ไม่พบผลการค้นหา
ชมรมสื่อมวลชนเพื่อประชาธิปไตย ร้อง กสทช.ตรวจสอบรายการดัง เผยแพร่คลิปเสียงไม่ผ่านการตรวจสอบ ชี้ประเด็นเปิดโอกาสชี้แจงต้องทำไปในคราวเดียวกัน ไม่ใช่ให้ความเสียหายเกิดขึ้นก่อน

นายจุติพงษ์ พุ่มมูล เลขาธิการชมรมสื่อมวลชนเพื่อประชาธิปไตย เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน��� และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เพื่อให้ตรวจสอบรายการดัง ที่มีการเผยแพร่คลิปเสียงการสนทนาการเมืองของ 2 บุคคล มาออกอากาศในรายการ โดยไม่มีการระบุแหล่งที่มา รวมถึงตรวจสอบความถูกต้องตามจรรยาบรรณวิชาชีพ ทำให้สังคมเกิดความเข้าใจผิด และสร้างความเสียหายกับสื่อ รวมถึงผู้ถูกกล่าวหา จึงเรียกร้องให้ กสทช.ตรวจสอบประเด็นนี้อย่างเร่งด่วน โดยให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบและดำเนินการกับกรณีดังกล่าวเพื่อไม่ให้เกิดความเสื่อมเสียต่อความเป็นกลางและจรรยาบรรณสื่อ ส่วนกสทช.จะมีมาตรการอย่างไรนั้นเป็นเรื่องที่ กสทช.ต้องพิจารณา

เลขาธิการชมรมสื่อมวลชนเพื่อประชาธิปไตย ระบุด้วยว่า แม้ช่องจะมีการเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจง แต่ก็กระทำการย้อนหลัง โดยความเป็นธรรมของสื่อต้องเปิดโอกาสให้ผู้เป็นข่าวได้ชี้แจงไปพร้อมๆ กัน หรือให้ผู้ถูกกล่าวดูคลิปสนทนาก่อนนำมาเผยแพร่ แต่การเปิดอีกวัน ชี้แจงอีกวันประเด็นได้ส่งผลเสียเกิดขึ้นแล้ว ดังนั้นสื่อต้องตระหนักดีว่าข้อมูลที่ได้มาเป็นจริงหรือเป็นเท็จอย่างไร เพราะไม่อยากให้สื่อเป็นเครื่องมือทางการเมือง

ขณะเดียวกัน 4 องค์กรวิชาชีพสื่อของไทย ได้แก่ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย, สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ, สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ร่วมกัน เพื่อขอให้สื่อมวลชนใช้ “เสรีภาพบนความรับผิดชอบ” และร่วมกันสกัดกั้นข่าวปลอม โดยอ้างถึงกรณีรายการ 'ข่าวข้นคนเนชั่น' ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์เนชั่นทีวี เมื่อคืนวันอังคารที่ 19 มี.ค. นำเสนอคลิปเสียงสนทนาของคนสองคนเกี่ยวกับการต่อรองตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งไม่มีที่มาแน่ชัด จนถูกตั้งคำถามว่าเป็นคลิปเสียงปลอมที่มีการตัดต่อมาหรือไม่

ต่อมามีการนำประเด็นจากคลิปเสียงดังกล่าวไปสัมภาษณ์นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งบทสัมภาษณ์เป็นไปในทำนองตำหนิการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน จากนั้นผู้บริหารเนชั่นได้ออกแถลงการณ์ยืนยันในหลักการและมาตรฐานวิชาชีพข่าว และต่อมาผู้ประกาศข่าวที่นำคลิปเสียงมานำเสนอได้ยอมรับในรายการเดิมเมื่อคืนวันที่ 20 มีนาคม พร้อมทั้งขอโทษเพราะไม่ทราบว่าคือคลิปเสียงปลอม

สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติในฐานะองค์กรวิชาชีพสื่อ เฝ้าติดตามและรับทราบถึงเสียงสะท้อนที่เต็มไปด้วยความห่วงใยจากเพื่อนร่วมวิชาชีพ เห็นว่า สังคมในปัจจุบันที่เป็นโลกแห่งข้อมูลข่าวสารออนไลน์และโซเชียลมีเดีย ดังนั้นสื่อมวลชนต้องใช้เสรีภาพบนความรับผิดชอบมากขึ้น ต้องพร้อมให้ความเป็นธรรมกับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการนำเสนอข่าวตามหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพ และพร้อมน้อมรับคำแนะนำ การวิพากษ์วิจารณ์ และการถูกตรวจสอบจากสังคมที่มีความเข้มข้นมากขึ้น

นอกจากนี้ สื่อมวลชนยังต้องคำนึงถึงมาตรฐานวิชาชีพที่บัญญัติไว้ในข้อบังคับจริยธรรมของสภาวิชาชีพต่างๆ ทั้งที่มีอยู่เดิม และที่เพิ่มเติมตามสถานการณ์ปัจจุบันโดยสื่อมวลชนไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ หรือสื่อออนไลน์ ต้องทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบ กลั่นกรองข้อมูล ข่าวลือ ข่าวลวง ข่าวปลอม (Fake news หรือ Disinformation) ก่อนการนำเสนอ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ในระดับสากล จนกลายเป็นอีกภารกิจหลักขององค์กรสื่อและสื่อมวลชนทุกแขนงในการสกัดกั้นข่าวลือ ข่าวลวง ไม่ให้แพร่กระจายออกไปในวงกว้าง โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง เพื่อไม่ตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และนำเสนอข่าวสารอย่างถูกต้องเป็นที่น่าเชื่อถือของสังคมต่อไป

Photo by Siniz Kim on Unsplash