นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ แถลงผ่านทวิตเตอร์ก่อนการประชุมยูเอ็นเอสซีจะเริ่มขึ้น เมื่อวานนี้ (21 ธันวาคม) โดยระบุว่าสหรัฐฯ จะจับตาการประชุมดังกล่าวอย่างใกล้ชิด และไม่สนใจว่าประเทศใดจะโหวตค้านมติของสหรัฐฯ ที่ประกาศรับรองเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงอิสราเอลเมื่อวันที่ 6 ธันวาคมที่ผ่านมา แต่สหรัฐฯ จะพิจารณาตัดงบประมาณทางการทหารที่เคยสนับสนุนให้แก่ประเทศเหล่านั้นแทน
สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นของสหรัฐฯ รายงานว่าการขู่ตัดงบช่วยเหลือทางการทหารแก่ประเทศที่โหวตค้านสหรัฐฯ กรณีเยรูซาเลม เป็นเพราะทรัมป์รู้ดีว่าประเทศส่วนใหญ่ที่จะโหวตค้านคือประเทศในตะวันออกกลาง และประเทศที่ได้รับงบทางทหารจากสหรัฐฯ มากเป็นอันดับต้นๆ รวมถึงอียิปต์ อิรัก อัฟกานิถาน จอร์แดน และปากีสถาน ซึ่งเป็นประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม และเป็นกลุ่มประเทศที่สนับสนุนปาเลสไตน์ จึงไม่พอใจอย่างหนักที่สหรัฐฯ ประกาศรับรองสถานะเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล โดยไม่คำนึงถึงปาเลสไตน์
ท่าทีของนายทรัมป์ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ความขัดแย้งระลอกใหม่ระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์คลายความตึงเครียด แต่ยิ่งทำให้เกิดการปะทะและต่อต้านรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และในกรณีที่ยูเอ็นเอสซีลงมติคัดค้านการประกาศรับรองเยรูซาเลมของสหรัฐฯ ก็ไม่แน่ใจว่านายทรัมป์จะยอมรับมติของยูเอ็นเอสซีหรือไม่ อีกทั้งสหรัฐฯ ก็เป็น 1 ใน 5 สมาชิกถาวรของยูเอ็นเอสซี และเป็นประเทศที่สนับสนุนงบประมาณแก่สหประชาชาติมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
ก่อนหน้านี้ 1 วัน นายเซอิด ราอัด อัล-ฮุสเซน ข้าหลวงใหญ่ประจำสำนักงานด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หรือ UNOHCHR ได้ยื่นจดหมายถึงนายอันตอนิอู กูแตร์รีช เลขาธิการใหญ่ยูเอ็น เพื่อชี้แจงว่าจะไม่ขอรับตำแหน่งข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนเป็นสมัยที่ 2 หลังจากที่พ้นวาระการดำรงตำแหน่งในเดือนกันยายนปีหน้า โดยระบุว่าสภาพการเมืองโลกในช่วงที่ผ่านมา ไม่เอื้อต่อการทำงานอย่างเป็นอิสระของยูเอ็นโอเอชซีเอชอาร์ ทำให้เขาไม่สามารถที่จะปฏิบัติหน้าที่ต่อได้ ซึ่งองค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนอย่างฮิวแมนไรท์วอทช์ระบุว่า การเกิดภาวะถดถอยด้านสิทธิมนุษยชนทั่วโลก ส่วนหนึ่งเป็นผลจากท่าทีของประเทศมหาอำนาจที่ไม่สนใจคุณค่าและหลักการด้านสิทธิมนุษยชนเหมือนเดิม