วันที่ 21 ก.ค. 2565 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล โดย พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในเรื่องของการประกาศสงครามไซเบอร์กับประชาชนว่า เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่แล้ว ในการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 วาระที่ 1 การจัดงบเหมือนสมุหกลาโหมสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น เพราะมีการจัดสรรงบของกองทัพบก สูงถึง 70%
พิจารณ์ กล่าวอีกว่า ในทางกลับกัน กับพี่น้องประชาชนคนในชาติที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลที่วิพากษ์วิจารณ์ พล.อ.ประยุทธ์ กลับเล่นงานพวกเขา ด้วยอาวุธไซเบอร์ เทคโนโลยีขั้นสูง กลับทุ่มงบประมาณ ทั้งคน และเวลาในการลงทุนจัดหาไซเบอร์ ระดับโลก ไม่ต่างอะไรกับ 'อาชญากรไซเบอร์'
คนเหล่านี้เป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ หรือภัยต่อความมั่นคงของประยุทธ์ นอกจากนั้นยังมีการติดตามถึงตัวด้วยการติด GPS ที่รถส่วนตัว และยังมีหนังสือที่ลงนามโดย พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2563 ใช้สันติบาลติดตามหน่วยข่าวติดตามการเคลื่อนไหว การจัดการชุมนุมใหญ่ และสืบสวนประวัตินักการทูตที่เกษียณอายุราชการ และแสวงหาประโยชร์จากการรับราชการในการเผยแพร่ข้อมูลเชิงลบ โจมตีรัฐบาล
พิจารณ์ กล่าวว่า แม้หลักฐานขนาดนี้ แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่เคยรับ ไม่ใช่แค่ไอโอ และการติด GPS หรือให้เจ้าหน้าที่ไปติตดามตัว แต่ยังทุ่มทุนถึงการตามเข้าไปอยู่ถึงในบ้าน ติดตาม 24 ชม. โดยใช้เทคโนโลยีสปายแวร์ 'เพกาซัส' เป็นอาวุธสงครามทางไซเบอร์ ที่ทรงอานุภาพ และร้ายกาจที่สุด ซึ่งทั้งหมดเป็นเงินภาษีของประชาชน
จากรายงาน ‘ปรสิตติดโทรศัพท์’ โดยไอลอว์ นั้นพบว่า มีการเปิดเผยหลักฐานใช้เพกาซัสของรัฐบาลไทยโจมตีสอดแนมอย่างน้อย 30 คน คือ นักวิชาการ นักกิจกรรมทางการเมือง เจ้าหน้าที่ NGO
พิจารณ์ กล่าวว่า ซึ่งเพกาซัสนั้นเป็นสปายแวร์ที่ผลิตโดยบริษัท เอกชน NHO ในประเทศอิสราเอล เป็นอาวุธสงครามที่ขายให้หน่วยงานรัฐบาลเท่านั้น เพราะการจะขายได้ต้องได้รับการอนุมัติจากกระทรวงกลาโหมอิสราเอล และผู้ผลิตอ้างว่า มีวัตถุประสง์เพื่อให้ใช้เฝ้าติดตาม การก่อการร้าย เพื่อทลายเครือข่ายที่เป็นภัยต่อรัฐ การทำงานของมันคือ เมื่อเพกาซัสฝังตัวแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ สามารถดูได้ทุกยอ่าง โดยที่มือถือยังอยู่กับเรา แล้วเราไม่รู้ตัว และสามารถดักฟังโทรศัพท์มือถือแบบเรียลไทม์ รวมถึงการส่งข้อความ การโทรด้วยไลน์ สามารถสอดแนมผ่านผู้ช่วย ผ่านผู้ร่วมประชุม และสอดแรมก่อนเริ่มประชุม หากเข้าโหมดตัดสัญญาณมือถือ หรือ Airplane Mode ก็ไม่รอด
จากการรายงานข่าวเมื่อปี 2564 มีการปล่อยเอกสารหลุดของเบอร์มือถือ 50,000 เบอร์ที่เชื่อว่าถูกโจมตีโดยเพกาซัส ทำให้สื่อมวลชนทั้ง 16 ประเทศ ร่วมกันขุดคุ้ยภายใต้ 'Pegasus Project' นำไปสุ่การเปิดโปงรัฐบาลหลายๆ ประเทศทั้งที่เป็นนักการเมือง นักกิจกรรม ผู้เห็นต่างกับรัฐบาล จนสื่อขนานนามว่า ‘ภัยอันตรายต่อประชาธิปไตยทั่วโลก’
