ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย วงเงิน 8.84 หมื่นล้านบาท ในขั้นรับหลักการวาระที่หนึ่ง โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้ ชี้แจงในประเด็นรายจ่ายในส่วนงบกลาง ว่า มีการพูดด้วยความเข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง จึงขอเรียนว่างบกลางไม่ใช่ว่ารัฐบาลจะนำเงินทุกบาทมาใช้ได้ทั้งหมดโดยนายกรัฐมนตรี แต่เพียงผู้เดียว งบกลางแบ่งออกเป็นหลายส่วน อาทิ เงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ เงินเลื่อนขั้นปรับวุฒิข้าราชการ เงินสมทบลูกจ้างประจำ เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน เป็นต้น
งบกลางไม่พอ กู้เงินเร็วกว่าโอนงบฯ วอนเห็นใจทหารโอนงบฯ จัดซื้ออาวุธไม่ได้
ส่วนการใช้จ่ายงบกลางมีขั้นตอน ซึ่งหน่วยงานที่จะขอใช้เงินนั้นสามารถเสนอโครงการมายัง ครม.ได้ ตนในฐานะหัวหน้า ครม.ต้องพิจารณาอนุมัติในกรอบของ ครม. ส่วนการทำงานทั้งหมด ขออย่าห่วงมาก ให้กฎหมายและเจ้าหน้าที่ทำงานไป จากนั้นจึงมาติดตามว่าระหว่างการทำนั้นมีการทุจริตหรือไม่ ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีงบ
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ส่วนข้อสงสัยว่าเหตุใดจึงไม่ทำพ.ร.บ.โอนงบประมาณก่อน จะได้ไม่ต้องทำพ.ร.ก.กู้เงิน ขอชี้แจงว่าอย่างไรก็ไม่พออยู่แล้ว ดังนั้นจึงมีการประมาณการ เพราะไม่รู้ว่าข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้นอีก ไม่ใช่เฉพาะโควิด-19 อีกทั้งงบกลาง รายการสำรองเงินเพื่อฉุกเฉินและจำเป็น ก็มีไม่เพียงพอ ประกอบกับการออกเป็นพ.ร.ก.กู้เงิน สามารถดำเนินการได้เร็วกว่าการจัดทำพ.ร.บ.โอนงบประมาณ เพราะพ.ร.บ.โอนงบประมาณ ต้องมีขั้นตอนตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญด้วย
“หลายคนบอกว่าเอาไป เอาไปเลย คงไม่ใช่ เพราะเขียนไว้กรอบกว้างๆ ว่าใช้ทำอะไรบ้าง โควิด-19 น้ำท่วม หรือเรื่องอื่นๆ ที่จำเป็น ดังนั้น อะไรที่ถูกตัดไปช่วงโอนงบประมาณสามารถขอขึ้นมาใหม่ได้ โดยการโอนงบประมาณได้ทำตามกรอบของคณะกรรมการนโยบายการเงิน ส่วนการชำระคืนเงินกู้ นั้นได้พิจารณาร่วมด้วย ซึ่งใช้วิธีการผ่อนสั้น ผ่อนยาวของหนี้ระยะต่างๆ ทั้งนี้การอภิปรายของส.ส.นั้น ผมรับฟังได้สิ่งที่เป็นประโยชน์ แต่หากสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ผมฟังแบบทะลุผ่าน ไม่เช่นนั้นจะปวดหัวพอสมควร” นายกรัฐมนตรี กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ ยังชี้แจงกรณี การปรับงบของกระทรวงกลาโหมว่า เป็นไปตามเกณฑ์ที่สามารถชะลอโครงการได้ แต่โครงการใดที่ทำสัญญาผูกพันแล้ว หรืออยู่ภายใต้กรอบข้อตกลงการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ไม่สามารถโอนได้ ทั้งนี้ขอให้เห็นใจทหาร เพราะต้องทำหน้าที่หลายอย่าง เช่น ช่วยน้ำท่วม ฝนแล้ง ทั้งที่หน้าที่หลักคือการป้องกันประเทศ
