ไม่พบผลการค้นหา
ผู้หญิงที่ครั้งหนึ่งเคยได้รับการยกย่องให้เป็น 'แม่' ของแผ่นดินแอฟริกาใต้ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 2 เม.ย. แต่เรื่องราวการต่อสู้ของเธอจะยังคงอยู่ต่อไป

อดีตภรรยาคนที่ 2 ของเนลสัน แมนเดลา ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็น 'แม่' ของแผ่นดิน 'วินนี่ แมนเดลา' หรือ วินนี่ มาดิคิเซลา-แมนเดลา จบชีวิตลงด้วยวัย 81 ปีเมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2561 ที่ผ่านมา ภายใต้คำยกย่องของประธานาธิบดีซิริล รามาโพซา ของแอฟริกาใต้ ที่บอกว่า การสูญเสียวินนี่เปรียบเสมือนการที่ "ต้นไม้ใหญ่ล้มลง” พวกเขาได้สูญเสีย “แม่ ยาย เพื่อน สหาย ผู้นำ และแม่แบบ” ไป 

เธอไม่ได้เป็นแค่อดีตคู่ชีวิตของเนลสัน แมนเดลา วีรบุรุษของผู้ต่อต้านลัทธิเหยียดผิวในแอฟริกาใต้และทั่วโลกเท่านั้น แต่วินนี่เป็นนักเคลื่อนไหวตัวยงที่มีบทบาทอย่างมากในการต่อต้านการเหยียดผิว ชื่อเสียงของเธอในเรื่องของการต่อสู้โด่งดังไม่แพ้เรื่องราวอื้อฉาวของการสนับสนุนการใช้ความรุนแรงและการละเมิดสิทธิ ตลอดจนชีวิตที่เต็มไปด้วยสีสัน 

วินนี่เกิดเมื่อ 26 กันยายน 2479 ที่อีสเทิร์นเคป รอยเตอร์ระบุว่าเธอเริ่มสนใจปัญหาการเมืองตั้งแต่อายุยังน้อย วินนี่เป็นเจ้าหน้าที่สังคมสังเคราะห์ผิวดำคนแรกของแอฟริกาใต้ วันหนึ่งเธอบังเอิญพบกับเนลสัน แมนเดลาที่ป้ายรถประจำทางในเมืองโซเวโต้เมื่อปี 2500 วอชิงตันโพสต์รายงานอ้างบันทึกของแมนเดล่าที่เขาเขียนไว้ว่า นาทีที่เขาเห็นวินนี่ มันคือนาทีแห่งการเปลี่ยนแปลง 

“ผมไม่รู้หรอกว่ามันมีเรื่องรักแรกพบจริงหรือเปล่า” แมนเดลา ซึ่งขณะนั้นเป็นแกนนำสำคัญในการเคลื่อนไหวต่อต้านการเหยียดผิวของกลุ่มเอเอ็นซี หรือสมัชชาแห่งชาติแอฟริกัน บันทึกไว้ 

“แต่นาทีที่ผมเห็นวินนี่ นอมซาโม ผมก็รู้ทันทีว่าผมต้องการได้ผู้หญิงคนนี้มาเป็นคู่ชีวิต”

ขณะนั้นวินนี่มีอายุ 22 ปี แมนเดลาแก่กว่าเธอ 18 ปี เขาดูสนุกสนานไปกับความมีชีวิตชีวาและความ 'มีไฟ' ของเธอ ส่วนวินนี่บันทึกไว้ว่า เมื่อเธอ 'เดต' แมนเดลานั้น เขากำลังคลั่งการออกกำลัง เขาพาเธอไปออกกำลังกาย ในระหว่างนั้นเขาก็ต้องออกไปพบปะผู้คนเป็นระยะๆ มีเวลาอยู่กับเธอก็แค่ช่วงพาไปและพากลับ “แม้แต่ในตอนนั้น ชีวิตที่อยู่กับเขา ก็เป็นชีวิตที่ไม่มีเขา” เธอว่า

Winnie-Mandela1.jpg

(วินนี่เป็นผู้เคลื่อนไหวเรียกร้องการปล่อยตัวเนลสัน แมนเดลา และต่อต้านการเหยียดผิวคนสำคัญคนหนึ่ง)

หนึ่งปีหลังจากที่รู้จักกับวินนี่ แมนเดลาก็หย่าขาดจากภรรยาที่อยู่กินกันมาจนมีลูก 3 คน เพื่อจะแต่งงานกับเธอ ดิอินดีเพนเดนท์รายงานว่า ปี 2504 แมนเดลาหันไปสู่วิถีการต่อสู้แบบใต้ดิน เขาเป็นหัวหน้าปีกกองกำลังของเอเอ็นซี แต่แมนเดลาถูกจับในอีกหนึ่งปีให้หลังและต้องขึ้นศาลด้วยข้อหาวางแผนโค่นล้มรัฐบาล เขาถูกลงโทษด้วยคำสั่งจำคุกตลอดชีวิต แมนเดลาใช้เวลา 27 ปีของชีวิตอยู่ในคุกบ่มเพาะและปรับเปลี่ยนวิถีในการต่อสู้ของเขาเอง ในระหว่างนั้น วินนี่ก็เดินหน้ากับการต่อสู้ของเธอเองอย่างไม่หยุดยั้ง 