แม้ว่า รัฐบาลอิสราเอลรู้สึกถูกกดดัน และลดการส่งออกสปายแวร์ทั้งหมด จากมีอยู่ 102 ประเทศเป็น 37 ประเทศ แค่สำหรับประเทศไทย ที่มีผู้นำประเทศมาจากการรัฐประหาร มีประวัติละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้น แต่พล.อ.ประยุทธ์ก็ไม่หยุดใช้ ตามข้อมูลจาก Citizen Lab ออกรายงานเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (18 ก.ค.) พบว่า พบเพกาซัสตั้งแต่ ช่วงเดือน พ.ค. ปี 2557 ใกล้เคียงกับช่วงรัฐประหาร
พิจารณ์ กล่าวอีกว่า ไม่ใช่แค่เพกาซัส แต่ยังมี RCS (Remote control system) ที่ซื้อจากประเทศอิตาลี โดยซื้อตั้งแต่ปลายปี 2556 สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และต่อมาจนถึงปี 2557 และมีรายงานจากข่าวเมื่อปี 2558 พบว่า อย่างน้อยสองหน่วยงาน ที่ซื้อ RCS คือกรมราชทัณฑ์ ใช้งบฯ ไป 13.5 ล้านบาท และกองทัพบก ใช้งบฯ 14.4 ล้านบาท และหน่วยงานอื่นๆ ที่กำกับ รวมแล้ว 700 ล้านบาท
"เชื่อว่า ช่วงปี 2556 ความพยามหาสปายแวร์เป็ยไปเพื่อความมั่นคงประเทศจริงๆ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งคงไม่ใช้อาวุธสอดแนมโจมตีประชาชน แต่หลังจากการยึดอำนาจ ทิศทางการใช้สปายแวร์ เปลี่ยนไป และพุ่งไปที่ประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร" พิจารณ์ กล่าว
นอกจากนี้ ยังมีสปายแวร์ Circles ใช้อยู่ใน 25 ประเทศ และประเทศไทยเป็นหนึ่งในนั้น ซึ่งมาจากบริษัทเดียวกันกับเพกาซัส แต่ไม่ได้โจมตีโดยตรงที่เบอร์มือถือ แต่โจมตีที่เครือข่ายของโทรศัพท์ เพื่อเข้าไปดักจับข้อมูลทาง sms และค้นหาตำแหน่งมือถือ ซึ่งพบว่า มีการใช้ 3 หน่วยงาน คือ หน่วยข่าวกรอง กองทัพบก และกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด
โดย พิจารณ์ ยังได้อ้างถึง ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่ออกมายอมรับว่า สปายแวร์ดังกล่าวมีอยู่จริง แต่ไม่ได้มาจากกระทรวงดีอีเอส แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จะไม่ยอมรับและอ้างไปที่หน่วยงานราชการ แก้ตัวว่าไม่มีส่วนรู้เห็น ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบถาม ตั้งแล้วทิ้ง และจะลุกขึ้นมาบอกว่า คนที่ถูกโจมตี เป็นภัยต่อความมั่นคง สมควรโดนอยู่แล้ว และพูดเหมือนเมื่อเช้าที่อ้างว่าก้าวล่วงสถาบันฯ
"นี่คือผลงานตลอด 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ไม่เคยหยุดเอาสถาบันฯ มาเป็นเกราะป้องกัน จำนนด้วยหลักฐานเมื่อไหร่ ดึงฟ้าต่ำทุกที" พิจารณ์ กล่าว
พิจารณ์ กล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 32 บัญญัติว่า บุคคลย่อมมีสิทธิการเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศชื่อเสียง และครอบครัว การกระทำ ละเมิดสิทธิ หรือการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ประโยชน์ จะกระทำได้โดยอาศัยอำนาจบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อจำเป็นตามประโยชน์สาธารณะเท่านั้น
พิจารณ์ กล่าวต่อไปว่า ถ้าเราคิดดีๆ ผลกระทบเรื่องนี้ ไม่ใช้แค่การพัฒนาประชาธิปไตย แต่รวมไปถึงเศรษฐกิจและสังคม สื่อมวลชนจะตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมาได้อย่างไร ถ้าถูกสอดแนมตลอดเวลา นักวิชาการจะมีเสรีภาพอย่างไรหากต้องหวาดกลัว เช่นเดียวกันนักการเมืองฝ่ายค้านจะทำหน้าที่ตรงไปตรงมาได้อย่างไร หากทุกย่างก้าวยังมีคนคอยดู