พรรคเพื่อไทยเรียกประชุมว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. สมาชิกพรรค เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการเลือกตั้ง โดยการประชุมแกนนำพรรคจะได้นัดแนะ ทำความเข้าใจการทำงาน ในภาพรวม การทำงานในระดับพื้นที่ ซึ่งบรรยากาศการประชุมเป็นไปด้วยความคึกคัก อดีต ส.ส. ว่าที่ผู้สมัครและสมาชิกพรรค เดินทางเข้าร่วมการประชุมตั้งแต่ช่วงเช้า
เช่นเดียวกับแกนนำพรรค อาทิ พลตำรวจโทวิโรจน์ เปาอินทร์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย, นายภูมิธรรม เวชชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย, คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย, นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย, นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย, นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย, รวมถึงนายชัยเกษม นิติศิริ และ นายนพดล ปัทมะ เข้าร่วมการประชุมอย่างพร้อมเพรียง
ก่อนการประชุมเพื่อแสดงวิสัยทัศน์ เจ้าหน้าที่พรรคได้เปิดเพลง "พรรคเพื่อไทยหัวใจเพื่อเธอ" ซึ่งจะเป็นเพลงที่ใช้รณรงค์ในการหาเสียงเลือกตั้งปี 2562 และจะใช้เปิดในเวทีปราศรัยหาเสียงทั่วประเทศ ซึ่งเป็นจังหวะที่มีความเร้าใจและสะท้อนบทบาทหน้าที่ของพรรคเพื่อไทยในการทำงานที่ผ่านมาและความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำงานต่อไปในอนาคต
จากนั้นได้เปิดวิดีทัศน์ความยาว 1 นาที 30 วินาที สะท้อนข้อเท็จจริงของประเทศโดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจปากท้องความเหลื่อมล้ำปัญหาสังคมและยาเสพติด ซึ่งเป็นประเด็นที่พรรคเพื่อไทยเตรียมการจะแก้ไขในเรื่องเหล่านี้
โดยคุณหญิงสุดารัตน์ ได้แสดงวิสัยทัศน์ว่า ความจริงที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย ในขณะนี้กันแล้วซึ่งสอดคล้องกับการที่ได้ไปรับสมัครสมาชิกพรรค และได้พบปะประชาชนมาทั่วทุกภาค ต่างร้องเป็นเสียงเดียวกัน ตั้งแต่กลางสีลม ยันขอนแก่น เชียงใหม่ ไปจนถึงภูเก็ต ว่า เศรษฐกิจแย่มาก ค้าขายไม่ได้ มีแต่หนี้สินท่วมหัว จึงเป็นความจริงอันน่าเศร้า ได้สร้างความทุกข์อย่างสาหัสให้กับพี่น้องคนไทยส่วนใหญ่ของประเทศ จากการบริหารจัดการที่ไร้ประสิทธิภาพ
"ดิฉัน ในฐานะคนที่เคยทำงานมากกว่า 26 ปี รู้ว่าปัญหาของประเทศที่รออยู่ข้างหน้า ท้าทายอย่างยิ่ง รู้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้สาหัสแค่ไหน และจะทำให้คนไทยทำมาหากินกันอย่างยากลำบากยิ่งขึ้นอีกแค่ไหน" คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าว
ดังนั้น พรรคเพื่อไทยมั่นใจว่า ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจเหล่านี้ เราจะแก้ไขได้สำเร็จ โดยจะใช้เวลาไม่นาน เพราะเราบริหารจัดการเป็น เรามีแนวคิด มีประสบการณ์ ที่สั่งสมมาตั้งแต่พรรคไทยรักไทย บ่มเพาะจนเป็นปรัชญา และหลักการ การทำงานของพรรคเพื่อไทย เราคิดเป็น ทำเป็น และทำสำเร็จมาแล้ว เราจึงเป็นพรรคการเมือง ที่มีวิธีแก้ไขปัญหาให้กับประเทศเสมอ เป็น “Party with Solutions”
คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่าทุกครั้งที่เราได้มีโอกาสทำงานเป็นผู้บริหารประเทศ เราทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นทุกครั้ง วิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ในยุคต้มยำกุ้ง ที่ค่าเงินบาทตกลงไปถึง 52 เปอร์เซ็นต์ ราคาหุ้นร่วง 59.3 เปอร์เซ็นต์ ธุรกิจเจ๊ง จนยอดหนี้เสียของธนาคารพาณิชย์ พุ่งขึ้นเป็น 2.5 ล้านล้านบาท สถาบันการเงินปิดตัวลง 67 แห่ง คนจนเพิ่มขึ้นจาก 6 ล้านคน เป็น 10 ล้านคน
ในตอนนั้น เราเข้ามาบริหารบ้านเมืองเพียง 2 ปี ด้วยการบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพ เราสามารถใช้หนี้ IMF ได้ก่อนกำหนด เราใช้เวลาเพียง 6 เดือน เราสามารถตั้ง “กองทุนหมู่บ้าน“ เราใช้เวลาเพียง 6 เดือน เราเริ่มต้นโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคได้สำเร็จ ท่ามกลางเสียงสบประมาท
"พวกเรานักบริหารพรรคเพื่อไทย เราเข้าใจปัญหา เข้าใจพลวัตที่เกิดขึ้นในโลกใหม่ เราบริหารจัดการเป็น และเรามีทีมงานนักบริหารมืออาชีพครบทุกด้าน อยู่เบื้องหน้าท่าน ณ ขณะนี้เราจึงขอให้ความมั่นใจว่า เพื่อไทยเรามองเห็นทางออก และมีวิธีบริหารจัดการ เพื่อแก้วิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนี้ แม้ปัญหาจะถูกสะสมจน “ยากที่จะแก้” แต่ “ไม่ใช่เรื่องยาก" สำหรับเราในการแก้ไข" คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าว
ขณะเดียวกัน เราคิดต่างจากสิ่งที่รัฐบาลนี้ทำ ที่ยิ่งทำคนส่วนใหญ่ยิ่งจนลง มีเพียงคน 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่รวยขึ้น จนเกิดภาวะ “รวยกระจุก จนกระจาย” ทำให้ประเทศไทยมีความ “เหลื่อมล้ำ” สูงอย่างมาก เราจะทำการ “Re-Matching Resources” ของประเทศใหม่ โดยการใช้งบประมาณอย่างชาญฉลาด ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน เราจะไม่ใช้งบเยอะ แต่เลอะเทอะ เราจะลงทุน เพื่อให้เกิดรายได้ และทรัพย์สินใหม่
"เราจะแก้หนี้ให้คนไทยด้วยรายได้ ไม่ใช่แก้หนี้ด้วยหนี้อีกต่อไป เราจะบริหารงบประมาณให้มีการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจหลาย ๆ รอบ เพื่อเพิ่มกำลังซื้อของคนไทยทั้งประเทศ ไม่ใช่ให้ไปแล้วไปหยุดอยู่ที่กลุ่มทุนใหญ่เท่านั้น เราจะใช้ความสามารถในเวทีโลก เพื่อผลักดันให้ราคาสินค้าเกษตรสูงขึ้น เหมือนอย่างที่เราเคยทำสำเร็จมาแล้วทั้งยาง และข้าว
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ คณะทำงานด้านเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงความล้มเหลวที่เกิดขึ้นหลังการยึดอำนาจ ได้แก่
1. หนี้คนไทยท่วมหัว: หนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น 1.79 ล้านล้านบาท จากระดับ 10.55 ล้านล้านบาทในปี 2557 สู่ระดับ 12.34 ล้านล้านบาทในปัจจุบัน
2. หนี้ธุรกิจท่วมตัว: หนี้เสีย SMEs เพิ่มสูงขึ้น 9 หมื่น 1 พันล้านบาท จากระดับ 1.38 แสนล้านบาทในปี 2557 สู่ระดับ 2.29 แสนล้านบาทในปัจจุบัน
3. เกษตรกรทุกข์ยาก: หนี้เสียเกษตรกรเพิ่มสูงขึ้น 1.79 หมื่นล้านบาท จากระดับ 4.09 หมื่นล้านบาทในปี 2557 สู่ระดับ 5.88 หมื่นล้านบาทในปัจจุบัน
4. นักท่องเที่ยวหาย รายได้หด: เหตุการณ์เรือล่มที่ภูเก็ตเกิดขึ้นในเดือน ก.ค. ในระยะเวลาเพียงแค่ 3 เดือนให้หลัง (ส.ค.-ต.ค.) จำนวนนักท่องเที่ยวจีนลดลงกว่า 380,000 คน ทำรายได้จากการท่องเที่ยวหายไป 1 หมื่น 5 พันล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
5. เงินทุนไหลออกนอกประเทศไม่หยุด: ปี 2559 ไหลออก 3.65 แสนล้านบาท ปี 2560 ไหลออก 3.95 แสนล้านบาท รวมแค่ 2 ปี เป็นเม็ดเงินสูงถึง 7.6 แสนล้านบาท
6. สู้ประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้: ก่อนการรัฐประหาร (2556) ต่างชาติเลือกลงทุนในไทยเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน มูลค่าการลงทุนสูงถึง 1.59 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ตามหลังแค่สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย แต่หลังรัฐประหาร (2560) ไทยตกไปอยู่อันดับที่ 6 ของอาเซียน มูลค่าการลงทุนหดตัวลงเกือบครึ่ง คิดเป็นเม็ดเงินเพียง 8.04 พันล้านเหรียญสหรัฐ ถูกเวียดนาม ฟิลลิปปินส์ และมาเลเซียแซงหน้าไปแล้ว
7. ใช้เงินเป็น แต่หาเงินไม่เป็น: ตั้งแต่หลังรัฐประหาร ภาครัฐมีรายจ่ายเพิ่มสูงขึ้นราว 4 แสน 4 หมื่นล้านบาท แต่กลับล้มเหลวในการกระตุ้นเศรษฐกิจ หนักไปกว่านั้น หนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรงกลับเพิ่มสูงขึ้น 1.7 ล้านล้านบาท จากระดับ 2.89 ล้านล้านบาทในปี 2557 สู่ระดับ 4.6 ล้านล้านบาทในปัจจุบัน
8. ปัญหายาเสพติดหนักหน่วงรุนแรง: ยาเสพติดแพร่ระบาดในหมู่บ้านและชุมชน 24,282 แห่ง คิดเป็น 30 เปอร์เซ็นต์ ของหมู่บ้านทั้งประเทศ 40 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ติดยาเสพติดเป็นเยาวชนอายุไม่เกิน 24 ปี เกือบ 75 เปอร์เซ็นต์ เป็นผู้มีอาชีพรับจ้าง แรงงาน และเกษตรกร
ซึ่งนายชัชชาติ ระบุว่า จุดอ่อนที่เกิดขึ้น เกิดจากเศรษฐกิจที่แข็งบนอ่อนล่าง หมายถึงมีความเหลื่อมล้ำสูงคนรวยรวยขึ้น แต่คนจนจนลง, แข็งนอกอ่อนใน คือ เศรษฐกิจพึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกเสียเป็นส่วนใหญ่
ขณะที่รัฐบาลไม่เข้าใจภาพรวมของการบริหารประเทศ เช่น โครงการรถไฟฟ้าความเร็วที่สร้างเพื่อมุ่งไปสู่สนามบินอู่ตะเภา แทนที่จะเชื่อมภาคตะวันออกกับกัมพูชาและเวียดนาม, และการบริหารงานไม่มีประสิทธิภาพ เช่น บัตรคนจน ซึ่งเป็นการแจกเงินที่ส่งผลระยะสั้น ไม่ได้กระตุ้นเศรษฐกิจระยะยาว, หรืออย่างยุทธศาสตร์าติ 20 ปีที่จะเริ่มล้าหลังไปเรื่อยๆ
"ยุคนี้คือ ยุค Deglobalization ยุคตัวใครตัวมัน ดังนั้นเราจะต้องพึ่งพาตัวเองให้ได้ และยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยมีทีมงานที่เข้าใจปัญหาและทำเป็น" ชัชชาติ กล่าว