แจงปิดท้ายไม่มีโควิด-19 หนี้สาธารณะร้อยละ 40
จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ชี้แจงปิดท้ายว่า อยากให้ ส.ส.ทำความเข้าใจกฎหมายหลายฉบับ และ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังภาครัฐ เรื่องหนี้สาธารณะที่มีคนกังวล ถ้าไม่มีโควิด-19 หนี้สาธารณะจะอยู่ในเกณฑ์ร้อยละ 40 ซึ่งยังถือว่าต่ำ แต่เมื่อกู้เงินมาทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มามากขึ้น ตนพูดหลายครั้งงบกลางปี 2563เหลืออยู่จำกัดมาก ใช้งบมาตลอดก่อนมีโควิด-19 จนวันนี้ถ้าไม่มีเม็ดเงินอื่นเพิ่มก็เหลืองบกลางเพียง 100 กว่าล้านบาท ทั้งนี้ภาครัฐทำงานมาตลอด ขั้นตอนเป็นไปตามกระบวนการตรวจสอบได้
ย้ำยังไม่เลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยกเหตุชายหาดบางแสน
"ทำไมต้องมีการโอนงบประมาณ ต้องโอนมางบกลาง เพราะกฎหมายไม่ให้โอนข้ามกระทรวงทำไม่ได้ สมัยก่อนอาจทำได้ แต่วันนี้ทำไม่ได้ แต่ต้องผ่านความเห็นชอบจากข้างล่าง และมีแผนงานชัดเจน ผมยินดีรับฟังความคิดเห็นทุกท่าน และทำอย่างไรให้ประทศไทยก้าวพ้นโควิด-19 เมื่อไรจะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ผมอยากกราบเรียนว่า ถ้าเราไม่ดำเนินการลักษณะนี้จะทำได้หรือไม่ ไม่ใช่เพื่ออำนาจผมหรืออำนาจใคร ที่ผ่อนปรนระยะที่ 3 ท่านเห็นชายหาดบางแสนหรือไม่ ถ้าจะผ่านพ้นตรงนี้ไปได้ต้องช่วยกัน ต้องเตือนประชาชนด้วยทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน" พล.อ.ประยุทธ์ ระบุ
นายกรัฐมนตรี ระบุว่า "ผมเห็นใจประชาชนแต่ต้องใช้เงินให้ถูกต้องให้เกิดประโยชน์สูงสุด เรื่องทุจริตก็ไปว่ากลไกการตรวจสอบ จิตใจผมมั่นคงทำอย่างเดียวเพื่อประเทศชาติบ้านเมือง สิ่งใดไม่เกิดประโยชน์ต้องช่วยกันดูแล ขอขอบคุณท่านสมาชิก ท่านประธานสภา ส.ส.ที่เสนอสาระอันเป็นประโยชน์ ถ้าอันไหนคิดไม่ตรงกันก็ไปดูพฤติกรรมก่อนหน้าและมองอนาคตจะเดินหน้าประเทศอย่างไร ถ้าย้อนกลับไปที่เดิมก็แก้อะไรไม่ได้สักอย่าง ยืนยันรัฐบาลจะดูแลประชาชนให้ดีที่สุด"
สภาเห็นชอบ 264 เสียงรับหลักการ แปรญัตติ 3 วัน
ทั้งนี้ ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้มีมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 264 เสียง ไม่เห็นด้วย 4 เสียง งดออกเสียง 185 เสียง และไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ จำนวน 49 คน สัดส่วน ครม. 12 คน พรรคเพื่อไทย 10 คน พรรคพลังประชารัฐ 9 คน พรรคภูมิใจไทย 5 คน พรรคก้าวไกล 4 คน พรรคประชาธิปัตย์ 4 คน พรรคชาติไทยพัฒนา 1 คน พรรคเสรีรวมไทย 1 คน พรรคประชาชาติ 1 คน พรรคเศรษฐกิจใหม่ 1 คน พรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคเพื่อชาติ และพรรคพลังท้องถิ่นไท 1 คน พร้อมกำหนดเวลาการแปรญัตติ 3 วัน โดยประชุม กมธ.วิสามัญนัดแรกในวันที่ 5 มิ.ย. เวลา 09.30 น. ที่อาคารรัฐสภา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง