“กลิ่นของโบตั๋นจะหอมนุ่มนวลละมุนละไม มีมาแค่ปีละ 2-3 เดือน ยิ่งถ้าเป็นโบตั๋นขาวจะมีราคาแพงที่สุด” สีขาวนวลของดอกโบตั๋นแทนที่จะดูจืดกลับโดดเด่นทั้งที่อยู่ท่ามกลางดอกไม้สีสดใสหลากหลาย มันเป็นผลของการจัดหน้าร้านที่ดูจะสะท้อนรสนิยมที่ชอบความดูดีแต่ไม่จัดจ้านของชาวอังกฤษอย่างเห็นได้ชัด
“ที่อังกฤษ คนไม่ได้อยู่บ้านหลังใหญ่ เราอยู่แฟลต เพราะฉะนั้นการได้เห็นสีสันดอกไม้ เห็นธรรมชาติ มันช่วยสร้างความสดชื่น” แฟลตก็คือคำที่คนอังกฤษใช้เรียกอพาร์ทเม้นท์
เจ้าของร้านในชุดสดใสมีสไตล์อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของภาพลักษณ์ร้านเบอร์สติ้งบัด เพราะขายดอกไม้คือขายความงามและขายสไตล์ ยิ่งร้านเบอร์สติ้งบัดตั้งอยู่หลังสถานีรถไฟใต้ดินฮอลแลนด์พาร์ค แม้ถนนจะค่อนข้างเงียบ แต่เป็นย่านที่เป็นที่รู้กันว่าพำนักไปด้วยเหล่าผู้มีฐานะและชาวต่างชาติที่ทำงานในลอนดอน การจับทิศทางการตลาดได้อยู่หมัดทำให้รัสรินทร์มีลูกค้าไม่ขาดสาย
(คุณรัสรินทร์ เวเบอร์ เจ้าของร้านดอกไม้เบอร์สติ้งบัด)
คนที่นี่ล้วนต้องการดอกไม้ เธอว่า เพราะมันเป็นสิ่งของที่จำเป็นในวิถีชีวิตที่ดอกไม้มีคุณค่าตั้งแต่การเป็นเครื่องชูใจไปจนถึงการเป็นเครื่องมือในการเข้าสังคม “ดอกไม้ใช้ได้ทุกโอกาส คือวันเกิด วันแต่งงาน ลูกสาวจบการศึกษา แม้กระทั่งแสดงความเสียใจ หรือแม้กระทั่งเพื่อนบ้านขัดใจกัน เขาก็ต้องขอโทษกันด้วยดอกไม้ เพราะฉะนั้นพี่ว่าในประเทศอังกฤษดอกไม้สามารถเป็นสื่อแทนได้ในทุกโอกาส วันครบรอบ คู่แต่งงาน” และโอกาสเช่นนั้นขยายตัวมากขึ้นทุกขณะ เพราะรสนิยมและพฤติกรรมของผู้คนที่เปลี่ยนไป เธอยกอีกตัวอย่างเรื่องการได้รับเชิญไปรับประทานอาหารค่ำ เป็นที่รู้กันว่าในกรณีเช่นนี้คนจำนวนมากจะนำเครื่องดื่มเช่นไวน์ติดตัวไปงาน แต่ระยะหลังมีคนไม่น้อยเลือกจะนำช่อดอกไม้ไปแทน
การซื้อดอกไม้หรือมอบช่อดอกไม้ให้กันไม่ใช่เรื่องเล็กๆ โดยเฉพาะสำหรับลูกค้าที่มีสถานะทางสังคมที่มักจะต้องคำนึงถึงรายละเอียดเสมอเพื่อเสริมความหมายของการกระทำนั้นๆ ด้วยเหตุนั้นเจ้าของร้านขายดอกไม้จึงมีบทบาทมากกว่าคนขายของทั่วไป
“บางคนเดินเข้ามาเขาจะบอกว่าไม่มีไอเดีย” ลูกค้าหลายรายเริ่มต้นแบบนี้ “พี่ก็จะถามว่าคุณจะใช้ดอกไม้ในโอกาสอะไร บางคนจะบอกว่า ได้รับเชิญไปทานข้าว แต่ฉันไม่รู้จักเจ้าของบ้านดี พี่ก็จะแนะนำว่า ถ้าคุณไม่รู้จักเขาดี คุณซื้อสีขาวและเขียวนะ เพราะว่าเป็นสีกลางๆ ไม่มีทางจะผิดพลาดไปได้ บางคนบอกว่าฉันจะไปเยี่ยมคนในโรงพยาบาล พี่��็บอกว่า คุณเอาสีที่ค่อนข้างสดหน่อย แต่กลิ่นจะต้องไม่แรงเกินไป”
ความเข้่าใจในเรื่องการตกแต่งและการใช้สีเพื่อเป็นสัญญลักษณ์ของการแสดงออกจึงมีส่วนอย่างสำคัญ “สมมุติพี่มีนัดไปพบลูกค้า พี่เดินเข้าบ้านเขาปุ๊ป สายตาพี่ต้องกวาดมองแล้วว่าการตกแต่งในบ้านเขาเป็นอย่างไร ภาพวาด พรม รสนิยมเค้าเป็นอย่างไร เราจะต้องทำให้กลมกลืนไปกับรสนิยมเขาให้ได้ เราเป็นดีไซน์เนอร์ให้เขา แต่ก็ต้องอยู่บนฐานว่าลูกค้าชอบอะไร”
ในระหว่างที่คุยเธอก็จัดดอกไม้ในร้านไปด้วยอย่างคล่องแคล่ว “ดอกไม้เมื่อมันบานเต็มที่ อย่าไปวางใกล้แสงแดด ให้อยู่ในที่ร่ม และต้องหมั่นเปลี่ยนน้ำตัดก้าน ดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมจะทำให้นำ้ขุ่น แบคทีเรียจะเข้าไปกัดกินก้าน มันทำให้ดอกไม้ไม่ทน” เธอบอกเคล็ดลับ
ร้านเบอร์สติ้งบัดตั้งพึ่งพาลูกค้าประจำ จุดขายที่ทำให้ร้านอยู่ได้คือความเป็น Boutique Florist รับทำตามสั่งเพื่อตอบโจทย์ในแต่ละสถานการณ์ของลูกค้า รัสรินทร์สามารถจดจำลูกค้าแต่ละรายได้ รวมทั้งรสนิยมของแต่ละคน และสไตล์ของเธอคือสัญญลักษณ์ของร้าน “ร้านพี่เหมือนพี่เป็น signature ทุกคนเข้ามา ซาร่าห์อยู่มั้ย เราจำรสนิยม จำลูกค้า ทุกคนจะบอกว่า ชั้นเชื่อใจคุณนะซาร่าห์ พี่นะใส่ใจ ...ทำธุรกิจทุกอย่างต้องมีรายละเอียด ใส่ใจกับดีเทล”
ธุรกิจของคนไทยในลอนดอนส่วนใหญ่คือร้านอาหาร ที่จะเป็นร้านดอกไม้นั้นมีไม่มาก รัสรินทร์รู้มาว่าร้านดอกไม้ในลอนดอนที่เจ้าของกิจการเป็นคนไทยมีเพียง 2 ร้านเท่านั้น เพราะความรู้ในเรื่องดอกไม้ของคนไทยมาจากวิถีชีวิตที่ต่างกันและไม่ทำให้นำไปใช้ได้ในสังคมตะวันตกเหมือนในเรื่องอาหาร
“ในชีวิตประจำวันที่จะมาซื้อดอกไม้ให้กันนั้นน้อย เพราะว่าอากาศบ้านเราร้อน เพราะฉะนั้นถ้าจะให้ดอกไม้ คนไทยจะมีคอนเซปท์ว่าดอกไม้ไม่ได้อยู่คงทน แต่ที่อังกฤษ เขาถือว่าทุกคนได้รับดอกไม้จะยินดีทั้งนั้น แม้กระทั่งดอกเดียว”
การจะเปิดร้านดอกไม้ได้จึงต้องเข้าใจลักษณะของตลาดที่แตกต่างไปจากบ้านเดิมอย่างสิ้นเชิง สำหรับรัสรินทร์ ก่อนจะมาเป็นร้านเบอร์สติ้งบัด เธอได้ประสบการณ์มาก่อนจากอดีตแม่สามีที่ทำร้านดอกไม้ในย่านนอตติ้งฮิลล์เกต มันเป็นก้าวแรกที่ทำให้เธอได้เรียนรู้เคล็ดลับต่างๆ ก่อนที่จะมีร้านเป็นของตัวเองในเวลาต่อมา การทำธุรกิจของเธอหวังผลระยะยาว ความซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา จึงเป็นเทคนิคอย่างหนึ่งที่มัดใจลูกค้า ดอกไม้ที่ร้านซื้อมาแล้ว 3 - 4 วันมักจะบานสวย แต่เธอจะบอกลูกค้าตรงๆว่าจะอยู่ได้ไม่นาน พร้อมทั้งให้ราคาพิเศษกับลูกค้าคนนั้นไป
การมีความรู้จากร้านเดิมและเพิ่มเติมด้วยประสบการณ์ที่ร้านของตัวเอง ปัจจุบันร้านเบอร์สติ้งบัดอยู่มายาวนานร่วม 22 ปีแล้ว การให้ความสนใจกับชุมชนรอบตัวทำให้รัสรินทร์และร้านดอกไม้เบอร์สติ้งบัดกำลังกลายเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนนี้ โดยเฉพาะจากวิธีการวางตัวของเธอ รัสรินทร์เล่าว่าครั้งหนึ่งมีลูกค้าสั่งช่อบูเกต์ด่วน เธอรู้ว่าบูเกต์ช่อนั้นจะเป็นส่วนหนึ่งของงานเพื่อชุมชน ค่าที่เธอรู้สึกว่าลูกชายที่ป่วยเคยได้รับการช่วยเหลือดูแลมาอย่างดี จึงต้องการตอบแทนชุมชนในสิ่งที่พอจะทำได้ เธอจัดช่อบูเกต์ให้ลูกค้า
“เค้าถามว่าเท่าไหร่ ฉันไม่คิดสตางค์หรอก เค้าจะร้องไห้ คุณทำอย่างนั้นไม่ได้นะ เพราะว่าคุณไม่รู้จักฉัน พี่บอกว่า แต่ว่าคุณบอกว่าคุณจะไปให้กับคนทำงานการกุศล ฉันเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนนี้ ถ้าฉันสามารถเป็นส่วนหนึ่งได้ ก็ยินดีที่จะทำมัน”
“เขาไปถวายให้ดัชเชสออฟเคมบริดจ์ แล้วหลังจากนั้น เค้าส่งลงหนังสือ Hello แล้วก็ส่งข้อความขอบคุณพี่ว่า ชอบมาก ฉันเป็นคนแปลกหน้า แต่คุณให้ดอกไม้ฉัน แล้วเค้าก็บอกเค้าน้ำตาร่วงเลย”
แม้ว่าดอกไม้จะเป็นของสวยงามและการจัดดอกไม้ต้องใช้เวลา แต่ธรรมชาติของลูกค้าไม่มีใครต้องการรอ ตลอดเวลาเราจึงเห็นรัสรินทร์จัดแต่งช่อบูเกต์ด้วยอาการว่องไวราวกับไม่ใช่การจัดดอกไม้ แต่เธอยืนยันว่าต้องสนใจในรายละเอียดอย่างมาก พร้อมกันนั้นต้องพร้อมจะปรับตัว
“ทุกอย่างก็ต้องมีการพัฒนา มีแฟชั่น การจัดดอกไม้บางแบบก็หมดยุคไป ก็เหมือนกับธุรกิจทุกอย่าง ที่เราต้องตื่นตัวตลอดเวลา” รัสรินทร์ว่า เธอชี้ว่าในปัจจุบันแม้แต่ดอกไม้ก็กลายเป็นธุรกิจที่ซื้อขายกันออนไลน์ซึ่งคนซื้อได้ราคาที่ถูกกว่า ผลก็คือมีหลายร้านที่ปรับตัวไม่ได้ต้องปิดตัวเองไป
แต่ทั้งหมดนี้อาจจะยังไม่ทำให้น่ากังวลเท่ากับการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญที่กำลังจะเกิดขึ้นกับอังกฤษที่จะกระทบการทำธุรกิจทุกอย่างอย่างแน่นอน นั่นคือการที่อังกฤษจะถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปหรือที่เรียกกันสั้นๆว่าเบร็กซิท (Brexit) ซึ่งดีเดย์งวดเข้ามาทุกขณะเช่นเดียวกันกับการถกเถียงที่เป็นไปอย่างเผ็ดร้อนของคนในสังคม “อังกฤษต้องการออกจากอียู แต่คนที่ต้องการออกกับคนที่ต้องการอยู่ ผลโหวตห่างกัน 3%” เธออธิบาย
แม้ว่าเงื่อนไขการแยกตัวของอังกฤษจะยังไม่ชัดเจนในเวลานี้ แต่รัสรินทร์ก็เริ่มเห็นแล้วว่าเบร็กซิทจะส่งผลกระทบโดยเฉพาะในเรื่องเพิ่มต้นทุนสินค้า เพราะการที่จะต้องเสียภาษีเพิ่ม และซัพพลายเออร์ตัวหลักในเรื่องดอกไม้ให้กับตลาดในอังกฤษคือเนเธอร์แลนด์ “พี่คิดว่าในช่วงเริ่มต้นจะกระทบกระเทือน” รัสรินทร์ว่า
สภาพการถกเถียงเรื่องเบร็กซิทยังมีอาการแกว่งอย่างหนัก จนทำให้บางช่วงบางขณะรัสรินทร์มีความรู้สึกว่าเบร็กซิทยังเป็นเรื่องที่ดูจะเป็นไปไม่ได้ และการจัดระบบเพื่อแยกตัวมีเค้าจะใช้เวลานานจนเธอไม่เชื่อจะจบเสร็จได้ภายในสองปีดังที่วางแผนเอาไว้ ในขณะเดียวกันในระหว่างนี้แม้จะมีคนจำนวนมากใจเสียเพราะกลัวผลสะเทือน แต่ก็ยังมีคนที่ใจสู้
เธอเล่าว่าในบรรดาลูกค้าของร้าน มีคนจากประเทศสมาชิกอียูจำนวนไม่น้อย พวกเขาพำนักกันอยู่ในย่านใกล้เคียง หลายคนบอกเจตนาว่าจะย้ายกลับประเทศตนเอง แต่ “ทุกอย่างมีบวกกับลบทั้งนั้น แต่ลูกค้าส่วนใหญ่ในย่านนี้ เขาแฮปปี้ที่จะอยู่อังกฤษ ย่านนี้เป็นพื้นที่ที่น่าอยู่ โรงเรียนเอกชนก็ดี เพราะฉะนั้นถึงยังไงเขาก็ต้องหาทางอยู่จนได้” การได้สัมผัสกับข้อมูลเช่นนี้ทำให้เธอรู้สึกว่า แม้จะยังไม่เห็นหนทางข้างหน้า แต่ด้วยความมุ่งมั่นที่มีอยู่ เชื่อว่าอังกฤษต้องก้าวผ่านไปได้อย่างแน่นอน
“พี่มีความรู้สึกว่าทุกอย่างมีขึ้นก็มีลง ในช่วงนี้เป็นขาลงของประเทศอังกฤษในความรู้สึกของพี่ แต่เขาก็จะหาทางขึ้นจนได้” เธอว่า “เราจะทำให้ตัวเองตายไปกับเบร็กซิทไม่ได้ เราก็ต้องหาทางเพื่อความอยู่รอด” รัสรินทร์ว่าพลางรวบดอกโบตั๋นเข้ากับคาร์เนชั่น แซมด้วยยิปโซ จัดแต่งอย่างว่องไวแล้วมัดด้วยริบบิ้น ก่อนจะห่อก้านด้วยแผ่นพลาสติกใส เธอเอาดอกไม้ทั้งกำใส่ลงในกล่องกระดาษ
“พี่ให้คุณค่ะ”
มาร้านดอกไม้ทั้งทีไม่มีดอกไม้ติดมือกลับไปจะได้อย่างไร เธอว่า