าจะระงับโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายดังกล่าว และจะเสนอให้ทางการจีนพิจารณาทบทวนสัญญาที่เคยลงนามไว้ร่วมกับอดีตรัฐบาลมาเลเซีย โดยเขาเห็นว่า รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกของมาเลเซียนั้น 'ยังไม่จำเป็น' เมื่อเทียบกับโครงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขึ้นพื้นฐานอื่นๆ

รถไฟจีน

นอกจากนี้ มหาเธร์ยังระบุว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงที่ร่วมมือกับจีนอาจทำให้รัฐบาลและประชาชนมาเลเซียต้องแบกรับภาระหนี้ต่อไปเป็นเวลานาน ไม่ต่างจากที่เมียนมาหรือลาวกำลังเผชิญ เพราะจีนได้เร่งแผ่ขยายอิทธิลในด้านต่างๆ ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง และการทหารในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และจีนมีท่าทีชัดเจนว่าไม่คิดจะเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเรื่องทะเลจีนกับประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ แต่อย่างใด ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและบางประเทศสมาชิกอาเซียนอยู่ในภาวะตึงเครียด

เลิก 'พึ่งพาจีน' อาจทำได้ยากกว่าที่คิด

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือน ก.ค. เว็บไซต์บลูมเบิร์กเคยรายงานอ้างอิงสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ระหว่างมาเลเซียกับจีน หลังจากที่มหาเธร์ประกาศระงับโครงการรถไฟความเร็วสูงเพื่อรอเจรจาครั้งใหม่กับรัฐบาลจีน โดยในครั้งนั้น เติ้งฉั่วฮั่น ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์ความเสี่ยง BMI Research ประจำเอเชียแปซิฟิก ประเมินว่าการระงับโครงการและการประกาศทบทวนการเจรจาระหว่างจีนและมาเลเซีย จะส่งผลกระทบด้านลบแก่การลงทุนของบริษัทจีนในมาเลเซียในอนาคต แต่คาดว่าการเจรจาต่อรองจะเกิดขึ้นและบรรลุผล 

เติ้งฉั่วฮั่นประเมินว่า ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจและการลงทุนของจีนในมาเลเซียนั้นมีความก้าวหน้าไปมาก และเชื่อว่ามาเลเซียจะไม่ใช้วิธีการแข็งกร้าวตอบโต้หรือต่อรองกับจีน โดยเฉพาะเมื่อจีนถือเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่อีกประเทศหนึ่งของมาเลเซียนับตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา โดยมีมูลค่าทางการค้ารวมกว่า 92,390 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ขณะที่การลงทุนในภาคส่วนต่างๆ ของกลุ่มทุนจีนในมาเลเซีย เพิ่มสูงขึ้นถึง 700 เปอร์เซ็นต์เมื่อปีที่แล้ว 

ขณะเดียวกัน จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางไปยังมาเลเซียก็เพิ่มจำนวนขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยนักท่องเที่ยวชาวจีนเป็นกลุ่มใหญ่อันดับ 3 รองจากนักท่องเที่ยวสิงคโปร์และอินโดนีเซีย ช่วยให้รายได้จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของมาเลเซียเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 54 ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ชาวจีนซึ่งลงทุนในกิจการขนาดใหญ่จนได้ได้รับสิทธิพิเศษเป็นผู้อยู่อาศับถาวรในมาเลเซียก็ถือว่ามากที่สุดเมื่อเทียบกับนักลงทุนจากประเทศอื่นๆ โดยตั้งแต่ปี 2545-2560 มีชาวจีนจดทะเบียนลงทุนในมาเลเซียรวมกว่า 9,902 ราย ทิ้งห่างจากชาวญี่ปุ่นที่จดทะเบียนลงทุนในมาเลเซียมากเป็นอันดับ 2 จำนวนกว่า 4,372 ราย ซึ่งทำให้นักวิเคราะห์ประเมินว่าการที่มาเลเซียต้องการลดการพึ่งพิงทางเศรษฐกิจกับจีนนั้นไม่อาจสำเร็จลุล่วงได้โดยง่าย แต่มหาเธร์ก็ยืนกรานที่จะเจรจาต่อรองกับจีน โดยระบุว่าเป็นการสร้างความเช่ื่อมั่นให้กับประชาชนว่าการลงทุนหรือความร่วมมือต่างๆ จะเป็นไปเพื่อประโยชน์ของทั้งมาเลเซียและจีนในสัดส่วนที่เป็นธรรม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: