ไม่พบผลการค้นหา
ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติเผยพบสถาบันการเงินบางแห่งมีพฤติกรรมไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท ทำซ้ำหลายครั้ง ยืนยันส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเชิงลึก ย้ำมีมาตรการลงโทษ พร้อมแจงค่าเงินมีโอกาสผันผวนต่อเนื่อง แนะผู้ประกอบการปรับตัวรับมือระยะยาว

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน (3-17 มกราคม 2561) เงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าประมาณ 2% ซึ่งเป็นการแข็งค่าต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา และมีหลายปัจจัย ได้แก่ 1) ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเมื่อเทียบกับหลายสกุลเงินของภูมิภาค และเงินสกุลหลักของโลก เช่น เงินยูโร ปอนด์ เยน ดอลลาร์ออสเตรเลีย ซึ่งแข็งค่าเมื่อเทียบดอลลาร์สหรัฐเกือบ 2% ซึ่ง���กิดจากมุมมองความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจสหรัฐเทียบเศรษฐกิจเอเชีย ยุโรปลดลง จึงทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ 

2) เป็นประเด็นของประเทศไทยเอง ที่มีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูง และในช่วงปลายปี 2560 ที่ผ่านมา ก็เห็นผู้ส่งออกไทยขายเงินตราต่างประเทศออกมาค่อนข้างมาก จึงทำให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่ามากขึ้น

3) มีเงินทุนระยะสั้นที่ไหลเข้ามาในเอเชีย ซึ่ง ธปท.ได้ติดตาม แต่ยังไม่พบความผิดปกติทั้งในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรของประเทศไทย หากเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค อีกทั้งในกรณีประเทศไทยในช่วงตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันยังพบว่า ต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิด้วยซ้ำ 

อย่างไรก็ดี ธปท. กลับพบว่า มีสถาบันการเงินในประเทศมีพฤติกรรมเก็งกำไร โดยเข้าไปเอื้อหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเก็งกำไรผ่านการให้บริการลูกค้า ซึ่งไม่เป็นไปตามเกณฑ์การป้องปรามการเก็งกำไรของ ธปท. โดยขณะนี้ ธปท. ได้เข้าไปตรวจสอบใกล้ชิด และจะดำเนินการกับสถาบันการเงินเหล่านั้น เนื่องจากไม่ประสงค์จะให้สถาบันการเงินเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเก็งกำไร

"ธปท.มีเกณฑ์ป้องปรามการคงเงินบาทไว้ในบัญชี ที่เรียกว่า NRBA หรือ Non Resident Baht Account ซึ่งขณะนี้พบบางสถาบันการเงินในประเทศ ดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ในมาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท ซึ่งเราก็ติดตามและบอกสถาบันการเงินต่างๆ ชัดเจน ว่าไม่ประสงค์ให้เกิดพฤติกรรมดังกล่าว และหากใครทำซ้ำอีก หรือไม่ได้ทำครั้งแรก เราก็มีเกณฑ์การลงโทษด้วย" นายวิรไทกล่าว

โดยที่ผ่านมา ธปท. เห็นความเคลื่อนไหวในพฤติกรรมดังกล่าวหนาแน่นขึ้นในบางสถาบันการเงิน ขณะเดียวกันได้เพิ่มกลไกการตรวจสอบเชิงลึกมากขึ้น รัดกุมมากขึ้น 

นอกจากนี้ ผู้ว่าการ ธปท. ยังย้ำด้วยว่า ความผันผวนของค่าเงินยังมีอยู่ ปฏิเสธไม่ได้เลย และไม่ได้เกิดเฉพาะในประเทศไทย ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องเพิ่มความสามารถในการตั้งราคา ต่อรองราคาสินค้ากับผู้ซื้อ ซึ่งหากมีสินค้าดี มีคุณภาพ ผลิตด้วยต้นทุนต่ำ มีผลิตภาพสูง เรื่องความผันผวนของค่าเงินจะไม่มีผล เพราะผู้ประกอบการจะปรับราคาได้ และมีอำนาจต่อรองในการกำหนดราคา ยิ่งในช่วงที่เศรษฐกิจโลกปรับตัวดีขึ้น ตลาดมีความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้น การยกระดับความสามารถในการแข่งขัน การยกระดับในการตั้งราคาจึงสำคัญกว่า


"ในระยะยาว คนทำธุรกิจยังต้องเผชิญกับความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยน ขณะที่ระยะสั้น ธปท. จะช่วยดูแล ไม่ให้กระทบกับผู้ประกอบการรุนแรงเกินไป แต่ต้องคิดด้วยว่า ในระยะยาวจะอยู่กันอย่างไร หากค่าเงินผันผวน และส่วนใหญ่มาจากปัจจัยภายนอก" นายวิรไทกล่าว

พร้อมชี้ว่า ในเวลานี้เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับหลายสกุลในโลก แต่กรณีประเทศไทยกลับพว่า มีผู้ประกอบการส่งออกยังกำหนดราคาสินค้าส่งออกในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐมากเกือบ 80% ทั้งที่มีสัดส่วนการส่งออกไปสหรัฐอเมริกาเพียง 10%

ขณะเดียวกัน ผู้ส่งออกไทยจำนวนไม่น้อยที่ส่งออกไปยุโรปยังคิดราคาสินค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ ทั้งที่หากคิดราคาเป็นสกุลเงินยูโร ก็จะมีกำไรด้วยซ้ำ เพราะปีที่ผ่านมา เงินยูโรเทียบกับดอลลาร์สหรัฐแข็งค่ามากถึง 13% แข็งค่ามากกว่าเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐด้วย