ในช่วงหลายปีถัดจากนั้น วินนี่ถูกจับ ถูกทรมาน ตกเป็นเป้าหมายของการรณรงค์ต่อต้านทางสังคม ถูกกักบริเวณในบ้าน และอื่นๆ วอชิงตันโพสต์รายงานว่า เธอเคยถูกขังเดี่ยวนานถึง 18 เดือน ถูกสอบสวนไม่หยุดหย่อนและถูกบังคับให้ต้องนั่งตัวตรงต่อเนื่องยาวนานจนเป็นลมในที่สุด เธอบันทึกไว้ว่า ร่างกายของเธอบวมเป่ง ปัสสาวะเป็นเลือด ในขณะที่อีกด้านก็เครียดเพราะเป็นห่วงลูกที่ถูกทิ้งไว้ที่บ้าน 

แต่วินนี่ก็ต่อสู้อย่างดุดัน เธอกลายเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเอเอ็นซี เว็บไซต์การ์เดียนอ้างคำพูดของวินนี่ที่บอกกับผู้สนับสนุนเธอว่า “เราไม่มีปืน เรามีแต่ก้อนหิน กล่องไม้ขีดไฟและน้ำมัน เราจะจับมือกัน ด้วยไม้ขีดไฟและสายสร้อยที่มีอยู่เราจะช่วยกันปลดปล่อยประเทศนี้” สายสร้อยที่ว่าก็คือยางรถยนต์เผาไฟที่จะคล้องคอคนที่พวกเขาเห็นว่าเป็นคนทรยศ 

ขณะที่ต้องเผชิญหน้ากับกลไกของอำนาจรัฐที่พยายามเล่นงานทุกวิถีทาง อีกด้านเธอเองก็ถูกกล่าวหาว่าใช้ความรุนแรง สะสมกำลังตั้งกลุ่มของเธอเองในนามของทีมฟุตบอลแมนเดลายูไนเต็ด ซึ่งที่จริงแล้วก็คือทีมบอดี้การ์ด ข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงอันหนึ่งก็คือว่า เธอสั่งให้ลักพาตัวเด็กหนุ่มวัย 14 ปี 'สตอมเปีย เซเป' ที่เข้าร่วมในกลุ่มต่อต้านการเหยียดผิว เพราะเขาถูกกล่าวหาว่าเป็นสายให้ตำรวจ เขาถูกทุบตีและศพมีร่องรอยการถูกปาดคอ 

เนลสัน-วินนี่ แมนเดลา

(เนลสัน และวินนี่ แมนเดลา ที่บ้านพักในแอฟริกาใต้เมื่อปี 2533)

วินนี่ถูกดำเนินคดี แต่เธอก็หลุดรอดจากทุกข้อหา ยกเว้นเรื่องการลักพาตัว แต่ในความเข้าใจของคนทั่วไปนั้น เธอมีส่วนเกี่ยวพันกับความตายของเขาอย่างลึกซึ้ง อีกด้าน ดิอินดีเพนเดนท์รายงานว่า มีข้อมูลหลุดรอดออกมาว่า ในระหว่างที่แมนเดลาเข้าคุกและต่อสู้ตามลำพัง วินนี่มีปัญหาทางอารมณ์หลายอย่าง รวมทั้งดื่มจัด รายงานระบุว่าแมนเดลาเองก็รับรู้และยังได้ขอให้เพื่อนช่วยเหลือภรรยาตนเอง ในขณะที่ทีมฟุตบอลที่วินนี่ตั้งขึ้นมาก็ได้ชื่อเสียงว่าเป็นกลุ่มที่ใช้ความรุนแรง ตั้งศาลเตี้ยตัดสินความเอาเอง 

แต่สำหรับนักเคลื่อนไหว วินนี่เป็นผู้ที่เดินหน้ารณรงค์ให้ปล่อยตัวแมนเดลาและยุติการเหยียดผิวอย่างไม่หยุดหย่อน เธอทำหน้าที่ทดแทนแมนเดลา เป็นปากเสียงแทนเขา ให้คำมั่นกับสาธารณะและเพื่อนร่วมแนวทางการต่อสู้แทนแมนเดลา ภาพประวัติศาสตร์ในวันที่แมนเดลาได้อิสรภาพ ก็คือภาพที่เขาเดินอยู่ท่ามกลางฝูงชน มือหนึ่งชูกำปั้นขึ้นเหนือศรีษะ ขณะที่มืออีกข้างหนึ่งนั้นเกาะกุมมือของวินนี่ไว้แนบแน่น 

ในเวลานั้นโลกของนักเคลื่อนไหวต่างต้อนรับแมนเดลาด้วยความคึกคักและเต็มไปด้วยความคาดหวัง แมนเดลาเองหวนคืนสู่เวทีการต่อสู้อีกครั้งพร้อมกับการเผชิญหน้ากับความท้าทายว่า เขาจะขานรับความคาดหวังได้อย่างไรในขณะที่เกมการต่อสู้ได้เปลี่ยนไปมากแล้วในช่วง 27 ปีที่เขาถูกจองจำ เขาค้นหาแนวทางการเคลื่อนไหวที่ใช้การเมืองเป็นตัวนำ แต่ในขณะที่เส้นทางของแมนเดลาก้าวเข้าสู่จุดหักเหอีกครั้งหนึ่งนั้น อีกไม่นานต่อมา เขากลับประกาศขอหย่าขาดจากวินนี่ เหตุผลตามที่เขาระบุในบันทึกก็คือ เพราะเธอคบชายอื่น 

ในบันทึกของเขา แมนเดลาระบุว่าความสัมพันธ์ของพวกเขาทั้งสองเปลี่ยนไปจนแทบจะไม่ได้พูดจาสื่อสารกันอีก วินนี่เหยียบย่างเข้าห้องนอนของเขาก็เฉพาะในยามที่เขาหลับแล้วเท่านั้น เขาบอกว่า ในช่วงเวลาหลายเดือนหลังจากที่ออกมาจากเรือนจำ เขากลายเป็นคนที่ “โดดเดี่ยวที่สุดในโลก” ก็ว่าได้ 

Winnie-Mandela2.jpg

(วินนี่ยังคงเคลื่อนไหวทางการเมืองและเคลื่อนไหวในประเด็นทางสังคมจนกระทั่งบั้นปลายชีวิต)

ในท่ามกลางมรสุมชีวิตส่วนตัว แมนเดลาเดินหน้าทำงานการเมืองของเขาต่อไป เขาได้จับมือกับเฟเดริก วิลเลม เดอ เคลิร์ก ประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ในขณะนั้น ให้ยุติการใช้นโยบายเหยียดผิวก่อนจะนำไปสู่การจัดการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2537 ซึ่งกลุ่มเอเอ็นซีที่ต่อมากลายเป็นพรรคเอเอ็นซีได้ชัยชนะ และแมนเดลาได้เป็นประธานาธิบดี และเขาจัดตั้งคณะกรรมการว่าด้วยการปรองดองเพื่อสะสางปัญหาการละเมิดสิทธิที่เกิดขึ้นจากหลายฝ่ายก่อนหน้านั้น แนวทางการเคลื่อนไหวของแมนเดลาในวันที่เขาออกจากคุกจึงแตกต่างจากวันที่เขาเข้าคุกอย่างสิ้นเชิง

แต่แมนเดลาก็ตระหนักถึงคุณค่าของงานที่วินนี่ทำ ในขณะที่ขอหย่า แมนเดลากล่าวถึงเธอว่า วินนี่ต่อสู้อย่างหนักท่ามกลางแรงกดดันจากอำนาจรัฐที่ส่งตรงลงมาที่ตัวเธอโดยที่เธอไม่หวั่นไหว ความแน่วแน่หนักแน่นของเธอทำให้เขาทั้งเคารพ รัก และชื่นชมในตัวเธอ ชีวิตคู่ของวินนี่และแมนเดลาดูจะเป็นชีวิตคู่ที่พิเศษ 

วอชิงตันโพสต์อ้างข้อเขียนของวินนี่ที่ระบุถึงเรื่องนี้ไว้ในบันทึกความทรงจำของเธอว่า “ฉันมีเวลาน้อยมากที่จะได้รักเขา ความรักนั้นมันยืนยาวผ่านกาลเวลาหลายปีที่เราต้องแยกกันอยู่"

"ถ้าฉันได้มีเวลาอยู่กับเขามากกว่านี้ ฉันอาจจะได้เห็นข้อผิดพลาดมากมาย แต่ฉันมีเวลาแค่ได้รักแล้วก็เวลาที่ได้คิดถึงกันเท่านั้น”

น้ำเสียงของวินนี่ที่พูดถึงแมนเดลาในระยะหลังดูจะเปิดเผยถึงความขัดแย้งที่ร้าวลึกในเรื่องแนวทางการต่อสู้ที่ว่า ในขณะที่คณะกรรมการปรองดองของแอฟริกาใต้ระบุไว้ในรายงานว่า วินนี่ต้องเป็นผู้ที่รับผิดชอบกับการที่ทีมฟุตบอลของเธอใช้ความรุนแรงละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างหนัก วินนี่เองแสดงออกในช่วงหลังของชีวิตว่าเธอประเมินผลงานของอดีตสามีอย่างไร เธอบอกว่า วันที่เขาเข้าคุก เขาอยู่ในฐานะนักปฏิวัติหนุ่มที่เปี่ยมพลัง แต่เมื่อออกมาจากคุกนั้น วินนี่ชี้ว่าแมนเดลาทำให้ทุกคนผิดหวัง เพราะเขากลับไปยอมทำข้อตกลงกับรัฐบาลแอฟริกาใต้เป็นข้อตกลงที่ไม่เป็นผลดีกับคนผิวดำ 

ความดุดันในการต่อสู้ของวินนี่ มาดิคิเซลา-แมนเดลา ดูจะคงเส้นคงวาตลอดชีวิตของเธอ

ที่มา: The Guardian/ Washington Post/ The Independent

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: